เที่ยวเชียงใหม่

 เขตตัวเมือง

 วัดสวนดอก ตั้งอยู่ที่ถนนสุเทพ วัดนี้พระเจ้ากือนาทรงสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 1914 (ศักราชนี้ถือตาม หนังสือชินกาลมาลีปกรณ์ ของพระรัตนปัญญาเกตุ) เพื่อให้เป็นที่จำพรรษาของพระมหาเถระสุมน ผู้ประดิษฐานพระพุทธศาสนา ลัทธิลังกาวงศ์ ในแผ่นดินลานนาไทย วัดนี้แต่เดิมเป็นพระราชอุทยานของกษัตริย์ลานนาไทยสมัยแรกเริ่ม มีสถาปัตยกรรมสำคัญ คือ เจดีย์ประธานเป็นเจดีย์ทรงกลม กู่บรรจุอัฐิเจ้าตระกูล ณ เชียงใหม่ และวิหารโถง นอกจากนี้ ยังเป็นที่ประดิษฐานพระเจ้าเก้าตื้อ ซึ่งพญาเมืองแก้วโปรดให้หล่อขึ้น

วัดเชียงมั่น อยู่ถนนราชภาคินัย เป็นวัดที่เก่าแก่ที่สุดภายในตัวเมืองเชียงใหม่เมื่อขุนเม็งรายมหาราชสร้างเมืองเชียงใหม่เมื่อ พ.ศ. 1839 พระองค์ทรงยกพระตำหนักที่ประทับชื่อ ตำหนักเชียงมั่น ถวายเป็นพระอารามให้ชื่อว่า วัดเชียงมั่น วัดนี้เป็นที่ประดิษฐาน ของพระพุทธรูปสำคัญของเชียงใหม่ คือ พระเสตังคมณี หรือพระแก้วขาว ซึ่งเป็นที่เคารพสักการะของประชาชนชาวเชียงใหม่ มีสถาปัตยกรรมสำคัญ ได้แก่ เจดีย์สี่เหลี่ยมผสมทรงกลม ฐานช้างล้อม พระอุโบสถ และหอไตร

 วัดพระสิงห์วรวิหาร อยู่ถนนสามล้าน เป็นวัดสำคัญวัดหนึ่งซึ่งประดิษฐานพระพุทธสิหิงค์ พระพุทธรูปปางมารวิชัย ขัดสมาธิเพชร ประดิษฐานอยู่ในวิหารลายคำ เมื่อถึงเทศกาลสงกรานต์ ชาวเมืองจะอัญเชิญพระพุทธรูปองค์นี้ แห่ไปตามถนนรอบเมือง เพื่อให้ประชาชนสรงน้ำโดยทั่วถึงกัน แต่เดิมที่ดินบริเวณวัดนี้เป็นตลาดเรียกว่า กาดลีเชียง (กาด หมายถึง ตลาด) จนถึงปี พ.ศ. 1888 พระเจ้าผายู กษัตริย์องค์ที่ 7 ในราชวงศ์เม็งรายทรงโปรดฯ ให้สร้างวัดนี้ขึ้น พร้อมทั้งสร้างพระเจดีย์สูง 24 ศอกองค์หนึ่ง เพื่อใช้เป็นที่บรรจุอัฐิ พระราชบิดาของพระองค์ สถาปัตยกรรมสำคัญของวัดนี้ได้แก่ วิหารลายคำที่มีจิตรกรรมฝาผนังงดงาม พระอุโบสถ หอไตรที่มีปูนปั้น รูปเทวดาประดับ และเจดีย์ทรงกลมแบบล้านนา

 วัดเจดีย์หลวง  วัดที่มีเจดีย์ใหญ่ที่สุดในจังหวัดเชียงใหม่ ก็คือ วัดเจดีย์หลวง ซึ่งตั้งอยู่ในใจกลางเมือง วัดนี้สร้างขึ้น ในรัชกาลของพระเจ้าแสนเมืองมา กษัตริย์องค์ที่ 6 แห่งราชวงศ์เม็งราย พระองค์โปรดฯ ให้ช่างสร้างเป็นเจดีย์องค์ใหญ่ สูงถึง 88 เมตร ฐานกว้างด้านละ 54 เมตร แล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 1954 ต่อมาในสมัยพระนางจิระประภาครองเมืองเชียงใหม่ ได้เกิดแผ่นดินไหว ทำให้ยอดเจดีย์หักโค่นลงเมื่อปี พ.ศ. 2008 วิหารด้านหน้าของวัดนี้เจ้าคุณอุบาลีคุณปรมาจารย์ (สิริจันทะเถระ) และเจ้าแก้วนวรัฐ เป็นผู้สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2471 หน้าประตูทางเข้าวิหาร มีบันไดนาคเลื้อยลงมางดงามยิ่ง ใช้หางเกี่ยวกระหวัดขึ้นไปเป็นซุ้มประตูวิหาร นาคคู่นี้เป็นฝีมือเก่าแก่ที่มีมาตั้งแต่เดิมได้ชื่อว่าเป็นนาคที่สวยที่สุดของภาคเหนือ

 เสาอินทขิลหรือเสาหลักเมือง เป็นหลักเมืองเมื่อครั้งพ่อขุนเม็งรายมหาราชสร้างเมืองเชียงใหม่ เมื่อปี พ.ศ. 1839 ปัจจุบันนี้อยู่ตรงหน้าวัดเจดีย์หลวง เสาอินทขิลนี้ประดิษฐานอยู่ในวิหารจตุรมุขทรงไทยหลังเล็กๆ หลักอินทขิลนี้สร้างด้วยไม้ซุงต้นใหญ่ ฝังอยู่ใต้ดิน ทุกปีในเดือนพฤษภาคมจะมีงานเรียกว่า งานอินทขิล เป็นการฉลองหลักเมืองเป็นประจำ

 วัดตำหนัก (วัดศิริมังคลาจารย์หรือวัดสวนขวัญ) สร้างขึ้นเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2050 ในสมัย พระเจ้าศิริธรรมจักรพรรดิราช (พระเมืองแก้ว) กษัตริย์องค์ที่ 13 แห่งราชวงศ์เม็งราย อาศรมแห่งนี้ เป็นที่จำพรรษา ของพระศิริมังคลาจารย์ ผู้นิพนธ์พระคัมภีร์ "มังคลัตถทีปนี" ปัจจุบันนี้ชำรุดทรุดโทรมปรักหักพังลงแล้ว

 วัดกู่เต้า เดิมชื่อ วัดเวฬุวนาราม ตั้งอยู่ในตำบลศรีภูมิ ติดกับสนามกีฬาเทศบาลนครเชียงใหม่ มีเจดีย์ที่มีลักษณะ แปลกไปกว่าเจดีย์อื่นๆ ในเมืองไทย วัดนี้ไม่มีประวัติแจ้งไว้แน่ชัดว่าสร้างขึ้นในสมัยใด แต่มีตำนานเล่าว่า เจดีย์กู่เต้านี้ เป็นที่บรรจุอัฐิของเจ้าฟ้าสารวดี ซึ่งเป็นราชโอรสของพระเจ้าบุเรงนอง ซึ่งมาครองเมืองเชียงใหม่ในระหว่างปี พ.ศ. 2122-2150 ลักษณะของเจดีย์องค์นี้คล้ายกับนำผลแตงโมมาวางซ้อนกันไว้หลายๆ ลูก ชาวบ้านจึงเรียกว่า เจดีย์กู่เต้า ดังกล่าว

 วัดเจดีย์เหลี่ยมหรือเจดีย์กู่คำ อยู่ถนนสายเกาะกลาง สร้างขึ้นในรัชสมัยของพระเจ้าเม็งราย เมื่อปี พ.ศ. 1831 กล่าวคือ หลังจากที่พระองค์ได้ยกทัพมาตีเมืองลำพูนแล้ว พระองค์ทรงมอบเมืองลำพูนให้อำมาตย์คนสนิทชื่อ อ้ายฟ้า ครองเมืองแทน ส่วนพระองค์ก็ยกทัพไปสร้างเมืองใหม่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ อยู่ได้ 5 ปี พระองค์ก็ยกทัพไปสร้างเมืองใหม่อยู่ใกล้ฝั่งแม่น้ำปิง เมื่อปี พ.ศ. 1820 ให้ชื่อเมืองนี้ว่า เวียงกุมกาม จนถึงปี พ.ศ. 1830 พระองค์ทรงโปรดฯ ให้ช่างไปถ่ายแบบพระเจดีย์ มาจากวัดจามเทวีลำพูน เพื่อนำมาสร้างให้เป็นที่สักการะแก่คนทั้งหลาย โดยสร้างเจดีย์องค์นี้ มีฐานกว้าง 8 วา 1 ศอก สูง 22 วา มีพระพุทธรูปบรรจุอยู่ในซุ้มทั้ง 4 ด้าน ๆ ละ 15 องค์ รวม 60 องค์
หลังจากนั้นมาเป็นเวลาหลายร้อยปี วัดนี้ได้ถูกทอดทิ้งให้รกร้าง จนถึงปี พ.ศ. 2451 มีคหบดีชาวพม่าคนหนึ่งได้มาเห็นเข้า เกิดความเลื่อมใส ได้บูรณะขึ้นใหม่ โดยให้ช่างชาวพม่าเป็นผู้ดำเนินการ จึงมีศิลปะแบบพม่าเข้ามาแทนที่ศิลปะแบบขอม ซึ่งเป็นแบบดั้งเดิม คงมีแต่โครงสร้างที่ยังเป็นรูปเดิมอยู่เท่านั้น

 วัดแสนฝาง  ตั้งอยู่ที่ถนนท่าแพ ไม่ปรากฏหลักฐานว่าสร้างในสมัยใด ทราบแต่ว่าเป็นวัดเก่าแก่วัดหนึ่ง วัดนี้เป็นวัดพม่า จึงมีศิลปะการก่อสร้างแบบพม่า พระเจ้าอินทวิชยานนท์ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ องค์ที่ 7 โปรดฯ ให้รื้อที่ประทับ ของพระเจ้ากาวิโรรสสุริวงศ์ (เจ้าชีวิตอ้าว) เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ องค์ที่ 6 มาสร้างเมื่อปี พ.ศ. 2420 ครั้นสร้างเสร็จแล้วจึงโปรดฯ ให้มีการฉลองในปี พ.ศ. 2421

เวียงกุมกาม  เป็นเมืองโบราณที่พญามังราย (พ่อขุนมังราย) ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 1829 โดยโปรดฯ ให้ขุดคูเวียงทั้ง 4 ด้าน ไขน้ำแม่ปิงให้ขังไว้ในคูเวียง โบราณสถานที่ปรากฏอยู่ในเวียงกุมกาม และใกล้เคียง จากการสำรวจพบว่ามีอยู่ 20 แห่ง ทั้งที่เป็นซากโบราณสถาน และเป็นวัดที่มีพระสงฆ์อยู่ โบราณสถานที่สำคัญ ได้แก่ วัดเจดีย์เหลี่ยม วัดช้างและซากเจดีย์ วัดกุมกาม วัดน้อย วัดปู่เตี้ย วัดกู่ขาว วัดอีก้าง ซึ่งรูปแบบทางศิลปกรรม และสถาปัตยกรรมนั้นมีทั้งแบบรุ่นเก่า และสมัยเชียงใหม่รุ่งเรืองปะปนกันไป
ปัจจุบันเวียงกุมกาม อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของเมืองเชียงใหม่ ประมาณกิโลเมตร 3-4 ถนนเชียงใหม่-ลำพูน ด้านขวามือในเขตตำบลท่าวังตาล อำเภอสารภีและอยู่ใกล้ฝั่งด้านทิศตะวันออกของแม่น้ำปิง

 วัดเจ็ดยอด หรือวัดโพธารามวิหาร ตั้งอยู่บนถนนซุปเปอร์ไฮเวย์สายเชียงใหม่-ลำปาง ห่างจากตัวเมือง 4 กิโลเมตร เป็นวัดเก่าแก่วัดหนึ่ง ของจังหวัดเชียงใหม่ วัดนี้ชำรุดทรุดโทรมเป็นอย่างมาก และเพิ่งได้รับการบูรณะและปฏิสังขรณ์ใหม่ เมื่อไม่นานมานี้ สถาปัตยกรรมสำคัญของวัดนี้ ได้แก่ เจดีย์เจ็ดยอด ซึ่งได้รับอิทธิพลจากเจดีย์พุทธคยาในประเทศอินเดีย ที่ฐานเจดีย์ประดับรูปเทวดาปูนปั้น นอกจากนี้ยังมีเจดีย์ทรงปราสาท บรรจุอัฐิพระเจ้าติโลกราช กษัตริย์แห่งราชวงศ์เม็งราย ผู้สร้างวัดนี้

 วัดอุโมงค์  ตั้งอยู่ที่ถนนสุเทพ สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้ามังรายเมื่อราวปี พ.ศ. 1839 และได้บูรณะเพิ่มเติม ในสมัยพระเจ้ากือนา เป็นวัดที่มีอาณาเขตกว้างขวาง มีโบราณสถานที่สำคัญ คือ สิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่เป็นแนวยาวคล้ายกำแพง ภายในเป็นอุโมงค์ทางเดินหลายช่อง เดินทะลุกันได้ ด้านบนกำแพงมีเจดีย์ก่ออิฐถือปูนขนาดใหญ่ ปัจจุบันปรับปรุงบริเวณ เป็นสวนพุทธธรรม ร่มรื่นด้วยแมกไม้นานาพันธุ์

 พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเชียงใหม่  ตั้งอยู่บนถนนซุปเปอร์ไฮเวย์ (เชียงใหม่-ลำปาง) ใกล้ๆ กับวัดเจ็ดยอด จะเห็นตึก รูปทรงแบบลานนาไทยประยุกต์ตั้งเด่นอยู่ริมถนน ภายในเป็นบริเวณกว้างขวางและร่มรื่น ภายในพิพิธภัณฑ์มีสิ่งที่น่าสนใจ และศึกษามากมาย รวบรวมไว้ซึ่งศิลปะวัฒนธรรมของภาคเหนือไว้ด้วย
พิพิธภัณฑ์จะเปิดให้ประชาชนเข้าชมในวันพุธถึงวันอาทิตย์ ตั้งแต่เวลา 09.00-16.00 น. ปิดวันจันทร์ วันอังคาร และวันหยุดนักขัตฤกษ์

 ศูนย์ศิลปะการแสดงกาดสวนแก้ว ตั้งอยู่ในอุทยานการค้ากาดสวนแก้ว สร้างขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เป็นศูนย์กลาง ในการนำเสนอกิจกรรมทางศิลปะและวัฒนธรรม และเผยแพร่ความรู้ทางศิลปะการแสดง ประกอบด้วยสถาบันศิลปะการแสดง ห้องสมุด หอศิลป์ วงดนตรี คณะละคร รวมทั้งโรงละครกาดสวนแก้ว ซึ่งเป็นโรงละครที่มีการออกแบบและใช้อุปกรณ์ทางเทคนิคที่ทันสมัย เปิดแสดงละครทั้งของไทยและต่างประเทศ สอบถามรายละเอียดและจองบัตรได้ที่ โทร.(053) 894696-8 กรุงเทพฯ โทร. 243-5178-85, 243-0095-7

 พิพิธภัณฑชาวเขา  ตั้งอยู่ในบริเวณสวนหลวงล้านนา ร.9 ใกล้สนามกีฬา 700 ปี ต.ช้างเผือก อ.เมือง เป็นที่รวบรวมเรื่องราวต่างๆ เกี่ยวกับชาวเขาที่อยู่ในประเทศไทย โดยทำการวิจัยศึกษาเกี่ยวกับด้านมนุษยวิทยา และความเป็นอยู่ของชาวเขา เพื่อหาทางขจัดปัญหาการทำลายป่า โดยแนะแนวอาชีพใหม่ให้แก่ชาวเขาได้ทำมาหากินเป็นหลักแหล่ง ไม่ทำไร่เลื่อนลอยเหมือนแต่ก่อน เปิดให้เข้าชมทุกวันจันทน์-วันศุกร์ เวลา 09.00-16.00 น. ปิดวันเสาร์ อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ โทร. (053) 210872, 221933

 วัดพระบาทสี่รอย จากตัวเมืองใช้เส้นทางสายเชียงใหม่-แม่ริม ระหว่างกิโลเมตรที่ 20-21 จะมีป้ายบอกทางไปวัดอีก 31 กิโลเมตร


 เส้นทางสายตะวันตก (ทางหลวงหมายเลข 1004)

 สวนรุกขชาติห้วยแก้ว อยู่ข้างมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นที่รวบรวมพันธุ์ไม้นานาชนิดไว้ศึกษา เป็นสถานที่ร่มรื่น เหมาะสำหรับเป็นที่พักผ่อนและยังมีสวนสุขภาพสำหรับออกกำลังกาย

 สวนสัตว์เชียงใหม่ อยู่ใกล้กับสวนรุกขชาติ เป็นสวนสัตว์ขนาดใหญ่ได้รับการจัดสภาพอย่างดี บริเวณกว้างขวาง มีบรรยากาศร่มรื่น และมีสัตว์อยู่มากมายหลายชนิด ทั้งที่มีอยู่ในเมืองไทยและนำมาจากต่างประเทศกว่า 2,000 ชนิด เปิดให้เข้าชมทุกวันตั้งแต่เวลา 08.00-19.00 น. ค่าเข้าชมผู้ใหญ่ 20 บาท เด็ก 5 บาท และยังมีร้านอาหาร เต็นท์แคมปิ้ง ไว้บริการนักท่องเที่ยว สามารถติดต่อจองล่วงหน้าได้ที่ โทร. (053) 221179, 222283

 อุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย มีพื้นที่ครอบคลุมอยู่ในท้องที่อำเภอแม่ริม อำเภอหางดง และอำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ประกอบด้วยป่าที่อุดมสมบูรณ์ ภูเขที่สูงสลับซับซ้อน ที่สำคัญได้แก่ ดอยสุเทพ ดอยบวกห้า และดอยปุย เป็นแหล่งกำเนิดของต้นน้ำลำธาร มีเอกลักษณ์ทางธรรมชาติที่สวยงาม ทั้งมีสถานที่ศักดิ์สิทธิ์และสำคัญ ทางศาสนา และทางประวัติศาสตร์ มีเนื้อที่ประมาณ 262.50 ตารางกิโลเมตร หรือ 163,162.50 ไร่
การเดินทางไปยังที่ทำการอุทยานฯ จากตัวเมืองเชียงใหม่ประมาณ 5 กิโลเมตร ตามถนนห้วยแก้ว - มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ - สวนสัตว์เชียงใหม่ ถึงวัดพระธาตุดอยสุเทพวรวิหาร จากนั้น เดินทางต่อไปอีกเล็กน้อย ถึงทางแยกขวามือ มีป้ายบอกทาง เข้าที่ทำการอุทยานแห่งชาติ ดอยสุเทพ-ปุย ในเขตพื้นที่อุทยานฯ มีแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจคือ
น้ำตกห้วยแก้ว  เป็นน้ำตกเล็กๆ สูงประมาณ 10 เมตร อยู่ห่างจากตัวเมืองเชียงใหม่ประมาณ 6 กิโลเมตร น้ำตกห้วยแก้วมีน้ำไหลตลอดปี รอบๆ บริเวณก็สวยงามด้วยทิวทัศน์และร่มรื่นด้วยพันธุ์ไม้ นอกจากนั้น ยังมีที่พักผ่อนนำอาหารไปนั่งรับประทานอาหารกันที่ผาเงิบและวังบัวบาน อันเป็นสุสานแห่งความรักของสาวบัวบาน ผู้ถือรักเป็นสรณะ
 อนุสาวรีย์ครูบาศรีวิชัย  นักบุญแห่งลานนาไทย ซึ่งเป็นบุคคลแรกที่บุกเบิกสร้างถนนขึ้นไปถึงดอยสุเทพ อนุสาวรีย์ครูบาศรีวิชัย ตั้งอยู่บนทางขึ้นดอยสุเทพ ก่อนถึงน้ำตกห้วยแก้ว ฉะนั้น ผู้ที่จะขึ้นไปนมัสการดอยสุเทพ มักจะลงนมัสการอนุสาวรีย์ครูบาศรีวิชัย เพื่อความเป็นสิริมงคล ครูศรีวิชัยเป็นผู้ริเริ่มชักชวนให้ประชาชนชาวเหนือ ร่วมแรงร่วมใจกัน สร้างถนน จากเชิงดอยขึ้นไปสู่วัดพระบรมธาตุดอยสุเทพ โดยเริ่มลงมือ เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2477 และแล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2478 รวมระยะทางจากเชิงดอยไปถึงวัดพระบรมธาตุดอยสุเทพ 10 กิโลเมตร
วัดพระบรมธาตุดอยสุเทพ เดินทางตามถนนห้วยแก้ว ผ่านอนุสาวรีย์ครูบาศรีวิชัย ไปตามทางคดเคี้ยวขึ้นเขา ระหว่างทางจะมองเห็นตัวเมืองเชียงใหม่อยู่เบื้องล่าง ระยะทางจากเชิงดอยประมาณ 11 กิโลเมตร เมื่อขึ้นมาจะเห็นบันได ทอดยาวขึ้นไปสู่วัด และมีนาค 2 ตัว อยู่สองข้างบันไดซึ่งสูง 300 กว่าขั้น วัดพระบรมธาตุดอยสุเทพนี้ เป็นวัดที่สำคัญแห่งหนึ่ง ของจังหวัดเชียงใหม่ นักท่องเที่ยวซึ่งเดินทางไปเชียงใหม่ จะต้องขึ้นไปนมัสการพระบรมธาตุกันทุกคน ถ้าหากใครไม่ได้ขึ้นไปนมัสการแล้ว ถือเสมือนว่ายังมาไม่ถึงเชียงใหม่ วัดพระธาตุดอยสุเทพนี้ประดิษฐานอยู่บนดอยสุเทพ สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 3,051 ฟุต และเป็นปูชนียสถานสำคัญคู่เมืองเชียงใหม่ จะมีงานประเพณีสรงน้ำพระบรมธาตุ ในวันเพ็ญวิสาขบูชาทุกปี
 พระตำหนักภูพิงค์ราชนิเวศน์ จากดอยสุเทพไปยังพระตำหนักภูพิงค์ฯ ระยะทางประมาณ 4 กิโลเมตร เป็นพระตำหนักประทับแปรพระราชฐาน ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ สร้างเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2505 ตั้งอยู่บนดอยบวกห้า โดยปกติแล้วจะเปิดให้ประชาชนเข้าชมเฉพาะวันศุกร์ วันเสาร์ วันอาทิตย์ และวันหยุดราชการ ทั้งนี้จะต้องเป็นช่วงเวลาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ มิได้เสด็จแปรพระราชฐานไปประทับ
 หมู่บ้านชาวเขาเผ่าม้ง (แม้ว) ดอยปุย หมู่บ้านชาวเขาเผ่าม้งนี้ ตั้งอยู่บนดอยปุย ห่างจากพระตำหนักฯ 3 กิโลเมตร เป็นทางราดยางตลอด หมู่บ้านม้งดอยปุยนี้เป็นหมู่บ้านที่น่าสนใจยิ่ง นอกจากเราจะเห็นสภาพความเป็นอยู่อย่างง่ายๆ แล้ว บริเวณรอบๆ หมู่บ้านยังมีทิวทัศน์ที่สวยงามอย่างยิ่งและยังสามารถมองเห็นดอยอินทนนท์เบื้องหน้าได้อย่างชัดเจนอีกด้วย หมู่บ้านม้งดอยปุย เป็นสถานที่ที่นักท่องเที่ยวสามารถไปเยี่ยมชมได้สะดวก ทั้งนี้เพราะอยู่ใกล้ตัวเมือง โดยใช้เวลาในการเดินทาง จากตัวเมืองประมาณ 1 ชั่วโมงเท่านั้น ฉะนั้น จึงมีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศ นิยมเดินทางไปชมกันเป็นจำนวนมาก อีกทั้งภายในหมู่บ้าน ยังมีร้านขายของที่ระลึกซึ่งผลิตภายในหมู่บ้าน และนำมาจากที่อื่น วางขายให้แก่นักท่องเที่ยวด้วย


 เส้นทางสายตะวันตกเฉียงใต้ (ทางหลวงหมายเลข 108)

หมู่บ้านทำเครื่องเงิน อยู่บริเวณถนนวัวลาย ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่ทำจากเครื่องเงิน เช่น หีบบุหรี่ ช้อนส้อม ถาดผลไม้ เชี่ยนหมาก ฯลฯ ลวดลายประดิษฐ์ประณีตบรรจง นอกจากนี้ ยังมีโรงงานอยู่บริเวณเส้นทางเชียงใหม่-สันกำแพง และถนนช้างคลาน

ศูนย์วัฒนธรรมเชียงใหม่ ตั้งอยู่บนถนนสายเชียงใหม่-หางดง ศูนย์วัฒนธรรมเชียงใหม่ เป็นที่รวมศิลปะ และวัฒนธรรมของลานนาไทย มารวบรวมไว้ เมื่อไปถึงบริเวณจะเห็นบ้านทรงไทยหลายหลัง ซึ่งสร้างด้วยไม้สักทั้งสิ้น อีกทั้งมีไม้แกะสลักที่สวยงามแบบไทย ประดับประดาที่ประตูและหน้าต่าง ภายในบริเวณมีร้านขายของที่ระลึกอยู่หลายร้าน และมีหมู่บ้านชาวเขาให้เที่ยวชม ส่วนในตอนกลางคืนจะมีการรับประทานอาหารเย็นกันตามที่เรียกกันว่า "ขันโตก" โดยจะมีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศ มารับประทานขันโตกเป็นประจำทุกวัน ในขันโตกจะมีอาหารของทางภาคเหนือล้วนๆ เช่น แกงฮังเล น้ำพริกอ่อง แคบหมู ฯลฯ โดยนักท่องเที่ยวจะรับประทานอาหารและชมการแสดงฟ้อนพื้นเมืองไปพร้อมๆ กัน
เมื่อเสร็จสิ้นการแสดงฟ้อนรำพื้นเมืองแล้ว นักท่องเที่ยวยังจะได้ชมการแสดงของชาวเขาเผ่าต่างๆ ซึ่งเป็นชาวเขาจริงๆ และพำนักอยู่ในบริเวณศูนย์วัฒนธรรมเชียงใหม่ การแสดงของชาวเขานี้น่าสนใจมาก เพราะแต่ละเผ่ามีการแสดงที่ไม่เหมือนกัน โดยเฉพาะการแต่งกายและเครื่องประดับที่ทำด้วยเงิน ชาวเขาที่มาแสดงมี 6 เผ่าด้วยกันคือ กะเหรี่ยง ม้ง (แม้ว) อีก้อ มูเซอ เย้า และลีซอ โดยเฉพาะชาวเผ่าอีก้อ ซึ่งจะมีการละเล่นของเผ่าที่สนุกสนาน รวมทั้งการแสดงในลานสาวกอดให้นักท่องเที่ยวชมทุกวัน ตั้งแต่เวลา 19.00-22.00 น. ค่าชมการแสดงพร้อมอาหาร ผู้ใหญ่ 240 บาท เด็ก 120 บาท รายละเอียดเพิ่มเติม โทร. (053) 274540, 275097
นอกจากนี้ นักท่องเที่ยวยังสามารถที่จะไปชมการแสดงดังกล่าวได้ที่ ลานขันโตก โรงแรมเพชรงาม โทร. 272080-5 คุ้มแก้วพาเลซ โทร. 214315 ขันโตกไทรทอง โทร. 331515, 331695 และขันโตกบ้านร้อยจันทร์ โรงแรมปางสวนแก้ว โทร. 224444 ได้อีกด้วย

โรงงานทำเครื่องเคลือบดินเผาสังคโลก อยู่ห่างจากศูนย์วัฒนธรรมเชียงใหม่ ไปตามถนนสายเชียงใหม่-หางดง ประมาณ 1 กิโลเมตร จะเห็นป้ายขนาดใหญ่ทางด้ายซ้ายมือ แสดงให้เห็นที่ตั้งของโรงงานทำเครื่องเคลือบดินเผาสังคโลก เครื่องสังคโลกเป็นเครื่องปั้นดินเผาชนิดพิเศษและมีชื่อเสียงมาก มีลักษณะเป็นสีเขียว เวลาทำใช้ปั้นด้วยมือและเคลือบน้ำยาแล้วเข้าเตาเผา เป็นวิธีเดียวกันกับที่ทำมาแล้วหลายชั่วศตวรรษ สินค้าสำเร็จรูปที่เป็นสังคโลกนี้นิยมกันแพร่หลายทั่วประเทศและทั่วโลก จะมีตั้งแต่ของใช้จนกระทั่งถึงโป๊ะตะเกียง แจกัน จาน ที่เขี่ยบุหรี่ ขันและชุดดินเนอร์อื่นๆ ด้วย สามารถหาชมได้ตามโรงงาน แถวถนนเชียงใหม่-สันกำแพง และถนนโชตนา

โรงงานทำเครื่องเขิน เครื่องเขินเป็นสินค้าพื้นเมืองที่ขึ้นหน้าขึ้นตาอย่างหนึ่งของเชียงใหม่ ที่มีความสวยงาม นักท่องเที่ยวนิยมซื้อไปใช้และประดับบ้านได้สวยงามยิ่ง ประกอบกับลวดลายต่างๆ ที่บนเครื่องเขินก็เป็นแบบไทย ส่วนมากแล้วในบริเวณตอนเหนือของไทย รอบๆ เชียงใหม่นับเป็นศูนย์อุตสาหกรรมเครื่องเขิน และเครื่องเขินของไทยนั้น มีลักษณะเด่นแตกต่างจากเครื่องเขินประเทศอื่นๆ ในภาคพื้นเอเชีย เช่น จีนและญี่ปุ่น โดยมากมักจะทำเป็นรูปภาชนะเบาๆ เช่น ถ้วย ขัน กล่องบุหรี่ ถาด แจกัน เป็นต้น
ในเชียงใหม่มีโรงงานเครื่องเขิน ที่กิโลเมตรที่ 7 สายเชียงใหม่-หางดง อยู่ถัดจากโรงงานสังคโลกไปเล็กน้อย ทางด้านซ้ายมือมีป้ายขนาดใหญ่ ตั้งแสดงไว้ให้เห็นอย่างชัดเจน นอกจากนี้ ยังมีโรงงานอยู่แถวถนนนันทาราม ถนนเชียงใหม่-สันกำแพง ถนนช้างคลานอีกด้วย

หมู่บ้านเครื่องปั้นดินเผาเหมืองกุง เป็นหมู่บ้านที่ทำเครื่องปั้นดินเผาชนิดต่างๆ เช่น หม้อแกง น้ำต้น (คนโทใส่น้ำ) หม้อน้ำ แจกัน เป็นต้น โดยเฉพาะน้ำต้นนั้นเป็นที่นิยมทั่วไปแก่คนที่พบเห็น เนื่องจากสามารถใส่น้ำดื่มสำหรับคนเดินทางได้เป็นอย่างดี ปัจจุบันได้มีการพัฒนากรรมวิธีในการผลิต และรูปแบบเครื่องปั้นดินเผา เพื่อให้ผลิตภัณฑ์มีสีสันสดขึ้น หมู่บ้านนี้เป็นหนึ่งใน โครงการหมู่บ้านหัตถกรรมของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย

บ้านเหมืองกุง อยู่ห่างจากตัวจังหวัดเชียงใหม่ ไปตามเส้นทางถนนสายเชียงใหม่-ฮอด ประมาณ 10 กิโลเมตร และระยะทางห่างจากถนนสายวงแหวน (เส้นทางหลวงหมายเลข 11-สนามบิน) ประมาณ 6 กิโลเมตรเท่านั้น โดยอยู่ก่อนถึงทางแยกตัดใหม่สายหางดง-สะเมิง เพียงเล็กน้อย นอกจากนี้ยังมีศูนย์แสดงตัวอย่างหัตถกรรม และศูนย์ให้ข่าวสารอยู่ปากทางเข้าหมู่บ้านด้วย

บ้านถวาย อยู่ถัดจากเหมืองกุงไปตามเส้นทางสายเชียงใหม่-ฮอด ประมาณหลักกิโลเมตรที่ 15 ถึงห้องสมุดประชาชนอำเภอหางดง มีทางแยกซ้ายเข้าหมู่บ้าน มีโรงงานผลิตไม้แกะสลักเพื่อจำหน่ายทั้งปลีกและส่ง มีชื่อเสียงในการทำผลิตภัณฑ์เลียนแบบของเก่า ซึ่งนักท่องเที่ยวสามารถชมการผลิตและซื้อเป็นสินค้าที่ระลึกได้

เวียงท่ากาน เป็นเวียงเก่าแก่เวียงหนึ่งในสมัยหริภุญชัย เชื่อว่าเมืองนี้คงจะเริ่มสร้างขึ้นประมาณพุทธศตวรรษที่ 13 สมัยพระเจ้าอาทิตยราชกษัตริย์ผู้ครองแคว้นหริภุญชัยสืบต่อมาจนถึงสมัยพญามังรายช่วงก่อนสร้างเมืองเชียงใหม่ โบราณสถานที่สำคัญอยู่บริเวณกลางเมืองในเขตโรงเรียน และวัดท่ากาน มีพระเจดีย์ และฐานวิหารที่ก่อด้วยอิฐ และศิลาแลง โบราณวัตถุมีพระพุทธรูปหินทราย พระพุทธรูปดินเผา และพระพิมพ์จำนวนมาก นอกจากนั้นยังพบซากวัด สถูปเจดีย์ เศษอิฐ และกระเบื้องดินเผา
ปัจจุบัน เวียงท่ากานอยู่ในเขตท้องที่บ้านท่ากาน ตำบลบ้านกลาง อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ ห่างจากเมืองเชียงใหม่ไปตามเส้นทางหลวงหมายเลข 108 ประมาณ 34 กิโลเมตร ผ่านอำเภอสันป่าตองแล้วเลี้ยวซ้ายที่บ้านทุ่งเสี้ยว เข้าไปอีกประมาณ 2 กิโลเมตร

วัดพระบรมธาตุศรีจอมทองวรวิหาร จากตัวเมืองเชียงใหม่มุ่งหน้าไปตามถนนสายเชียงใหม่-ฮอด ผ่านอำเภอหางดง สันป่าตอง จนถึงอำเภอจอมทอง ระยะทาง 58 กิโลเมตร จะถึงวัดพระบรมธาตุศรีจอมทอง ซึ่งเป็นวัดสำคัญคู่เมืองจอมทอง เป็นที่เคารพสักการะของชาวเหนือโดยทั่วๆ ไป

วัดพระธาตุดอยน้อย ตั้งอยู่ที่ตำบลดอยหล่อ อำเภอจอมทอง ตามทางหลวงหมายเลข 108 ตรงกิโลเมตรที่ 43-44 เป็นวัดโบราณที่เก่าแก่อายุกว่า 1,300 ปี มีประวัติว่าสร้างโดยพระนางจามเทวี เมื่อปี พ.ศ. 1201 มีโบราณสถานและโบราณวัตถุมากมาย ได้แก่ พระบรมธาตุ โข่งพระ (กรุพระ) โบสถ์ วิหาร และพระพุทธรูปหินอ่อนแกะสลัก ทั้งองค์เล็กองค์ใหญ่มากมาย บริเวณวัดตั้งอยู่บนภูเขา ติดลำน้ำปิง มองเห็นทิวทัศน์โดยรอบทุกทิศ

อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ ดอยอินทนนท์มีชื่อว่า เป็นดอยที่สูงที่สุด ในประเทศไทย ตั้งอยู่ในเขตอำเภอจอมทอง สันป่าตองและแม่แจ่ม มีเนื้อที่ทั้งหมด 301,500 ไร่ ประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติเมื่อวันที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2521 ระยะทางจากตัวเมือง ขึ้นไปจนถึงยอดดอยอินทนนท์ประมาณ 106 กิโลเมตร โดยเดินทาง ตามทางหลวงหมายเลข 108 เชียงใหม่-จอมทอง ถึงหลักกิโลเมตรที่ 57 ก่อนถึงอำเภอจอมทอง 1 กิโลเมตร แยกขวาเข้าทางหลวงหมายเลข 1009 สายจอมทอง-อินทนนท์ ระยะทาง 48 กิโลเมตร ถึงยอดดอยอินทนนท์ เป็นถนนราดยางอย่างดี แต่ค่อนข้างสูงชัน ผู้ที่ใช้รถยนต์ส่วนตัว รถจะต้องมีสภาพดี หรือผู้ที่ไม่มีรถยนต์ส่วนตัว สามารถเช่ารถสองแถว ที่น้ำตกแม่กลางได้ ส่วนการนำรถขึ้นไปเองนั้น จะต้องเสียค่าผ่านทาง ตรงด่านตรวจและจำหน่ายบัตรค่าธรรมเนียม บริเวณหลักกิโลเมตรที่ 8
ทางอุทยานฯ มีที่พักไว้บริการนักท่องเที่ยว สนใจติดต่อจองล่วงหน้าที่ กองอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้ โทร. 579-7223, 5795734

ในเขตพื้นที่อุทยานฯ มีแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจคือ

น้ำตกแม่ยะ ตั้งอยู่ในเขตอำเภอจอมทอง ห่างจากตัวอำเภอเมืองเชียงใหม่ 70 กิโลเมตร ตามทางหลวงหมายเลข 108 ไป 58 กิโลเมตร เลี้ยวเข้าทางหลวงหมายเลข 1009 ไปประมาณกิโลเมตรที่ 1 เลี้ยวซ้ายเข้าไปอีก 14 กิโลเมตร

ลักษณะทั่วไป น้ำตกแม่ยะ เป็นน้ำตกใหญ่และสวยงามมากแห่งหนึ่ง เพราะน้ำซึ่งไหลลงมาจากหน้าผาที่สูงชัน 280 เมตร ไหลลงมากระทบโขดหินเป็นชั้นๆ เหมือนม่าน แล้วลงไปรวมกันที่แอ่งน้ำเบื้องล่าง น้ำใสเย็น เหมาะสำหรับเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจ อีกทั้งบริเวณรอบๆ น้ำตกเป็นป่าเขาอันสงบเงียบ และมีศูนย์ประชาสัมพันธ์นักท่องเที่ยวตั้งอยู่ด้วย

น้ำตกแม่กลาง น้ำตกที่มีชื่อเสียงมากที่สุดในเชียงใหม่ ก็คือ น้ำตกแม่กลาง ตั้งอยู่ในเขตอำเภอจอมทอง ห่างจากเชียงใหม่ประมาณ 65 กิโลเมตร ใช้ทางหลวงหมายเลข 108 ถึงกิโลเมตรที่ 57 เลี้ยวขวาเข้าทางหลวง 1009 ไปอีก 8 กิโลเมตร แยกซ้าย 500 เมตร เป็นทางราดยางตลอด น้ำตกแม่กลางเป็นน้ำตกขนาดใหญ่ มีน้ำไหลตลอดปี มีความสวยงามตามธรรมชาติ รอบๆ บริเวณร่มรื่นน่าพักผ่อนเป็นอย่างยิ่ง นอกจากนั้น นักท่องเที่ยวยังสามารถลงเล่นน้ำได้ด้วย

ถ้ำบริจินดา เป็นถ้ำใหญ่อยู่ในเทือกเขาดอยอ่างกาหรือดอยอินทนนท์ ใกล้กับน้ำตกแม่กลาง อำเภอจอมทอง ตั้งอยู่บริเวณกิโลเมตรที่ 8.5 ของทางหลวงหมายเลข 1009 จะเห็นทางแยกขวามือมีป้ายบอกทางไปถ้ำบริจินดา ภายในถ้ำมีความลึกหลายกิโลเมตร เพดานถ้ำมีหินงอกหินย้อย หรือชาวเหนือเรียกว่า "นมผา" สวยงามมาก มีพระพุทธรูปประดิษฐานอยู่ในถ้ำด้วย นอกจากนั้น ยังมีธารหิน เมื่อมีแสงสว่างมากระทบจะเกิดประกายระยิบระยับดังกากเพชรงามยิ่งนัก ลักษณะของถ้ำเป็นถ้ำทะลุสามารถมองเห็นภายในได้ถนัด เพราะมีอุโมงค์ซึ่งแสงสว่างลอดเข้ามา ก่อนจะถึงปากถ้ำจะมีป้ายขนาดใหญ่ตั้งอยู่ อธิบายประวัติการค้นพบถ้ำนี้

ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว ตั้งอยู่บริเวณกิโลเมตรที่ 9 ของเส้นทางหมายเลข 1009 เป็นสถานที่บริการข้อมูลข่าวสารการท่องเที่ยว มีเจ้าหน้าที่คอยให้คำแนะนำ และมีนิทรรศการเกี่ยวกับธรรมชาติ สัตว์ป่าและอื่นๆ

น้ำตกวชิรธาร เป็นน้ำตกใหญ่ เดิมชื่อ "ตาดฆ้องโยง" ตัวน้ำตก อยู่สูงจากระดับน้ำทะเล ประมาณ 750 เมตร และน้ำจะไหลจากหน้าผาข้างบน ตกลงสู่แอ่งน้ำเบื้องล่าง ตรงข้ามมีหน้าผาสูงชัน เรียกว่า "ผาม่อนแก้ว" ภายหลังเรียกให้เพราะขึ้นว่า "ผากรแก้ว" การไปยังน้ำตกวชิรธารนี้ไปได้ง่ายมาก จากเชิงดอยอินทนนท์ขึ้นไปถึงกิโลเมตรที่ 21 จะเห็นป้ายบอกทางแยกขวาเข้าน้ำตก ซึ่งนักท่องเที่ยวจะต้องเดินเท้าไปอีก 351 เมตร

น้ำตกสิริภูมิ เป็นน้ำตกซึ่งไหลมาจากหน้าผาสูงชัน เป็นทางยาวสวยงามมาก แต่เดิมเรียกว่า "เลาลี" ตามชื่อของหมู่บ้านม้ง (แม้ว) เลาลี ซึ่งอยู่ใกล้ๆ น้ำตก น้ำตกสิริภูม ิตั้งอยู่ตรงกิโลเมตรที่ 30 มีทางแยกขวามือ เข้าไปอีกประมาณ 2 กิโลเมตร แต่รถไม่สามารถเข้าไปใกล้ตัวน้ำตกได้ นักท่องเที่ยวต้องเดินเท้าเข้าไป บริเวณด้านล่างของน้ำตก

ที่ทำการอุทยานฯ ตั้งอยู่ตรงหลักกิโลเมตรที่ 31 ด้านขวามือ มีบริการบ้านพัก กางเต็นท์พักแรม และช่วยเหลือผู้ประสบอุบัติเหตุ

โครงการหลวงอินทนนท์
ตั้งอยู่ที่หมู่บ้านขุนกลาง ตำบลห้วยหลวง อำเภอจอมทอง เดินทางตามเส้นทางสู่ดอยอินทนนท์ ถึงบริเวณหลักกิโลเมตรที่ 31 มีทางแยกขวามือ เป็นทางลูกรัง เข้าสู่โครงการฯ อีกประมาณ 1 กิโลเมตร โครงการหลวงอินทนนท์ รับผิดชอบชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยง และเผ่าแม้วในพื้นที่ โดยส่งเสริมอาชีพเกษตรกรรม ผลิตผลหลักของโครงการ คือ ไม้ดอกเมืองหนาวต่างๆ เช่น คาร์เนชั่น เบญจมาศ สแตติส ยิบโซ เป็นต้น นักท่องเที่ยว สามารถเที่ยวชมแปลงปลูกดอกไม้ ห้องแล็ปทำการเพาะขยายพันธ์ นอกจากนี้ ยังสามารถแวะชม แปลงปลูกดอกไม้ของชาวเขาในหมู่บ้าน ซึ่งอยู่บริเวณปากทางเข้าโครงการฯ ได้อีกด้วย

จุดชมวิว ตั้งอยู่บริเวณกิโลเมตรที่ 41 ด้านซ้ายมือ เป็นเส้นทางเดินเท้า ระยะทาง 30 เมตร เป็นที่ชมวิวทะเลหมอก

พระมหาธาตุนภเมทนีด และพระมหาธาตุนภพลภูมิสิริ ตั้งอยู่บนกิโลเมตรที่ 41.5 ทางด้านซ้ายมือ สร้างขึ้นโดยกองทัพอากาศ ร่วมกับ พสกนิกรชาวไทย โดยพระมหาธาตุนภเมทนีดล สร้างถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาส ทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 5 รอบ เมื่อปี พ.ศ. 2530 และพระมหาธาตุนภพลภูมิสิริ สร้างถวายสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในวโรกาส ทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 5 รอบ เมื่อปี พ.ศ. 2535 พระมหาธาตุทั้ง 2 องค์นี้ มีรูปทรงคล้ายคลึงกัน คือ มีฐานเป็นรูป 12 เหลี่ยม มีระเบียงแก้วโดยรอบเป็น 2 ระดับ เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาต ุและพระพุทธรูปบูชา รอบบริเวณ สามารถมองเห็นทิวทัศน์ของดอยอินทนนท์โดยรอบ ได้อย่างสวยงาม

กิ่วแม่ปาน ตั้งอยู่กิโลเมตรที่ 42 ด้านซ้ายมือ เป็นเส้นทางเดินชมธรรมชาติ ระยะทาง 2.5 กิโลเมตร เหมาะสำหรับนักท่องเที่ยว ที่ต้องการสัมผัสธรรมชาติโดยแท้จริง ก่อนเดิน ควรติดต่อขออนุญาต จากที่ทำการอุทยานฯ เพื่อป้องกันอันตราย และรักษาธรรมชาติให้คงอยู่ตลอดไป

ยอดดอยอินทนนท์ จุดสิ้นสุดของเส้นทางสายนี้ เป็นยอดดอยที่สูงที่สุดในประเทศไทย มีความสูง 2,599 เมตร มีสภาพอากาศหนาวเย็นตลอดปี ในพื้นที่บริเวณนี้มี "อ่างกาหลวง" เป็นหนองน้ำซับในหุบเขา ซึ่งพบต้นข้าวตอกฤาษี ขึ้นตามพื้นดินและคาคบไม้ มีสีสันสวยงาม รวมทั้งพืชพันธุ์ไม้หายากหลายชนิด เช่น กุหลาบพันปี ซึ่งจะออกดอกในช่วงเดือน ธันวาคม-กุมภาพันธ์ทุกปี ทางอุทยานฯ ได้สร้างเส้นทางศึกษาธรรมชาติ เพื่อให้นักท่องเที่ยว สัมผัสธรรมชาติได้อย่างใกล้ชิด นอกจากนี้ ยังเป็นที่ประดิษฐาน สถูปเจ้าอินทวิชยานนท์ อดีตเจ้าเมืองเชียงใหม่ และเป็นที่ตั้งของสถานีเรด้า ของกองทัพอากาศไทย

น้ำตกแม่ปาน ตั้งอยู่เชิงดอยอินทนนท์ ห่างจากที่ว่าการอำเภอแม่แจ่ม ประมาณ 16 กิโลเมตร เดินทางแยกจากทางหลวงหมายเลข 1009 ตรงด่านตรวจกิโลเมตรที่ 38 ไปตามเส้นทางสายอินทนนท์-แม่แจ่ม (ทางหลวงหมายเลข 1192) ประมาณ 6 กิโลเมตร จะมีป้ายบอกทางไปน้ำตกแยกเข้าไปอีก 9 กิโลเมตร จะถึงที่จอดรถ ซึ่งทางอำเภอทำไว้สำหรับอำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยว จากนั้นจะต้องเดินทางไปตามทางเดินอีกประมาณ 10 นาที จึงจะถึงตัวน้ำตก น้ำตกแม่ปานนับว่าเป็นน้ำตกที่ยาวที่สุดของเชียงใหม่ก็ว่าได้ และมีความสวยงามตามธรรมชาติไปอีกแบบหนึ่ง น้ำจะตกลงมาจากหน้าผาซึ่งสูงกว่า 100 เมตร เป็นทางยาว ถ้ามองดูแต่ไกลจะเห็นสายน้ำยาวสีขาวตัดกับสีเขียวของต้นไม้ทำให้ดูเด่นเป็นสง่า น้ำที่ตกลงมายังเบื้องล่างกระทบโขดหินแตกเป็นฟองกระจายไปทั่วบริเวณ เบื้องล่างมีแอ่งน้ำหลายแอ่งสำหรับผู้มาพักผ่อนได้ลงอาบเล่น บนเนินเล็กๆ ทางอำเภอทำศาลาพักร้อนไว้สำหรับนักท่องเที่ยวพักผ่อน และชมความงดงามของน้ำตกด้วย

น้ำตกทรายเหลือง ตั้งอยู่บนเส้นทางเดียวกับน้ำตกแม่ปาน อยู่ห่างจากถนนสายดอยอินทนนท์-แม่แจ่ม ประมาณ 2 กิโลเมตร บริเวณใกล้ๆ กับน้ำตกมีที่จอดรถกว้างขวาง มีศาลาพักร้อนสำหรับผู้มาเที่ยวได้พักด้วย น้ำตกทรายเหลืองเป็นน้ำตกขนาดปานกลาง มีน้ำไหลแรงตลอดปี และไหลลงมาจากหน้าผาข้างบนลงมาเป็นชั้นๆ สวยงามมาก

หมู่บ้านทอผ้าซิ่นตีนจก อยู่ห่างจากตัวอำเภอแม่แจ่มไปประมาณ 3 กิโลเมตร ตรงบ้านหมู่ที่ 4 ตำบลท่าผา เป็นตำบลที่ชาวบ้านนิยมทอผ้าซิ่นตีนจกกันมาก ซึ่งทำกันถึง 150 ครอบครัว และแต่ละบ้านจะมีเครื่องทออยู่ใต้ถุน ขณะนี้ผลิตภัณฑ์พื้นเมืองชนิดนี้กำลังเป็นที่นิยมอย่างสูง เพราะมีความสวยสดงดงามและลวดลายที่ออกมา ไม่ซ้ำแบบใคร ราคาย่อมเยาเหมาะที่จะซื้อไว้เป็นที่ระลึก

วัดพุทธเอิ้น ตั้งอยู่ที่ตำบลช่างเคิ่ง อำเภอแม่แจ่ม นับเป็นศาสนสถานที่แปลกไปจากที่อื่น คือ มี "โบสถ์น้ำ" ลักษณะคือสร้างในสระสี่เหลี่ยม โดยปักเสาลงในน้ำล้อมรอบด้วยกำแพงศิลาแลง บริเวณรอบโบสถ์จนถึงกำแพงเรียกว่า "อุทกสีมา" มีความหมายเหมือนกับ "ขันทสีมา" ของโบสถ์บนบก ตามประวัติกล่าวว่า วัดพุทธเอิ้นก่อสร้างในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ เมื่อ 200 ปีกว่ามาแล้ว มีโบราณสถานล้ำค่าในบริเวณวัดคือ โบสถ์น้ำซึ่งขึ้นทะเบียนกับกรมศิลปากรแล้ว บริเวณด้านหลังโบสถ์น้ำมีวิหารเก่าแก่ ซึ่งภายในมีภาพจิตรกรรมฝาผนัง แต่เลือนลางไปมากแล้ว

บ้านไร่ไผ่งาม เป็นหมู่บ้านผลิตผ้าฝ้ายทอมือแบบโบราณที่มีคุณภาพและมีชื่อเสียงของจังหวัดเชียงใหม่ ตั้งอยู่กิโลเมตรที่ 69-70 ตามเส้นทางเชียงใหม่-ฮอด และเลี้ยวซ้ายเข้าไปหมู่บ้านอีกประมาณ 1 กม. ทางเข้าหมู่บ้านร่มรื่นด้วยเงาไม้ไผ่สองข้างทาง ปัจจุบันกลุ่มแม่บ้านซึ่งได้รับการถ่ายทอดการผลิตผ้าฝ้ายทอมือย้อมสีธรรมชาติ จากคุณป้าแสงดา บันสิทธิ์ อดีตศิลปินแห่งชาติ รวมกลุ่มกันผลิตที่บ้านป้าแสงดา ซึ่งอยู่ติดกับลำน้ำปิง ปัจจุบันได้จัดทำเป็น "พิพิธภัณฑ์ผ้าป้าดา" เพื่อรำลึกถึงผลงานของท่าน และยังแสดงถึงชีวิตความเป็นอยู่แบบพื้นบ้านในสมัยก่อนด้วย โทร. (01) 510-0463 สถานที่ติดต่อในตัวเมืองเชียงใหม่ โทร. (053) 273625

อุทยานแห่งชาติออบหลวง อยู่ห่างจากตัวเมืองเชียงใหม่ ตามทางหลวงหมายเลข108 สายฮอด-แม่สะเรียง ตรงหลักกิโลเมตรที่ 17 รวมระยะทางประมาณ 105 กิโลเมตร ถนนเป็นถนนราดยางอย่างดี และช่วงระหว่างฮอดจนถึงออบหลวงนั้น ถนนจะเลียบขนานไปกับแม่น้ำแม่แจ่มหรือแม่น้ำสลักหิน และวกไปเวียนมาตามไหล่เขา
ลักษณะทั่วไป ออบหลวงเป็นสถานที่น่าเที่ยวที่ธรรมชาติสร้างสรรค์ความสวยงามและน่ากลัวไว้ในจุดเดียวกัน กล่าวคือ เบื้องล่างเป็นแม่น้ำสลักหินที่ไหลคดเคี้ยวผ่านช่องเขาขาดตรงออบหลวง ช่องเขานี้มีลักษณะเป็นหน้าผาสูงชัน และแคบมาก บีบทางน้ำไหล ดังนั้น แม่น้ำตรงนี้จึงเชี่ยวจัด เสียงน้ำกระทบหน้าผาดังสนั่น แต่รอบๆ บริเวณชายน้ำด้านเหนืองดงามไปด้วยหมู่ไม้น้อยใหญ่ ร่มรื่นอยู่ตลอดเวลาชั่วนาตาปี ยังมีสะพานเชื่อมช่องเขาขาดสำหรับนักท่องเที่ยวยืนชมความงดงามแห่งทัศนียภาพของออบหลวง นอกจากนั้นภายในบริเวณอุทยานฯ ยังมีการขุดค้นพบแหล่งโบราณคดียุคก่อนประวัติศาสตร์ด้วย 
ล่องแก่งออบหลวง ติดต่อได้ที่ แม่สอดการท่องเที่ยว โทร. (055) 514505, 814424

หน่วยพัฒนาต้นน้ำหน่วยที่ 6 (แม่โถ) อยู่ห่างจากตัวเมืองเชียงใหม่ประมาณ 160 กิโลเมตร ตั้งอยู่ในเขตท้องที่ตำบลบ่อสลี อำเภอฮอด ตามเส้นทางสายฮอด-แม่สะเรียง ถึงกิโลเมตรที่ 55 แล้วแยกเข้าเส้นทางไปแม่โถอีก 16 กิโลเมตร มีสถานที่น่าเที่ยวหลายแห่ง เช่น บ่อน้ำแร่ (ตรงทางแยกเข้าอำเภอแม่แจ่ม) สวนสนบ่อแก้ว (กิโลเมตรที่ 36) หมู่บ้านชาวเขาเผ่าม้ง (แม้ว) และกะเหรี่ยง ทัศนียภาพโดยรอบ และแปลงทดลองการปลูกดอกไม้เมืองหนาว ฯลฯ

ทะเลสาบดอยเต่า ดอยเต่าเป็นอำเภอของเชียงใหม่ อยู่ห่างจากตัวเมืองไปตามถนนเชียงใหม่-ฮอด-ดอยเต่า ระยะทางประมาณ 133 กิโลเมตร ที่ดอยเต่ามีอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ซึ่งอยู่เหนือเขื่อนภูมิพล เคยใช้ในการเกษตรกรรมการประมง
ในบริเวณอ่างเก็บน้ำ มีบริการแพพักและเรือนำเที่ยว ซึ่งนำชมแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ เช่น น้ำตกอุ่มแป๋ ผาวิ่งชู้ พระธาตุดอยเกิ้ง ฯลฯ สถานที่ท่องเที่ยวดังกล่าวเข้าถึงได้โดยทางเรือเท่านั้น ค่าเช่าเหมาเรือหางยาวนำชมประมาณ 800-1,000 บาท ใช้เวลาประมาณ 1 วัน นอกจากนี้ยังมีเรือนำเที่ยวจากเขื่อนภูมิพล จังหวัดตาก มายังอ่างเก็บน้ำดอยเต่า แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำว่าจะมากพอที่จะเดินเรือได้หรือไม่ รายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ บริษัท ท่องนที จำกัด โทร. 457-6873-4, 457-3428


 เส้นทางหลวงหมายเลข 1269 หางดง-สะเมิง แยกจากทางหลวงหมายเลข 108

อุทยานล้านนา อยู่ในเขตตำบลบ้านปง ริมเส้นทางสายหางดง-สะเมิง ประมาณกิโลเมตรที่ 27 ด้านซ้ายมือ รวมระยะทางจากตัวเมืองประมาณ 20 กิโลเมตร เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจทางธรรมชาติที่มีบริเวณกว้างขวาง ตกแต่งด้วยพันธุ์ไม้นานาชนิด ล้อมรอบด้วยภูเขา บ้านพักอยู่กลางสวนไม้ดอกไม้ประดับ มีบริการเต็นท์และแค้มป์ปิ้งด้วย ติดต่อได้ที่ โทร. (053) 248434

กฤษดาดอย เป็นสถานที่พักผ่อนทางธรรมชาติอีกแห่งหนึ่งบนเส้นทาง ซึ่งตกแต่งด้วยพันธุ์ไม้ดอกไม้ประดับงดงาม ตั้งอยู่บนเส้นทางสายหางดง-สะเมิง ประมาณกิโลเมตรที่ 25 รายละเอียดติดต่อ โทร. (053) 248419

โครงการหลวงห้วยผักไผ่ (สวนกุหลาบหลวง) ตั้งอยู่ที่บ้านแม่ฮะ ตำบลบ้านปง อำเภอหางดง บนเส้นทางสายสะเมิง-หางดง บริเวณหลักกิโลเมตรที่ 17 แยกเข้าไปประมาณ 300 เมตร สามารถเดินทางจากเชียงใหม่ได้สองทาง คือ ตามทางสายเชียงใหม่-แม่ริม-สะเมิง-หางดง ระยะทาง 32 กิโลเมตร และเส้นทางสายเชียงใหม่-หางดง-สะเมิง ระยะทาง 43 กิโลเมตร งานหลักของโครงการฯ คือ การรวบรวม ศึกษา และขยายพันธุ์กุหลาบชนิดต่างๆ สิ่งที่น่าสนใจคือ "สวนกุหลาบหลวง" ซึ่งเป็นแปลงกุหลาบในเนื้อที่12 ไร่ ปลูกไล่ไปตามไหล่เขา มองดูสวยงาม นับเป็นสถานที่รวบรวมพันธุ์กุหลาบที่มากที่สุด ช่วงฤดูที่เหมาะแก่การท่องเที่ยว คือ เดือนตุลาคม ถึงเดือนกุมภาพันธ์


 เส้นทางสายเหนือ (ทางหลวงหมายเลข 107 เชียงใหม่-ฝาง)

โรงงานไทยศิลาดล อยู่บนเส้นทางเชียงใหม่-ฝาง ห่างจากตัวเมือง 6 กิโลเมตร โรงงานปิดทุกวันอาทิตย์ โทร. (053) 213245, 213541

รอยัลปิง การ์เดนท์ แอนด์รีสอร์ท เป็นรีสอร์ทที่ร่มรื่นอีกแห่งหนึ่งด้วยธรรมชาติรายล้อมด้วยภูเขา และลำน้ำปิง อยู่ห่างจากตัวเมืองเชียงใหม่ บนเส้นทางเชียงใหม่-ฝาง ราว 52 กิโลเมตร ในเขตอำเภอแม่แตง มีฟาร์มกล้วยไม้ สวนไม้ดอกไม้ประดับ และสวนเกษตร เปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชม รายละเอียดติดต่อ โทร. (053) 471199, 471489

ศูนย์ฝึกช้างแตงดาว ตั้งอยู่ริมถนนสายเชียงใหม่-ฝาง ประมาณกิโลเมตรที่ 56 มีการแสดงการชักไม้ ลากซุงจากป่า วันละ 2 รอบ คือ 09.00 น. และ 10.00 น. ทุกวัน ค่าเข้าชมคนละ 30 บาท และยังมีการขี่ช้างตามความต้องการของนักท่องเที่ยว รายละเอียดติดต่อ โทร. (053) 298553

ถ้ำเชียงดาว เป็นถ้ำที่น่าสนใจถ้ำหนึ่งของจังหวัดเชียงใหม่ อยู่ในเขตอำเภอเชียงดาว ห่างจากตัวเมืองเชียงใหม่ประมาณ 77 กิโลเมตร การเดินทางจากเชียงใหม่ไปยังอำเภอเชียงดาว ระยะทาง 72 กิโลเมตร แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าไปจนถึงถ้ำอีก 5 กิโลเมตร ถนนเป็นถนนราดยางอย่างดีจนถึงบริเวณถ้ำ เมื่อไปถึงหน้าถ้ำจะเห็นบริเวณกว้างขวางสำหรับจอดรถ มีศาลานั่งพักหลังใหญ่ ส่วนทางเข้าถ้ำเป็นบันได โดยมีหลังคามุงสังกะสี นอกจากนั้นบริเวณหน้าถ้ำยังมีธารน้ำไหลผ่านเต็มไปด้วยปลาหลายชนิด ด้านขวามือตรงกลางสระเป็นเรือสำเภาหิน เสียค่าเข้าชมคนละ 5 บาท หรือหากนักท่องเที่ยวต้องการชมบริเวณถ้ำทั้งหมด ก็สามารถติดต่อคนนำทางได้บริเวณหน้าถ้ำโดยเสียค่าบริการพิเศษ

ดอยเชียงดาว อยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดอยเชียงดาว อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ การเดินทางจากตัวเมืองเชียงใหม่ มาตามเส้นทางสายเชียงใหม่-ฝาง (ทางหลวงหมายเลข 107) ระยะทางประมาณ 77 กิโลเมตร ถึงบริเวณถ้ำเชียงดาว ซึ่งนักท่องเที่ยวจะสามารถติดต่อคนนำทางและลูกหาบได้
ดอยเชียงดาว มียอดสูงสุด เรียกว่า ดอยหลวงเชียงดาว มีลักษณะเป็นภูเขาหินปูนรูปกรวยคว่ำสูง 2,195 เมตร จากระดับน้ำทะเล นับเป็นยอดดอยที่สูงอันดับ 3 ของประเทศ บนยอดดอยมีที่ราบแคบๆ สามารถมองเห็นทัศนียภาพอันงดงามรอบด้าน คือ ทะเลหมอกด้านอำเภอเชียงดาว ดอยสามพี่น้อง เทือกดอยเชียงดาว ตลอดจนถึงยอดดอย อินทนนท์อันไกลลิบ
การเดินทางสู้ดอยเชียงดาวใช้เส้นทางบ้านแม่นะ-เด่นหญ้าขัด จากทางหลวงสายเชียงใหม่-ฝาง ประมาณหลักกิโลเมตรที่ 71-72 ถึงบ้านแม่นะแยกซ้ายเข้าหมู่บ้านปางโฮ่ง บ้านปางฮ้าง จนถึงด่านพิทักษ์ป่าบ้านสันป่าเกี๊ยะ และแยกสู่หน่วยพิทักษ์ป่าเด่นขัด ซึ่งต้องเริ่มเดินเท้าสู่ดอยเชียงดาวจากจุดนี้ ใช้เวลาราว 4 ชั่วโมง
ส่วนเส้นทางลงนิยมใช้ทางสายบ้านถ้ำ เพราะมีทางสูงชัน สามารถลงได้รวดเร็วกว่า แต่ไม่เหมาะกับการขึ้น
บนดอยเชียงดาวไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกใดๆ นักท่องเที่ยวต้องเตรียมตัวไปด้วยตนเอง ไม่ว่าจะเป็นเครื่องนอน อาหาร และน้ำ

ป่าเกี๊ยะหรือแม่ตะมาน ตั้งอยู่ในเขตท้องที่อำเภอเชียงดาว ห่างจากตัวเมืองเชียงใหม่ประมาณ 88 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางประมาณ 2-3 ชั่วโมง มีสถานที่น่าสนใจ เช่น ทัศนียภาพอันสวยงามรอบๆ หน่วยงาน โดยเฉพาะยอดดอยเชียงดาว วัฒนธรรมขนบธรรมเนียมประเพณี และชาวเขาเผ่าม้ง (แม้ว) ทะเลหมอก แปลงดอกไม้ และการทดลองปลูกกาแฟ การเดินทาง ใช้เส้นทางเชียงใหม่-ฝาง ประมาณ 67 กิโลเมตร เลี้ยวซ้ายเข้าหน่วยงานฯ อีกประมาณ 21 กิโลเมตร ขี่ข้าง ล่องแพ นั่งเกวียน ที่แม่ตะมาน 
- นั่งช้าง เวลา 08.00-15.00 น.
- การแสดงช้าง เวลา 09.30 น.
- ล่องแพ นั่งเกวียน เวลา 08.00-16.00 น.
ติดต่อได้ที่ โทร. (053) 297060, 297283

โครงการหลวงห้วยลึก ตั้งอยู่ที่อำเภอเชียงดาวตามเส้นทางสายเชียงใหม่-ฝาง ประมาณกิโลเมตรที่ 95 เลี้ยวขวาเข้าไปประมาณ 500 เมตร โครงการนี้ดำเนินการจัดพื้นที่ทำกินให้แก่ชาวเขาเผ่าแม้ว กะเหรี่ยง และคนเมืองในบริเวณพื้นที่ โดยทำการส่งเสริม วิจัย และเพาะพันธุ์ให้แก่เกษตรกร ผลิตผล ได้แก่ พืช ผัก เช่น ผักสลัด แคนตาลูป ฯลฯ ไม้ดอก เช่น เบญจมาศ พีค็อก ฯลฯ ไม้ผล เช่น ทับทิม ฝรั่งคั้นน้ำ เป็นต้น โครงการหลวงห้วยลึกเป็นจุดที่น่าท่องเที่ยวในช่วงฤดูหนาว ระหว่างเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนมีนาคม เนื่องจากมีผลิตผลให้ชมและซื้อหาได้

วัดถ้ำตับเต่า อยู่ในเขตอำเภอไชยปราการ ตรงหลักกิโลเมตรที่ 122 บนเส้นทางสายเชียงใหม่-ฝาง แยกซ้ายมือเข้าไปประมาณ 3 กิโลเมตร ภายในบริเวณวัดร่มรื่น มีหอพระไตรปิฎกสร้างอยู่กลางน้ำ สิ่งสำคัญในวัดคือถ้ำตับเต่า มีขนาดเล็กกว่าถ้ำเชียงดาว แต่มีความสวยงามไม่แพ้กัน ภายในถ้ำมีพระพุทธรูปประดิษฐานอยู่ ถ้ำตับเต่านี้แยกออกเป็น 2 ถ้ำ คือ ถ้ำผาขาว และถ้ำปัญเจค บริเวณหน้าถ้ำมีกุฏิและศาลาสำหรับพักผ่อน

ดอยอ่างขาง บนเส้นทางหลวงหมายเลข 107 (เชียงใหม่-ฝาง) ประมาณกิโลเมตรที่ 137 จะมีทางแยกซ้ายมือเข้าบ้านยางที่ตลาดท่าคา เข้าไปอีกประมาณ 26 กิโลเมตร เป็นทางราดยาง สูงและคดเคี้ยว ต้องใช้รถสภาพดีและมีกำลังสูง คนขับชำนาญ สามารถเช่ารถสองแถวได้ที่ตลาดท่าคา ดอยอ่างขางเป็นที่ตั้งของสถานีเกษตรหลวงอ่างขาง ซึ่งมีโครงการวิจัยผลไม้ ไม้ดอกเมืองหนาว งานสาธิตพืชไร่ พืชน้ำมัน โดยมุ่งที่จะหาผลิตผลที่มีคุณค่าพอที่จะทดแทนการปลูกฝิ่นของชาวเขา และทำการส่งเสริมพัฒนาอาชีพเกษตรกรรมแก่ชาวเขาในบริเวณใกล้เคียง โดยมีชาวเขาเผ่าต่างๆ ได้แก่ เผ่ามูเซอดำ ปะหล่อง จีนฮ่อ และไทยใหญ่ นักท่องเที่ยวสามารถเที่ยวชมแปลง ทดลองปลูกไม้ผลเมืองหนาว ได้แก่ ท้อ บ๊วย พลัม ฯลฯ พืชผักเมืองหนาว เช่น แครอท ผักสลัดต่างๆ ฯลฯ สวนสมุนไพร แปลงไม้ดอก เช่น คาร์เนชั่น กุหลาบ แอสเตอร์ เบญจมาศ ฯลฯ โรงบรรจุผลไม้เพื่อส่งจำหน่ายและสหกรณ์ของโครงการฯ ซึ่งจำหน่ายผลิตผลที่ปลูกในบริเวณโครงการฯ ให้แก่นักท่องเที่ยวตามฤดูกาล นอกจากนี้ยังมี "สวนบอนไซ" ซึ่งเป็นแหล่งรวบรวมพันธุ์ไม้เขตอบอุ่นและเขตหนาวทั้งในและต่างประเทศ จัดปลูก ดัด แต่ง โดยใช้เทคนิคบอนไซ สวยงามน่าชม
ในสถานีฯ มีที่พักบริการแก่นักท่องเที่ยว สอบถามรายละเอียดและจองที่พักล่วงหน้าที่ รีสอร์ทธรรมชาติอ่างขาง สำนักงานกรุงเทพฯ โทร. 267-9711 เชียงใหม่ โทร. (053) 453-515-9 นอกจากนี้ บริเวณหน้าทางเข้าโครงการ ยังมีที่พักของเอกชนเปิดบริการด้วย

บ่อน้ำมันฝาง ที่กิโลเมตรที่ 144 ก่อนที่จะถึงตลาดอำเภอฝาง มีทางแยกขวามือไปยังโรงกลั่นน้ำมันฝาง ระยะทาง 3 กิโลเมตร

บ่อน้ำร้อนฝาง ตั้งอยู่ห่างจากอำเภอฝางไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ประมาณ 8 กิโลเมตร ในเขตตำบลบ้านปิน น้ำร้อนเกิดจากหินแกรนิตที่มีความร้อนเกือบเดือด หรือเดือดระหว่าง 90 ํ-100 ํ ซ. บ่อน้ำร้อนที่นั่นมีมากมายกว่า 50 แห่ง บ่อใหญ่มีไอน้ำพุ่งขึ้นสูงส่งกลิ่นกำมะถันกระจายไปทั่ว

ดอยปู่หมื่น ตั้งอยู่ในเขตท้องที่ตำบลแม่สาว อำเภอแม่อาย ระยะทางห่างจากตัวเมืองเชียงใหม่ประมาณ 174 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางประมาณ 4 ชั่วโมง มีทัศนียภาพอันสวยงามรอบๆ หน่วยงาน ขนบธรรมเนียมของชาวเขาเผ่ามูเซอ ชมยอดดอยผ้าห่มปกที่สวยงาม แปลงดอกไม้และแปลงทดลองปลูกพืชผลเมืองหนาว การเดินทางใช้เส้นทางเชียงใหม่-ฝางประมาณ 140 กิโลเมตร ฝาง-แม่อาย 9 กิโลเมตร แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าหน่วยงานอีก 14 กิโลเมตร

ดอยผาหลวง ผ้าห่มปก ตั้งอยู่ในเขตอำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ เป็นยอดดอยที่มีความสูงเป็นอันดับที่ 2 ของประเทศ มีเส้นทางเดินป่าสู่ยอดดอย ระหว่างทางมีสภาพเป็นป่าดงดิบ ร่มครึ้มเต็มไปด้วยพันธุ์ไม้บนป่าสูง เมื่อขึ้นถึงยอดดอยจะมองเห็นทัศนียภาพของเทือกเขาแดนลาว สันดอยเทือกผาหลวง และดอยอ่างขางกับดอยเชียงดาวอยู่ไกลลิบทางด้านใต้
การเดินทางจากเชียงใหม่ ตามเส้นทางสายเชียงใหม่-ฝาง (ทางหลวงหมายเลข 107) เป็นระยะทางประมาณ 150 กิโลเมตร แล้วมุ่งขึ้นมาทางท่าตอน หรืออำเภอแม่อายอีกราว 10 กิโลเมตร จะถึงบ้านป่าซาง แยกซ้ายเข้าสู่ที่ทำการหน่วยพัฒนาต้นน้ำลุ่มน้ำแม่สาว ระยะทาง 14 กิโลเมตร และมีเส้นทางต่อไปหน่วยย่อยอีก 5 กิโลเมตร ต่อจากนั้นเป็นเส้นทางเดินเท้าสู่ยอดดอยผ้าห่มปก 8 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินราว 4 ชั่วโมง
การเดินทางไปดอยผ้าห่มปกเป็นการเดินทางท่องเที่ยวในลักษณะการเดินป่า ปีนเขาอย่างสมบุกสมบัน นักท่องเที่ยวจำเป็นต้องเตรียมตัวในการเดินทางเป็นอย่างดี สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อได้ที่ ส่วนอนุรักษ์ต้นน้ำ โทร. 579-2810, 579-7587

ท่าตอน-เชียงราย ท่าตอนเป็นหมู่บ้านหนึ่งในเขตอำเภอแม่อาย เลยขึ้นไปทางเหนือจากอำเภอฝาง ระยะทางห่างจากตัวเมืองฝางขึ้นไปประมาณ 24 กิโลเมตร เป็นที่ซึ่งแม่น้ำกกไหลผ่านลงไปถึงตัวอำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย และแม่น้ำกกนี้เป็นแม่น้ำสายสำคัญในการคมนาคมระหว่าง 2 จังหวัด ปกติแล้วจะมีเรือหางยาวบริการรับ-ส่งผู้โดยสารจากท่าตอนล่องไปตามแม่น้ำกกจนถึงเชียงราย ซึ่งเรือดังกล่าวออกจากท่าตอนเวลา 12.30 น. ไปถึงเชียงรายประมาณ 17.00 น. (ค่าโดยสารเรือหางยาวคนละ 160 บาท)
ปัจจุบันนี้ การล่องแม่น้ำกกเป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยว ทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศมาก ได้ชมภูมิภาพที่งดงาม และชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนที่อาศัยอยู่ริมสองฟากฝั่งแม่น้ำกก ยิ่งไปกว่านั้นนักท่องเที่ยวที่ประสงค์จะล่องแพก็สามารถทำได้ โดยว่าจ้างชาวบ้านต่อแพให้โดยติดต่อกับผู้ใหญ่เต้ง แก้วประเพณี ผู้ใหญ่บ้านบ้านท่าตอน อำเภอแม่อาย เชียงใหม่ รหัสไปรษณีย์ 50280 หรือที่ร้านจันทร์เกษม ริมน้ำกก บ้านท่าตอน อำเภอแม่อาย เชียงใหม่ 50280 หรือที่คุณตาบทิพย์ วรรณรัตน์ โทร. (053) 459138
นอกจากนั้น ตามเส้นทางล่องแพแม่กกนี้ ยังมีจุดท่องเที่ยวตามหมู่บ้านชาวเขาริมฝั่งแม่น้ำ เช่น บ้านกะเหรี่ยงรวมมิตร ซึ่งนักท่องเที่ยวสามารถแวะชมและใช้บริการนั่งช้างชมรอบหมู่บ้าน และเดินป่าบริเวณใกล้เคียงได้อีกด้วย

วัดท่าตอน เป็นวัดที่ตั้งอยู่บนเนินเขาต่อเนื่องกันหลายลูก มีเนื้อที่กว่า 400 ไร่ อยู่ติดริมแม่น้ำกก เดิมเป็นวัดเก่าแก่สันนิษฐานได้จากวัตถุโบราณที่ค้นพบในบริเวณนี้ วัดท่าตอนยังเป็นสถาบันการศึกษาสำหรับพระภิกษุ สามเณร และเยาวชน เป็นศูนย์บำบัดยาเสพติด และสงเคราะห์ชาวเขา เป็นวัดที่มีทิวทัศน์งดงาม และเนื่องในวโรกาสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงครองราชย์เป็นปีที่ 50 ทางวัดได้ริเริ่มโครงการก่อสร้างเจดีย์แก้วเฉลิมพระเกียรติไว้บนยอดเขา

เส้นทางหลวงหมายเลข 1096 แม่ริม-สะเมิง แยกจากทางหลวงหมายเลข 107)

ฟาร์มกล้วยไม้และฟาร์มผีเสื้อสายน้ำผึ้ง เป็นสวนกล้วยไม้ที่ใหญ่ที่สุดในเชียงใหม่ อยู่ห่างจากตัวเมืองประมาณ 22 กิโลเมตร ตามเส้นทางสายแม่ริม-สะเมิง ไปประมาณ 2 กิโลเมตร แยกซ้ายเข้าไปประมาณ 1 กิโลเมตร เป็นสถานที่รวบรวมพันธุ์กล้วยไม้ทุกชนิด เหมาะสำหรับผู้ที่สนใจศึกษาพันธุ์กล้วยไม้ต่างๆ นอกจากนี้ยังมีฟาร์มผีเสื้อ แมวไทย และสัตว์อื่นๆ ให้ชมด้วย เปิดให้เข้าชมทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.00-17.00 น. ค่าเข้าชมคนละ 10 บาท รายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ โทร. (053) 297152, 297892, 298771-2

สวนกล้วยไม้เมาท์เท่น ออคิด อยู่ตรงข้ามสวนสายน้ำผึ้ง เป็นสวนกล้วยไม้ที่สวยงามอีกแห่งหนึ่ง เปิดให้เข้าชมทุกวันตั้งแต่เวลา 08.00-17.00 น. ค่าเข้าชมคนละ 10 บาท รายละเอียดติดต่อ โทร. (053) 297343

ฟาร์มงูแม่สา ตั้งอยู่ประมาณกิโลเมตรที่ 3 เส้นทางสายแม่ริม-สะเมิง เป็นสถานที่รวบรวมพันธุ์งูที่มีในเมืองไทยและศึกษาด้านการขยายพันธุ์ มีการแสดงของงูและการรีดพิษงูให้นักท่องเที่ยวชมทุกวัน เวลา 11.30 น., 14.15 น. และ 15.30 น. ใช้เวลาแสดงประมาณ 30 นาที รายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ โทร. (053) 860719, (01) 472-1566

แม่สาเฮ้าส์ไปรเวทคอลเล็คชั่น อยู่ประมาณกิโลเมตรที่ 4 ริมถนนด้านขวามือ เป็นแหล่งรวมของศิลปวัตถุโบราณและหายากต่างสมัยทั่วประเทศจากยุคบ้านเชียงถึงปัจจุบัน แม่สาเฮ้าส์เป็นบ้านไม้สักทองสวยสะดุดตา แวดล้อมด้วยพันธุ์พฤกษชาติและกล้วยไม้ป่านานาพรรณ ให้ความร่มรื่นสบายอารมณ์ รายละเอียดติดต่อ โทร. (053) 298068

ฟาร์มผีเสื้อแม่สา ตั้งอยู่ประมาณกิโลเมตรที่ 5 เป็นสถานที่รวบรวมผีเสื้อพันธุ์ต่างๆ ที่สวยงามหลายหลากชนิด เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้ชมและศึกษา

สวนกล้วยไม้แม่แรม (แม่แรมออร์คิด) ตั้งอยู่ประมาณกิโลเมตรที่ 5.5 เป็นจุดท่องเที่ยวที่น่าสนใจ เนื่องจากมีการปลูกพันธุ์กล้วยไม้นานาชนิด ตลอดจนการสาธิตและจำหน่ายสินค้าที่ระลึกประเภทเครื่องประดับ จำพวกเข็มกลัด ต่างหู สร้อย ซึ่งทำจากกล้วยไม้ ใบไม้ และแมลงต่างๆ นอกจากนี้ยังจัดเป็นฟาร์มผีเสื้อ เปิดให้เข้าชมทุกวัน ตั้งแต่เวลา 07.00-17.00 น. ค่าเข้าชมคนละ 10 บาท รายละเอียดติดต่อ โทร. (053) 297982

น้ำตกแม่สา แยกเข้าทางซ้ายมือตรงกิโลเมตรที่ 7 เข้าเขตวนอุทยาน น้ำตกแม่สาเป็นน้ำตกที่มีชื่อเสียงของอำเภอแม่ริม น้ำตกแม่สาแห่งนี้แบ่งเป็นชั้นๆ ขึ้นไปตามเชิงเขาถึง 8 ชั้น ปกคลุมด้วยต้นไม้ใหญ่ทั่วบริเวณ ทำให้สภาพอากาศร่มรื่นเย็นสบายตลอดปี เป็นสถานที่พักผ่อนที่ได้รับความนิยมมากทั้งชาวเชียงใหม่และอาคันตุกะผู้มาเยือน

ปางช้างแม่สา การแสดงของช้างเริ่มต้นด้วยการอาบน้ำให้ช้างในลำห้วยชะล้างสิ่งสกปรกออก และเพื่อให้ช้างสนุกสนานเพลิดเพลินในการที่ได้ลงไปแช่ในน้ำ เมื่ออาบน้ำเสร็จแล้ว ควาญจะนำช้างไปใส่เครื่องลากจูงไว้บนหลัง เพื่อทำการลากซุงซึ่งอยู่ในป่ามาแสดงให้นักท่องเที่ยวชม โดยการแสดงให้เห็นถึงวิธีการต่างๆ ในการลากตามแบบการฝึกช้างที่ศูนย์ฝึกลูกช้างที่จังหวัดลำปาง หลังจากเสร็จสิ้นการทำงานแล้วจะเปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวสนุกกับขี่ช้างไปรอบๆ บริเวณการแสดง โดยจะต้องเสียค่าชมและค่าบริการขี่ช้าง
การแสดงของช้างจะดูได้ทุกวัน เวลาประมาณ 08.00, 09.00 น. ที่ปางช้างแม่สา กิโลเมตรที่ 10 ค่าเข้าชมคนละ 80 บาท นั่งช้างวันละ 8 รอบ เวลา 07.00-14.00ติดต่อได้ที่ โทร. (053) 297060, 297283 โทรสาร 297283 และที่ปางช้างโป่งแยง กิโลเมตรที่ 19

สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ องค์การสวนพฤกษศาสตร์ตั้งอยู่ในพื้นที่จำนวน 3,500 ไร่ บริเวณชายเขตอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย ท้องที่ตำบลแม่แรม อ. แม่ริม บริเวณหลักกิโลเมตรที่ 12 ริมเส้นสายแม่ริม-สะเมิง ทางด้านซ้ายมือ สภาพโดยทั่วไปเป็นที่ราบและที่สูงสลับกันเป็นชั้นๆ ในระดับ 300-970 เมตร จัดทำเป็น สวนพฤกษศาสตร์ระดับนานาชาติ เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ได้จัดสร้างศูนย์บริการนักท่องเที่ยว เรือนเพาะชำไม้ดอกไม้ประดับและไม้ป่า หอพันธุ์ไม้ อาคารที่ทำการ และอาคารปฏิบัติการ ศูนย์ศึกษาธรรมชาติ และศูนย์รวบรวมพันธุ์ไม้ป่า รายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อได้ที่ ตู้ ป.ณ. 7 อ. แม่ริม จ. เชียงใหม่ 50180 โทร. (053) 299753-4 โทรสาร 299754 กรุงเทพฯ ติดต่อได้ที่ อาคารสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี โทร. 280-2907

แม่สาวาเลย์ ประมาณกิโลเมตรที่ 12 ด้านซ้ายมือที่ท่านจะได้สัมผัสบรรยากาศสดชื่น อบอุ่นละมุนละไม ท่ามกลางไอเย็นของน้ำตก ภายในไร่มีไม้ดอกพันธุ์ต่างๆ ตามไหล่เขามีที่พักและห้องอาหารไว้บริการนักท่องเที่ยว โทร. (053) 297981

บ้านม้ง (แม้ว) แม่สาใหม่ เลี้ยวซ้ายมือตรงกิโลเมตรที่ 12 เป็นหมู่บ้านชาวเขาเผ่าม้ง ที่อยู่สูงจากระดับน้ำทะเล 1,000 ฟุต ซึ่งมีความเป็นอยู่และขนบธรรมเนียมประเพณีความเป็นจริงของการดำเนินชีวิต การประกอบอาชีพ ตลอดจนงานศิลปะหัตถกรรมของชาวเขา

เอราวัณรีสอร์ท เลี้ยวขวามือที่กิโลเมตรที่ 15 เข้าไปประมาณ 1 กิโลเมตร ภายในรอบๆ ทะเลสาบเรียงรายด้วยบ้านพักหลายหลัง บรรยากาศร่มรื่นเย็นสบาย นอกจากนี้ยังจัดโครงการ "ลิตเติ้ล เชียงใหม่" มีการแสดงศิลปะการฟ้อนรำ งานแสดงศิลปะหัตถกรรมพื้นบ้านทุกวัน เวลา 14.00-15.45 น. โทร. (053) 297078, 217957

น้ำตกแม่ยิ้ม เป็นน้ำตกแห่งหนึ่งในหลายแห่งบนเส้นทางสายนี้ บริเวณกิโลเมตรที่ 19-20 จะมีป้ายบอกทางอยู่ขวามือ


 เส้นทางหลวงหมายเลข 1095 แม่มาลัย-ปาย แยกจากทางหลวงหมายเลข 107

โป่งเดือดป่าแป๋ อยู่ในท้องที่อำเภอแม่แตง อยู่ห่างจากเชียงใหม่ประมาณ 40 กิโลเมตร โป่งเดือดหรือน้ำพุร้อนป่าแป๋นี้ เป็นน้ำพุร้อนที่น่าชมมาก เพราะน้ำร้อนที่พุ่งขึ้นมาจากพื้นดินสูงเกือบ 4 เมตร นับว่าเป็นน้ำพุร้อนที่ใหญ่และสูงที่สุดในประเทศ รอบๆ บริเวณซึ่งเป็นป่าทึบจะอบอวลไปด้วยกลิ่นกำมะถัน การเดินทางไปชมน้ำพุร้อนป่าแป๋ใช้ถนนสายแม่มาลัย-ปาย (เส้นทางหมายเลข 1095) ไปประมาณ 35 กิโลเมตร แล้วเลี้ยวขวาเข้าไปอีกประมาณ 6.5 กิโลเมตร เป็นทางลูกรัง สภาพยังไม่ดีนัก

ม่อนอังเกตุ ตั้งอยู่ในเขตท้องที่ตำบลป่าแป๋ อำเภอแม่แตง ระยะทางห่างจากตัวเมืองเชียงใหม่ ประมาณ 87 กิโลเมตร ใช้เวลาในการเดินทางประมาณ 2-3 ชั่วโมง มีสถานที่น่าท่องเที่ยวหลายแห่ง เช่น ทัศนียภาพที่สวยงามรอบๆ หน่วยงานฯ โรงเพาะเห็ดหอม สวนสัตว์เปิด การเดินทางตามทางหลวงหมายเลข 1095 แม่มาลัย-ปาย ไปประมาณ 30 กิโลเมตร เลี้ยวซ้ายเข้าโครงการ 15 กิโลเมตร

น้ำตกหมอกฟ้า ตั้งอยู่บนถนนสายแม่มาลัย-ปาย กิโลเมตรที่ 20 และมีทางลูกรัง เลี้ยวซ้าย เข้าไปน้ำตก อีกประมาณ 2 กิโลเมตร น้ำตกหมอกฟ้า มีขนาดไม่ใหญ่นัก เป็นน้ำตกชั้นเดียว แต่มีน้ำไหล ตลอดทั้งปี และมีบรรยากาศ ร่มรื่น เหมาะแก่การ พักผ่อนหย่อนใจ

อุทยานแห่งชาติห้วยน้ำดัง มีพื้นที่ครอบคลุม อยู่ในท้องที่ อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ และอำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน รวมเนื้อที่ทั้งหมด ประมาณ 179.5 ตารางกิโลเมตร หรือ 112,187.5 ไร่ ลักษณะภูมิประเทศ เป็นเทือกเขา และภูเขาสูง สลับซับซ้อน มีภูเขาที่สูงที่สุด คือ ดอยช้าง เป็นป่าต้นน้ำลำธาร มีลำห้วย น้อยใหญ่มากมาย มีจุดเด่นที่น่าสนใจ คือ

- จุดชมวิวบริเวณห้วยน้ำดัง (ดอยกิ่วลม) ตั้งอยู่ที่ ตำบลกึ๊ดช้าง อำเภอแม่แตง เป็นที่ตั้งของ หน่วยพัฒนาต้นน้ำ ที่ 2 (ห้วยน้ำดัง) เป็นจุดชมวิว ที่สวยงาม และมีชื่อเสียงมาก นักท่องเที่ยว จะได้ชมทะเลหมอก ในช่วงเช้าตรู่ และคอยชม พระอาทิตย์ขึ้น งดงามมาก
- จุดชมวิวดอยช้าง อยู่ทางเหนือ ของห้วยน้ำดัง เป็นจุด ที่สามารถมองเห็น สภาพธรรมชาติ ของทิวเขา อันสลับซับซ้อน และทะเลหมอก ในยามเช้าตรู่
- น้ำตกห้วยน้ำดัง เป็นน้ำตก ที่เกิดจาก ลำห้วยน้ำดัง มีโขดหินมากมาย มีความสูง ประมาณ 50 เมตร กว้าง 10 เมตร เป็นน้ำตก ที่สวยงามมาก มี 3-4 ชั้น
- โป่งน้ำร้อนท่าปาย อยู่ในป่าแม่ปาย ฝั่งซ้ายตอนบน ท้องที่ตำบลแม่ฮี้ อำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน การเดินทาง ตามเส้นทางหลวง หมายเลข 1095 (แม่มาลัย-ปาย) บริเวณหลักกิโลเมตร ที่ 88 แยกทางขวา เข้าไปประมาณ 2 กิโลเมตร ตามทางเข้าบ้านท่าปาย เป็นทางราดยาง สภาพของโป่งร้อน เป็นบ่อน้ำร้อน น้ำกำลังเดือด เป็นฟองๆ และมีหมอกควัน ปกคลุมพื้นที่ พร้อมทั้งมี น้ำร้อนไหลเรื่อยๆ ทั่วบริเวณกว้าง มีบ่อใหญ่ สองบ่อ นอกนั้น มีลักษณะ เป็นน้ำผุดบางจุด ความร้อนประมาณ 80 องศาเซลเซียส และรอบๆ โป่งร้อน เป็นไม้สัก ที่สมบูรณ์มาก
- น้ำตกแม่เย็น เป็นน้ำตก ที่เกิดจาก ห้วยแม่เย็นหลวง ซึ่งจะไหลมาสู่ แม่น้ำปายต่อไป สภาพน้ำตก เป็นน้ำตก ขนาดใหญ่ มีน้ำไหลตลอดปี
การเดินทางสู่อุทยานแห่งชาติห้วยน้ำดัง จากอำเภอเมืองเชียงใหม่ ตามทางหลวง หมายเลข 107 และแยกซ้ายมือ ที่ตลาดแม่มาลัย ไปตามทางหลวง หมายเลข 1095 (แม่มาลัย-ปาย) จนถึงหลักกิโลเมตรที่ 65-66 มีทางแยกขวามือ ซึ่งมีป้อมยามตั้งอยู่ ระยะทาง ประมาณ 6 กิโลเมตร เป็นทางลูกรัง เข้าถึงบริเวณ ห้วยน้ำดัง และเดินทางต่อไป อีกประมาณ 3 กิโลเมตร จะถึงจุดชมวิว ดอยช้าง
นักท่องเที่ยว ที่ต้องการ พักค้างแรม ในเขตอุทยานแห่งชาติ ห้วยน้ำดัง สามารถสอบถามรายละเอียด ได้ที่ สวนอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้ โทร. 579-7223, 5795734

ห้วยน้ำรูหรือสามหมื่น ตั้งอยู่ในเขตท้องที่ตำบลเมืองคอง อำเภอเชียงดาว ห่างจากตัวเมืองเชียงใหม่ ประมาณ 130 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทาง ประมาณ 4 ชั่วโมง มีสถานที่ท่องเที่ยว หลายแห่ง เช่น หมูบ้านชาวเขา เผ่าลีซอ ทัศนียภาพ ที่สวยงาม ทุ่งดอกฝิ่น ขนาดใหญ่ และชมการปลูกกาแฟ และไม้ผลเมืองหนาว การเดินทาง ใช้เส้นทาง เชียงใหม่ - ห้วยน้ำดัง เลยเข้าไปอีก 21 กิโลเมตร


 เส้นทางสายตะวันออกเฉียงเหนือ (ทางหลวงหมายเลข 1001 เชียงใหม่-พร้าว)

อุทยานแห่งชาติศรีลานนา จัดเป็นป่าต้นน้ำลำธารชั้นหนึ่ง ประกอบด้วยสภาพป่าธรรมชาติและสัตว์ป่าอันอุดมสมบูรณ์ ครอบคลุมเนื้อที่ป่าแม่งัด ป่าแม่แตง และป่าเชียงดาว ในท้องที่อำเภอพร้าว อำเภอแม่แตง และอำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ รวมเนื้อที่ 652,000 ไร่ ภูมิประเทศเป็นเทือกเขาสูงสลับซับซ้อนทอดตัวเป็นแนวเหนือใต้ เป็นแหล่งกำเนิดต้นน้ำลำธารไหลสู่แม่น้ำปิง มีจุดท่องเที่ยวที่น่าสนใจคือ
น้ำตกม่อนหินไหล ตั้งอยู่บริเวณป่าแม่งัด อำเภอพร้าว เดินทางเข้าทางเดียวกับที่ทำการอุทยานฯ เป็นน้ำตก 6 ชั้น เป็นตาดหิน ลาดเขาตรง มีน้ำไหลตลอดปี แต่ละชั้นมีลักษณะเด่นที่แปลกตา
น้ำพุเย็น น้ำตกเย็น ตั้งอยู่บริเวณแยก กิโลเมตรที่ 42 สายเชียงใหม่-พร้าว ตำบลหอพระ อำเภอแม่แตง เป็นน้ำแร่ซึ่งมีแคลเซียมคาร์บอเนตพุ่งขึ้นมาจากพื้นดิน แล้วไหลเป็นลำธารและน้ำตกขนาดเล็ก มีพื้นที่ลำธารแข็ง เพราะมีแคลเซียมคาร์บอเนตเคลือบอยู่ ดูสวยงามน่าชมยิ่งนัก 
อ่างเก็บน้ำ โครงการชลประทานเขื่อนแม่งัด-สมบูรณ์ชล ตั้งอยู่ที่หลักกิโลเมตรที่ 41 บนเส้นทางสายเชียงใหม่-ฝาง แล้วเลี้ยวขวาเข้าไปประมาณ 11 กิโลเมตร สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2520 แล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2528 บริเวณอ่างเก็บน้ำกว้างขวางถึง 12,500 ไร่ ทิวทัศน์ประกอบด้วยป่าเขารอบข้างสวยงาม
การเดินทางเส้นทางที่สะดวกคือ ทางหลวงหมายเลข 1001 สายเชียงใหม่-พร้าว ผ่านป่าแม่แตงป่าแม่งัด เป็นถนนราดยางสภาพดีถึงหลักกิโลเมตรที่ 79 บ้านประดู่ ตำบลแม่ปั๋ง อำเภอพร้าว มีทางแยกเข้าอ่างเก็บน้ำชลประทานแม่แตง เข้าสู่บริเวณที่ทำการอุทยานฯ และน้ำตกม่อนหินไหล หรือเดินทางตามทางหลวงหมายเลข 107 สายเชียงใหม่-ฝาง ซึ่งเป็นเส้นทางสู่เขื่อนแม่งัด-สมบูรณ์ชล

วัดดอยแม่ปั๋ง อยู่หมู่ที่ 5 ตำบลแม่ปั๋ง อำเภอ พร้าว ห่างจากตัวเมืองตามเส้นทางสายเชียงใหม่-แม่โจ้-พร้าว (ทางหลวงหมายเลข 1001) เป็นระยะทางประมาณ 75 กิโลเมตร วัดดอยแม่ปั๋ง เป็นวัดซึ่งเป็นที่จำพรรษาของหลวงปู่แหวน สุจิณโณ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2505 จนถึงมรณภาพในปี พ.ศ. 2528 ภายในวัดมีสิ่งที่น่าสนใจ คือ วิหารไม้ กุฏิหลวงปู่แหวน กุฏิไม้ที่เรียกว่า "โรงย่างกิเลส" หรือ "โรงไฟ" ศาลาการเปรียญที่ประดิษฐานรูปเหมือนหลวงปู่แหวนเท่าองค์จริงตอนถือธุดงควัตร พิพิธภัณฑ์มณฑป ประดิษฐานหุ่นขี้ผึ้งรูปเหมือนและอัฐิ รวมทั้งอัฐบริขารของหลวงปู่แหวน ฯลฯ


 เส้นทางสายตะวันออก (ทางหลวงหมายเลข 118 และ 1006)

หมู่บ้านทำร่มบ่อสร้าง สินค้าพื้นเมืองที่ได้รับความนิยมอย่างมากในหมู่นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศอย่างหนึ่ง คือ ร่ม หมู่บ้านที่มีชื่อเสียงในการทำร่มของจังหวัดเชียงใหม่ คือ หมู่บ้านบ่อสร้าง หมู่บ้านทำร่มบ่อสร้างอยู่ในเขตอำเภอสันกำแพง ห่างจากตัวเมืองเชียงใหม่ ตามถนนสายเชียงใหม่-สันกำแพง 9 กิโลเมตร มีทางแยกซ้ายมือเข้าไปอีกประมาณ 500 เมตร นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางชมการทำร่มซึ่งส่วนมากจะทำกันใต้ถุนบ้าน แล้วนำออกมาวางเรียงรายเต็มกลางบ้าน เพื่อผึ่งแดดให้แห้ง ทำให้แลดูสวยงามอย่างยิ่งด้วยสีสันและลวดลายบนร่มนั้นสะดุดตาผู้พบเห็น ร่มที่ผลิตในหมู่บ้านบ่อสร้างนี้มี 3 ชนิดด้วยกัน คือ ร่มที่ทำด้วยผ้าแพร ผ้าฝ้าย และกระดาษสา ซึ่งแต่ละชนิดมีวิธีทำอย่างเดียวกัน ถ้าหากนักท่องเที่ยวประสงค์จะชมขั้นตอนการผลิต เจ้าของบ้านก็จะอธิบายตั้งแต่การทำกระดาษสา ไปจนถึงวาดลวดลายบนร่มให้ชม ทั้งนี้เพราะการทำกระดาษสายังใช้กรรมวิธีเก่าแก่น่าสนใจมาก โดยใช้วิธีง่ายๆ และส่วนใหญ่ทำด้วยมือทั้งสิ้น

สันกำแพง สันกำแพงเป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดเชียงใหม่ มีชื่อเสียงในด้านการทอผ้าไหมและผ้าฝ้าย อยู่ห่างจากตัวเมืองเชียงใหม่ไปทางทิศตะวันออก 13 กิโลเมตร นักท่องเที่ยวที่เดินทางไปเยือนเชียงใหม่ มักจะไปเที่ยวที่อำเภอสันกำแพง เพราะผ้าไหมและผ้าฝ้ายซึ่งทอมาจากอำเภอนี้ มีคุณภาพดี ราคาถูก เหมาะสำหรับเป็นของที่ระลึกแก่เพื่อนฝูงและญาติสนิทมิตรสหาย นอกจากนั้นยังมีโรงงานทอผ้าให้นักท่องเที่ยวได้ชมวิธีการทอ รวมทั้งการเลี้ยงตัวไหมให้ชมด้วย นอกจากนี้ระหว่างเส้นทางจากอำเภอเมืองถึงอำเภอสันกำแพง (ระยะทาง 13 ก.ม.) ยังมีโรงงานและร้านค้าของที่ระลึกเป็นจำนวนมาก เช่น เครื่องไม้แกะสลัก เครื่องเงิน เครื่องเขิน เครื่องหนัง เครื่องปั้นดินเผา และผ้าฝ้าย ให้นักท่องเที่ยวได้ชมและเลือกซื้ออีกด้วย

วัดป่าตึง ตั้งอยู่ในเขตตำบลออนใต้ อำเภอสันกำแพง เดิมเป็นวัดร้าง คู่กับวัดเชียงแสน ก่อนที่จะสร้างวัดนี้ขึ้นมาได้พบพระบรมสารีริกธาตุ และของมีค่ามากมายหลายอย่าง อาทิ วัตถุโบราณ พระพุทธรูป เครื่องถ้วยชามสังคโลก บริเวณวัดมีวัตถุโบราณอยู่ทั่วไป และมีเตาเผาเครื่องถ้วยชามสังคโลกอยู่ด้วย แต่หมดสภาพ เพราะดินยุบไปหมด นอกจากบริเวณวัดแล้ว ตามป่าเขารอบๆ ซึ่งมีเนื้อที่ประมาณ 1,000 ไร่ ก็จะมีเตาเผาสังคโลกอยู่ทั่วไป ชาวบ้านมักพบอยู่เสมอ

น้ำพุร้อนสันกำแพง เป็นสวนดอกไม้ร่มรื่น มีบ่อน้ำแร่ ห้องอาบน้ำและบ้านพัก ได้รับการปรับปรุงโดยความร่วมมือระหว่าง การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยและโครงการหมู่บ้านสหกรณ์สันกำแพง เพื่อให้เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจในเขตอำเภอสันกำแพง การเดินทางจากตัวเมืองไปยังบ่อน้ำพุร้อน ซึ่งอยู่ห่างจากตัวเมืองประมาณ 34 กิโลเมตร สามารถไปได้ 2 ทางด้วยกัน คือ เส้นทางเชียงใหม่-สันกำแพง-สถานีเพาะพันธุ์กล้าไม้สัก-น้ำพุร้อน (เส้นทางนี้จะผ่านถ้ำเมืองคอน ซึ่งอยู่ห่างจากน้ำพุร้อน 4 กิโลเมตร) หรือเส้นทางเชียงใหม่-สันกำแพง-หมู่บ้านออนหลวย-น้ำพุร้อน
หากนักท่องเที่ยวประสงค์จะเดินทางไปโดยรถประจำทางก็สามารถทำได้โดยขึ้นรถจากสถานีขนส่งช้างเผือกไปยังสันกำแพง และเช่าเหมารถสองแถวจากสันกำแพงไปน้ำพุร้อนในราคาประมาณ 200 บาทต่อคัน
ที่น้ำพุร้อนแห่งนี้ยังมีที่พัก เต็นท์ แค้มป์ปิ้ง ห้องอาบน้ำแร่ ไว้บริการนักท่องเที่ยว ซึ่งสามารถติดต่อจองล่วงหน้าได้ที่ ธุรกิจน้ำพุร้อนสันกำแพงหมู่บ้านสหกรณ์ อ.สันกำแพง เชียงใหม่ 50130 หรือ โทร. (01) 510-0418

รุ่งอรุณน้ำพุร้อน เป็นสวนดอกไม้นานาพรรณ ประดับด้วยก้อนหินขนาดใหญ่รูปร่างเหมือนสัตว์ชนิดต่างๆ มีบ่อน้ำแร่อุณหภูมิสูงถึง 105 องศาเซลเซียส มีห้องอาบน้ำแร่และบ้านพัก การเดินทางใช้เส้นทางเดียวกับน้ำพุร้อนสันกำแพง รายละเอียดติดต่อ โทร. (053) 248475 หรือกรุงเทพฯ โทร. 374-0245-8

ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้มีพระราชดำริให้จัดตั้งศูนย์การพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2525 เพื่อศึกษาและพัฒนาด้านการศีกษาที่เหมาะกับบริเวณต้นน้ำลำธารของภาคเหนือ ในด้านการพัฒนาป่าไม้และด้านการเกษตร ในศูนย์แห่งนี้ประกอบด้วย งานศึกษาและพัฒนาแหล่งน้ำ ปศุสัตว์และโคนม การประมง งานปลูกหญ้าแฝก และการดำเนินงานหมู่บ้านรอบบริเวณศูนย์ห้วยฮ่องไคร้ โดยจัดเป็นเขตต่างๆ อย่างสมบูรณ์ เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ และศึกษาเกี่ยวกับนิเวศน์วิทยาได้เป็นอย่างดี การเดินทางใช้เส้นทางเชียงใหม่-เชียงราย ประมาณ 23 กิโลเมตร และเลี้ยวขวาเข้าศูนย์อีกประมาณ 1 กิโลเมตร

เขื่อนแม่กวงอุดมธารา ตั้งอยู่ในเขตหมู่บ้านวังธาร ตำบลลวงเหนือ อำเภอดอยสะเก็ด เป็นโครงการเนื่องมาจากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อปี พ.ศ. 2508 และก่อสร้างเสร็จเมื่อประมาณปี 2535 เขื่อนแม่กวงมีความจุ 263 ล้านลูกบาศก์เมตร ตัวเขื่อนสูง 73 เมตร ยาว 610 เมตร สามารถส่งน้ำทางการเกษตรในท้องที่อำเภอดอยสะเก็ด สันกำแพง และบางส่วนของจังหวัดลำพูน เขื่อนแม่กวงเป็นภาพที่มีทิวทัศน์และลักษณะสวยงามตามธรรมชาติอีกแห่งหนึ่ง การเดินทางสามารถใช้เส้นทางเชียงใหม่-เชียงราย 20 กิโลเมตร และมีป้ายขนาดใหญ่ทางซ้ายมือ เลี้ยวซ้ายเข้าไปเขื่อนอีกประมาณ 6 กิโลเมตร

หนองบัวพระเจ้าหลวง ตั้งอยู่ในเขตตำบลเชิงดอย อำเภอดอยสะเก็ด เป็นหนองน้ำธรรมชาติ มีเนื้อที่ 102 ไร่ แต่เดิมเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงของจังหวัดเชียงใหม่ เนื่องจากมีพื้นที่กว้างขวางกว่านี้มาก และมีนกเป็ดน้ำอาศัยอยู่เป็นจำนวนมากเช่นกัน ปัจจุบันได้รับการพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวอีกครั้งหนึ่ง โดยมีการขุดลอกสระ พร้อมปลูกบัวถึง 54 ชนิด

หมู่บ้านหัตถกรรม  ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคเหนือ ได้มีโครงการที่จะพัฒนาหมู่บ้านหัตถกรรมขึ้นเป็นแหล่งท่องเที่ยวในจังหวัดเชียงใหม่ จำนวน 12 แห่ง
หมู่บ้านศรีปันครัว ต. ท่าศาลา อ. เมืองเชียงใหม่ เป็นหมู่บ้านที่มีชื่อเสียงในการทำไม้ไผ่ขดโครง เครื่องเขิน
หมู่บ้านวัวลาย ต. หายยา อ. เมืองเชียงใหม่ เป็นหมู่บ้านที่มีชื่อเสียงในการทำเครื่องเงิน และเครื่องเขิน
หมู่บ้านเหมืองกุง ต. หนองควาย อ. หางดง เป็นหมู่บ้านที่มีชื่อเสียงในการทำเครื่องปั้นดินเผา
หมู่บ้านร้อยจันทร์ ต. หนองควาย อ. หางดง เป็นหมู่บ้านที่มีชื่อเสียงในการสานฝาลายอ่ำ
หมู่บ้านถวาย ต. ขุนคง อ. หางดง เป็นหมู่บ้านที่มีชื่อเสียงในการทำผลิตภัณฑ์เลียนแบบของเก่า
หมู่บ้านกวนหารแก้ว ต. หารแก้ว อ. หางดง เป็นหมู่บ้านที่มีชื่อเสียงในการทำเครื่องปั้นดินเผา
หมู่บ้านหนองอาบช้าง ต. สบเตี๊ยะ อ. จอมทอง เป็นหมู่บ้านที่มีชื่อเสียงในการทำผ้าฝ้ายทอมือย้อมสีธรรมชาติ
หมู่บ้านดอนแก้ว ต. ดอนแก้ว อ. สารภี เป็นหมู่บ้านที่มีชื่อเสียงในการสานคุ
หมู่บ้านป่าบง ต. ป่าบง อ. สารภี เป็นหมู่บ้านที่มีชื่อเสียงในการจักสาน
หมู่บ้านต้นเปา ต. ต้นเปา อ. สันกำแพง เป็นหมู่บ้านที่มีชื่อเสียงในการทำกระดาษสา
หมู่บ้านบ่อสร้าง ต. ต้นเปา อ. สันกำแพง เป็นหมู่บ้านที่มีชื่อเสียงในการทำร่ม พัด ไม้แกะสลัก
หมู่บ้านต้นผึ้ง ต. ต้นเปา อ. สันกำแพง เป็นหมู่บ้านที่มีชื่อเสียงในการทำร่ม ไม้แกะสลัก