วิตามิน Q โคเอนไซม์ Q10

  • Tab 1
  • Tab 2
  • Tab 3

ปัจจุบันนี้ ทุกท่านคงได้ยินคำว่า คิวเท็น และได้เห็นคำว่า Q10 กันอยู่บ่อย ๆ ทั้งในโทรทัศน์ วิทยุตามสื่อโฆษณาต่าง ๆ หรือแม้แต่ในห้างสรรพสินค้าที่มีเครื่องสำอาง ซึ่งมี Q10 เป็นส่วนประกอบ แต่ทราบหรือเปล่าว่าจริง ๆ แล้วในร่างกายของคนเราก็มี Q10 นี้เหมือนกัน อีกทั้งไม่เฉพาะผลิตภัณฑ์ ความสวยความงามหรือเครื่องสำอางเท่านั้นที่ใช้ Q10 แต่ยังมีการนำ Q10 มาใช้เป็นอาหารเสริมบำรุง ร่างกายอีกด้วย มาเริ่มทำความรู้จัก Q10 กันก่อนดีกว่า ว่าคืออะไร แล้วมีความสำคัญต่อร่างกายของ คนเราอย่างไร

Q10 มีชื่อเรียกมากมายไม่ว่าจะเป็น Co-enzyme Q10 หรือ CoQ10 หรือ Ubiquinone หรือ Ubiquinole หรือ Ubidecarenone หรือ Ubiquitous หรือ Coenzyme quinone มีชื่อเรียกทาง เคมีว่า "2, 3-dimethoxy-5-methyl-6-decaprenyl benzoquinone" น้ำหนักโมเลกุลเท่ากับ 863.36 และมีสูตรเป็น C59H90O4 มีสูตรโครงสร้าง คือ

มีการค้นพบ CoQ10 ครั้งแรกในปี ค.ศ.1957 จากการแยกมาจาก ส่วนไมโตคอนเดรีย (mitochondria) ของหัวใจวัว โดย Dr. Frederick Crane จากประเทศสหรัฐอเมริกา โดยแยกออกมาได้ใน รูปของผงละเอียดสีส้ม ในปีเดียวกัน Professor Morton ได้ให้ชื่อสารดังกล่าวว่า "Ubiquinone" ซึ่งหมายถึง Ubiquitous quinone

ในปี ค.ศ.1958 Professor Karl Folkers และคณะได้พบสูตรโครงสร้างของ CoQ10 (ดังแสดงข้างบน) และทำการสังเคราะห์ CoQ10 โดยครั้งแรกสามารถสังเคราะห์ได้โดยใช้กระบวนการหมัก (fermentation) หลังจากนั้น CoQ10 ก็เริ่มเป็นที่สนใจ และมีการศึกษาเกี่ยวกับ รายละเอียดเพิ่มมากขึ้น จากการศึกษาเกี่ยวกับรายละเอียดเพิ่มมากขึ้นทำให้ทราบว่า CoQ10 เป็นสารที่ร่างกายสามารถผลิต ได้เอง โดยธรรมชาติและมีความจำเป็นต่อร่างกาย CoQ10 เป็นสารประกอบคล้ายวิตามินที่มีคุณสมบัติ ในการละลายในไขมัน (fat-soluble vitamin-like substance) พบในเซลล์ทุกเซลล์ที่มีชีวิตในร่างกาย โดยจะอยู่ที่ส่วนเยื่อหุ้ม (membrane) ของไมโตคอนเดรีย ซึ่งไมไตคอนเดรียนี้ทำหน้าที่ในการผลิตพลังงาน ให้กับเซลล์โดยพลังงาน ดังกล่าวอยู่ในรูป ATP(adenosine triphosphate) ซึ่งเป็นพลังงานพื้นฐานของ เซลล์ พบ CoQ10 มากในอวัยวะ ที่ต้องการพลังงานสูง ซึ่งจะมีจำนวนไมโตรคอนเดรียมาก เช่น หัวใจ ตับ กล้ามเนื้อ สมอง ส่วนอวัยวะอื่น ๆ ก็พบ CoQ10 เช่นกันแต่พบค่อนข้างน้อยเนื่องจากอวัยวะดังกล่าวต้อง การพลังงานน้อยจึงมีจำนวนไมโตคอนเดรียน้อยด้วย CoQ10 ที่ผลิตในร่างกายนี้ สังเคราะห์มาจากกรดอะมิโนชื่อ ไทโรซีน (tyrosine) และฟีนิลอะลานีน (phenylalanine) โดยกรดอะมิโนทั้ง 2 ตัวนี้ จะสร้างส่วนวงแหวนควิโนน (quinone ring) ส่วนสายยาว (side chain) สร้างมาจากอะซีติลโคเอ(acetyl CoA) โดยอาศัยกระบวนการภายในร่างกายหลายขั้นตอน ร่วมกันกับวิตามิน 7 ชนิด คือ วิตามินบี 2 (riboflavin) วิตามินบี 3 (niacinamide) วิตามินบี 6 กรดโฟลิก (folic acid)วิตามินบี 12 วิตามินซีและกรดแพนโททีนิก (pantothenic acid) โดย CoQ10 ที่ร่างกาย สังเคราะห์ขึ้นนี้จะทำหน้าที่เป็นเอนไซม์หลัก (key enzyme) ในวงจรเครป หรือวงจรกรดซิตริก (Kreb's or Citric acid cycle) ซึ่งเป็นกระบวนการที่ทำการเปลี่ยนแปลงอาหารพวกคาร์โบไฮเดรตและไขมันให้อยู่ในรูป ของพลังงานที่ ร่างกายสามารถนำไปใช้ได้ โดยหน้าที่ของเอนไซม์โดยทั่วไป ก็คือจะเข้าไปช่วยเร่งปฏิกิริยา ภายใน ร่างกาย โดยที่ตัวของเอนไซม์เองไม่ถูกทำลาย หรือถูกเปลี่ยนแปลงเมื่อปฏิกิริยาดังกล่าวสิ้นสุดลง เนื่องจาก CoQ10 มีหน้าที่สำคัญในกระบวนการ ที่สร้างพลังงานให้กับร่างกาย ดังนั้นเมื่อระดับของ CoQ10 มีการเปลี่ยนแปลงไปก็จะส่งผลกระทบต่อระบบต่าง ๆ ของร่างกาย จึงส่งผลให้มีผู้สนใจนำ CoQ10 มาศึกษาในการใช้เป็นอาหารเสริมร่วมกับการรักษาโรคต่าง ๆ เช่น โรคเกี่ยวกับหัวใจและ หลอดเลือด โรคเกี่ยวกับเหงือก ฯลฯ

นอกจากนี้ ยังนำมาผลิตในรูปเครื่องสำอางเพื่อใช้ในการลด ริ้วรอย ชะลอการเสื่อมของเซลล์ผิวหนังจากแสงแดด (photoaging)

Professor Yamamura แห่งประเทศญี่ปุ่น เป็นบุคคลแรกที่สนใจและนำ CoQ10 มาใช้รักษา ผู้ป่วยโรคหัวใจล้มเหลว (congestive heart failure) และพบว่าเมื่อผู้ป่วยได้รับ CoQ10 เข้าไปแล้ว มีอาการดีขึ้น เนื่องจากมีการศึกษาพบว่าผู้ป่วยที่เป็น โรคหัวใจจะมีปริมาณของ CoQ10 ลดลง ดังนั้นเมื่อ ได้รับ CoQ10 เข้าไป ก็จะทำให้ระดับ CoQ10 ในร่างกายเป็นปกติ ร่างกาย ก็จะสามารถสร้างพลังงาน จากเซลล์กล้ามเนื้อหัวใจได้ จึงทำให้มีผู้สนใจศึกษาเพิ่มเติมมากขึ้นและใช้ CoQ10 เป็นอาหารเสริม ในผู้ป่วยโรคเกี่ยวกับหัวใจและหลอดเลือด เช่น โรคหัวใจล้มเหลว (congestive heart failure) โรคเกี่ยวกับกล้ามเนื้อหัวใจ (heart muscle disease) โรคเจ็บหน้าอก (angina pectoris) ความ ดันโลหิตสูง (hypertension)

นอกเหนือจากเป็นอาหารเสริมที่ทำให้ระดับ CoQ10 เป็นปกติแล้ว จากการศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมจากหลายการวิจัยยังพบว่า CoQ10 มีฤทธิ์เป็น สารต้านออกซิเดชั่น (antioxidant) ป้องกันกล้ามเนื้อหัวใจถูกทำลาย เพิ่มประสิทธิภาพในการสูบฉีดโลหิตของหัวใจ (enhances the heart's pumping system) และทำให้หัวใจนำก๊าซออกซิเจนไปใช้งานได้มากขึ้น (improving oxygen intake) อีกด้วย นอกจากการศึกษาการใช้ CoQ10 เป็นอาหารเสริม ในผู้ป่วยโรคเกี่ยวกับหัวใจและหลอดเลือดแล้ว ยังเริ่มมีการศึกษาเพิ่มเติมในผู้ป่วยโรคมะเร็ง ธัยรอยด์เป็นพิษ เอดส์ เนื่องจากโรคดังกล่าวมีความต้องการ พลังงานให้กับร่างกายเพิ่มมากขึ้นจึงน่าจะมีความต้องการ CoQ10 เพิ่มมากขึ้นในกระบวนการสร้าง พลังงานแต่ใน 3 โรค ดังกล่าวเป็นการคาดว่า น่าจะทำให้อาการดีขึ้น เมื่อได้รับ CoQ10 เข้าไปเท่านั้น แต่ ยังไม่มีข้อมูลและการศึกษาวิจัยเพิ่มเติม ยืนยันอย่างแน่ชัดว่า มีประโยชน์จริงหรือไม่ ดังนั้นต้องอาศัยเวลา ในการศึกษาวิจัยเพิ่มเติมเพื่อดูผลความเป็นไปได้ในการนำมาใช้ต่อไป

CoQ10 นอกจากสังเคราะห์ขึ้นจากร่างกายมนุษย์แล้ว ในสัตว์และพืชบางชนิดก็เป็นแหล่งอุดมของ CoQ10 เช่นกัน เช่น หัวใจ ตับ ไตของสัตว์ เนื้อสัตว์ รำข้าว ผลิตภัณฑ์จากถั่ว ปลาซาร์ดีน ปลาแมคเคอเรล ปลาแซลมอน ฯลฯ ส่วน CoQ10 ในรูปแบบของอาหารเสริมที่มีจำหน่ายนั้น ก็มีหลากหลายรูปแบบไม่ว่าเป็น รูปแบบยาเม็ด หรือยาแคปซูล ปริมาณของ CoQ10 ที่มีในยาเม็ดหรือยาแคปซูลก็มีขนาดแตกต่างกันแล้ว แต่บริษัทที่ผลิต แต่วิธีการรับประทานอาหารเสริม CoQ10 เพื่อให้ได้รับประโยชน์สูงก็คือ การรับประทาน อาหารเสริมดังกล่าวร่วมกับอาหารที่มีไขมัน เพื่อเป็นการเพิ่มการดูดซึมของ CoQ10 ให้อาหารเสริมเข้าสู่ ร่างกายมากขึ้น เนื่องจากคุณสมบัติของ CoQ10 คือ ละลายได้ดีในไขมัน สิ่งสำคัญที่อยากแนะสำหรับผู้ที่ รับประทานอาหารเสริม CoQ10 มี 2 ประการคือ

ประการแรก ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อน ให้อาหารเสริมนี้เพื่อควบคุมให้ได้ปริมาณของ CoQ10 ในอาหารเสริมพอเหมาะกับความต้องการของ ร่างกาย
ประการที่สอง คือ ควรรับประทานอาหารเสริม CoQ10 ร่วมกับยาที่ใช้ในการรักษาโรคดังกล่าว เนื่องจากตัว CoQ10 เองไม่ได้มีฤทธิ์โดยตรง ในการรักษาเช่นเดียวกับยาที่ใช้ในการรักษาโรคอยู่ แต่ CoQ10 เพียงแค่ทำให้อาการต่าง ๆ ดีขึ้นเท่านั้น การที่จะหยุดยาที่ใช้ ในการรักษาโรคแล้ว รับประทาน CoQ10 เพียง อย่างเดียวอาจไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ก็ได้

นอกเหนือจากการนำ CoQ10 มาเป็นอาหารเสริมแล้วยังมีผู้สนใจในฤทธิ์เป็นสารต้านออกซิเดชั่น (antioxidant) และเป็นสารธรรมชาติที่ร่างกายมนุษย์ สามารถสังเคราะห์ขึ้นได้เองของ CoQ10 มาใช้ในทาง เครื่องสำอางสำหรับลดการเกิดริ้วรอย ชะลอการเสื่อมของเซลล์ผิวหนังจากแสงแดด (photoaging) กล่าว คือ ผิวหนังจะมีหน้าที่ในการป้องกันสารพิษ เชื้อโรค และรังสีอุลตราไวโอเลต (ultraviolet) จากแสงอาทิตย์ โดยรังสีอุลตราไวโอเลต (UV) มี 2 ชนิด คือ UVA และ UVB แต่ที่เกี่ยวข้องกับริ้วรอยจะเป็นรังสี UVA โดย UVA สามารถทะลุผ่านชั้นผิวหนังถึงชั้นหนังแท้ และจะเริ่มต้นในการผลิตอนุมูลอิสระ (free radical) ซึ่งอนุมูลอิสระดังกล่าวนี้ผลิตจากกระบวนการออกซิเดชั่น (oxidation) และอนุมูลอิสระที่เกิดขึ้นนี้ก็จะทำ อันตรายต่อไขมัน โปรตีนและสารพันธุกรรม (DNA) ในเซลล์ผิวหนัง ทำให้เกิด ริ้วรอยและหมองคล้ำได้ แต่ร่างกายก็จะมีกระบวนการป้องกันอันตรายจากอนุมูลอิสระดังกล่าว โดยกระบวนการทางธรรมชาติ กล่าวคือที่ผิวหนังจะ มีสารที่มีคุณสมบัติเป็น สารต้านออกซิเดชั่น (antioxidant) เช่น วิตามินอี วิตามินซี CoQ10 โดยสารที่มีฤทธิ์ antioxidant ดังกล่าวจะป้องกันไม่ให้เกิดกระบวนการออกซิเดชั่น ที่จะทำให้เกิด อนุมูลอิสระ ซึ่งจะทำอันตรายต่อผิวหนัง

งานวิจัยที่ศึกษาเกี่ยวกับผลของ CoQ10 ต่อการลดริ้วรอยว่าสามารถทำให้ความลึกของริ้วรอย ลดลงนั้น หมายถึงว่า ทำให้ริ้วรอยตื้นขึ้นได้ โดยทำการทดลองเป็นระยะเวลา 6 เดือน กล่าวคือ ให้กลุ่ม ทดลองใช้ครีมที่มีส่วนผสมของ CoQ10 อยู่ 0.3% ทารอบดวงตาเป็นเวลา 6 เดือน พบว่า ความลึกของริ้วรอยลดลง 27% เมื่อเปรียบเทียบกลุ่มทดลองกับกลุ่มควบคุมซึ่งไม่ได้ใช้ครีมที่มีส่วนผสม ของ CoQ10 อยู่ และยังมีอีกหลายงานวิจัยที่พบว่า CoQ10 สามารถลดรอยลึกของริ้วรอยได้แต่ผล ดังกล่าวจะเกิดขึ้นได้ จะต้องมีการใช้ครีมซึ่งมีส่วนผสมของ CoQ10 อย่างต่อเนื่องดังนั้นสำหรับผู้ที่สนใจ ใช้ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่มี CoQ10 เพื่อต้องการลดริ้วรอยที่เกิดขึ้นจะต้องพิจารณาว่า สภาพผิว ของตนเองเป็นอย่างไร ผิวแห้งหรือผิวมัน หรือผิวธรรมดาเพื่อจะได้เลือกเครื่องสำอางให้เหมาะกับ สภาพผิว อีกทั้งต้องพิจารณาว่า ความลึกของริ้วรอยมากน้อยแค่ไหน เพื่อใช้ประกอบการพิจารณาว่า ต้องมีการ ใช้ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวเป็นระยะเวลายาวนานเท่าใด จากผลงานวิจัยพบว่า CoQ10 สามารถลดความลึก ของริ้วรอยได้เมื่อใช้ต่อเนื่องกันเป็นเวลานาน แต่ไม่ได้หมายความว่า จะสามารถทำให้ริ้วรอยดังกล่าวตื้นขึ้นมา ได้ครบ 100% หรือทำให้ริ้วรอยที่เกิดขึ้นหายไปเลย CoQ10 เพียงแต่ทำให้ความลึกของริ้วรอย ลดลงเท่านั้น เนื่องจากตามธรรมชาติแล้ว ผิวหนังย่อมมีการเสื่อมตามอายุขัยอยู่แล้ว แต่การใช้เครื่องสำอาง ร่วมด้วยเพียงทำให้การเสื่อมของผิวหนังชะลอลงเท่านั้น ไม่ใช่ว่าจะไม่ทำให้เกิดการเสื่อมของผิวหนังเลย ดังนั้นต้องมีการชั่งใจพิจารณาถึงข้อดี-ข้อเสีย เปรียบเทียบกับราคาของผลิตภัณฑ์เพื่อให้ได้รับประโยชน์ คุ้มค่ากับเงินที่สูญเสียไป

นอกจากนี้ยังต้องพิจารณาความไวต่อการแพ้ด้วยกล่าวคือ ถึงแม้ว่า CoQ10 จะเป็นสารที่มีอยู่ในร่างกายอยู่แล้ว และมีโอกาสแพ้ค่อนข้างน้อยก็ตาม แต่กับบางบุคคลก็อาจมีโอกาส เกิดการแพ้ได้เช่นกัน ดังนั้นควรทดสอบอาการแพ้ก่อน โดยทาเครื่องสำอางหรือผลิตภัณฑ์ความงามไว้หลัง ติ่งหู หรือบริเวณข้อพับ ทิ้งไว้ประมาณ 24 ชั่วโมง ถ้าไม่มีอาการแพ้ก็แสดงว่า สามารถใช้ได้แต่กับบางบุคคล อาจไม่เกิดการแพ้ ตั้งแต่เริ่มแรกแต่อาจเกิดอาการแพ้หรือคันเรื้อรัง เมื่อใช้ผลิตภัณฑ์ไปได้ระยะหนึ่ง ทางที่ดี ก็คือถ้าพบว่าแพ้ก็ควรหยุดใช้เครื่องสำอางนั้นทันที CoQ10 เป็นสารที่ร่างกายสามารถสังเคราะห์ได้เอง มีการศึกษาวิจัยเพื่อนำมาใช้ประโยชน์ มากมายทั้งทางด้านอาหารเสริมและเครื่องสำอาง ทำให้คาดว่าในอนาคตน่าจะมีการศึกษาวิจัยเพิ่มเติม เกี่ยวกับสารที่ร่างกายสามารถสังเคราะห์ขึ้นได้เองมาใช้ประโยชน์เพิ่มมากขึ้นไม่ว่าเป็นสาร CoQ10 เองหรือสารอื่น ๆ ที่มีในร่างกายทั้งที่มีการค้นพบแล้วหรือยังไม่ได้ค้น พบ เพื่อเป็นการลดอาการแพ้และลด อาการข้างเคียงที่จะเกิดขึ้นอย่างมาก ถ้าใช้สารเคมีสังเคราะห์ที่มีลักษณะแตกต่างจากสารที่ร่างกายมีอยู่ตามธรรมชาติ

เอกสารอ้างอิง
1. U. Hoppe. and G. Sauermann. Coenzyme Q10 - a cutaneous antioxidant and
energizer. Kosmetische Medizin. 1999; 20(1).
2. U. Hoppe., R. Lunderstadt. and G. Sauermann. Quantitive analysis of the skin's
surface by mean of digital signal processing. Journal of the Society of Cosmetic Chemists. 1985; 36: 105-123.
3. http://www.sph.uth.tmc.edu/utcam/summary/CoQ10.html
4. http://www.energywave.com/ CoQ10html
5. http://wwwcsi.union.it/coenzymeQ/article.html

Source : ปิยพร ทองไสว วิจัยมาตรฐานสมุนไพร
โค-คิว 10 เป็นสารคล้ายวิตามิน มีโครงสร้างคล้ายวิตามินละลายในไขมัน และทำหน้าที่เป็นตัวช่วยเอนไซม์ที่มีอยู่ในกลุ่มเอนไซม์หลายตัวของไมโตคอนเด รีย ที่ทำหน้าที่เปรียบเสมือนตัวก่อเกิดพลังงานให้เซลล์ เพราะฉะนั้นเซลล์ที่ต้องทำงานมาก หรือใช้พลังงานสูง เช่น เซลล์กล้ามเนื้อหัวใจ (Cardiac Myocyte) จึงต้องใช้โค-คิว 10 มาก
       
       นอกจากนี้ โค-คิว 10 ยังทำหน้าที่เป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่ทรงพลัง และทำหน้าที่อีกหลายอย่าง ช่วยทำให้การไหลของผนังเซลล์ดีขึ้น ลดความหนืดของเลือด มีงานวิจัยที่บ่งชี้ชัดว่า กล้ามเนื้อหัวใจที่บีบตัวไม่ดีในภาวะหัวใจล้มเหลวนั้น สัมพันธ์โดยตรงกับปริมาณการขาดโค-คิว 10 ทั้งในเลือดและกล้ามเนื้อหัวใจ การได้รับ โค-คิว 10 จากภายนอกโดยผ่านอาหารเสริม จะไปช่วยเซลล์ที่ขาดโค-คิว 10 ในการเข้าไปประกอบในไมโตคอนเดรียของเซลล์นั้น (ข้อมูลจากหนังสือ “รู้สู้โรค” ของ ศ.นพ.เฉลียว ปิยะชน, สำนักพิมพ์สุขภาพใจ, พ.ศ. 2552)
       
       เนื่องจากเป็นตัวช่วยให้เกิดพลังงานภายในเซลล์ โค-คิว 10 จึงมีประโยชน์มาก เมื่อได้รับเป็นอาหารเสริม จะช่วยป้องกันและบำบัดโรคความเสื่อมเรื้อรังเกือบจะทุกโรคได้ เพราะ โค-คิว 10 จะช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกัน เพิ่มการไหลเวียนของเลือด มีผลต่อต้านการแก่ชรา ใช้ในการรักษาภาวะหัวใจล้มเหลว เลือดคั่ง มีประโยชน์ในการรักษามะเร็ง เอดส์ โรคภูมิแพ้ เบาหวาน ฯลฯ โดยรวมช่วยให้เซลล์ทุกชนิด ทำหน้าที่เต็มที่จึงใช้ได้ในทุกกรณี
       
       นายแพทย์เฉลียว ปิยะชน บอกว่า ในญี่ปุ่นแพทย์ให้ผู้ป่วยมากกว่า 12 ล้านคน รับประทานโค-คิว 10 เป็นอาหารเสริม เพื่อรักษาโรคหัวใจ (กล้ามเนื้อหัวใจทำงานไม่ดี หัวใจล้มเหลว) หรือทำให้กล้ามเนื้อหัวใจแข็งแรง แต่เป็นเรื่องที่แปลกมาก เพราะเท่าที่นายแพทย์เฉลียวทราบ แพทย์ในประเทศไทยเกือบจะไม่ใช้โค-คิว 10 กันเลย แม้แต่ในโรงเรียนแพทย์ แต่ที่ผู้ป่วยใช้กันเองนั้นมีพอสมควร อนึ่ง แหล่งของโค-คิว 10 นั้น มีในปลาโอ ปลาแซลมอน เนื้อวัว ถั่วลิสง และผักขม
       
       เวย์น เป็นเพื่อนของนายแพทย์เรย์มาตั้งแต่สมัยเด็ก ทั้งคู่เติบโตมาด้วยกัน ในตอนหนุ่ม เวย์นเป็นนักกีฬาที่มีสมรรถภาพทางร่างกายที่ดีมาก แต่เมื่อเวย์นย่างเข้าสู่วัยกลางคน เขามีอาการหัวใจเต้นรุนแรงและเร็วผิดปกติ ทำให้เขาเหนื่อยล้า มีอาการเคลื่อนไหวที่อ่อนแรงดูปวกเปียก เมื่อเวย์นไปโรงพยาบาลให้ผู้เชี่ยวชาญทางด้านหัวใจและหลอดเลือดตรวจดูอาการ ผลจากการเอกซเรย์พบว่า หัวใจของเวย์นมีขนาดใหญ่ขึ้นผิดปกติ เมื่อศึกษาหัวใจของเวย์นด้วยคลื่นเสียง ผลที่ออกมาเป็นที่น่าตกใจว่า ความแข็งแรงในการเต้นของหัวใจของเวย์นมีค่าเพียง 17% เท่านั้น โดยที่ค่าความแข็งแรงของการเต้นของหัวใจปกตินั้น มีค่าอยู่ระหว่าง 50-70% สถานการณ์ของเวย์นถือว่าอยู่ในขั้นวิกฤต
       
       แม้ผู้เชี่ยวชาญได้ตรวจพบว่า หลอดเลือดหัวใจของเวย์นเป็นปกติ แต่หัวใจของเวย์นนั้น กำลังประสบกับภาวะบาดเจ็บ เพราะติดเชื้อไวรัสชนิดหนึ่ง ทำให้เวย์นเป็นโรค Cardiomyopathy (โรคกล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแอขั้นวิกฤต หรือโรคกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ) ผู้เชี่ยวชาญได้สั่งยาให้แก่เวย์น และให้การรักษาแก่เวย์นด้วยหลายวิธีการเพื่อทำให้หัวใจของเขามีความแข็งแรง ขึ้น แต่อาการที่ดีขึ้นเล็กน้อยของเวย์น เป็นแค่ระดับที่สูงที่สุดเท่าที่ร่างกายของเวย์นในตอนนั้นจะทำได้ หัวใจของเวย์นยังเต็มไปด้วยเลือดที่จับตัวเป็นก้อน และยังมีอาการเต้นของหัวใจที่ผิดปกติอยู่ วิธีการรักษาทางเลือกสุดท้ายที่เหลืออยู่คือ การส่งตัวเวย์นไปเข้าคิวรอการผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจเท่านั้น
       
       แต่เวย์นไม่ต้องการผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจ และตัดสินใจทดลองรักษาตามแนวทางการแพทย์เชิงโภชนาการของนายแพทย์เรย์แทน หลังจากที่เวย์นได้ทานอาหารเสริมต้านอนุมูลอิสระ โดยเฉพาะโคเอนไซม์คิว 10 (โค-คิว 10) อย่างต่อเนื่องทุกๆ วัน ภายในเวลาเพียงสี่เดือน หลังจากนั้น ค่าความแข็งแรงในการเต้นของหัวใจของเวย์นได้กลับมาอยู่ในค่าปกติที่ 51% และสามารถออกกำลังกายได้บ้างแล้ว แน่นอนว่า หัวใจของเวย์นยังไม่ได้หายจากโรคนี้โดยสิ้นเชิง เขายังคงเป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแออยู่ แต่การบริโภคสารอาหารโคเอนไซม์คิว 10 เข้าไปได้เข้าไปเติมพลังให้แก่หัวใจของเวย์นจนสามารถชดเชยกับภาวะผิดปกติที่ เป็นอยู่ได้
       
       อันที่จริง หัวใจไม่ได้เป็นอวัยวะที่มีความซับซ้อน มันเป็นเพียงกล้ามเนื้อธรรมดาที่ทำหน้าที่สูบฉีดเลือดไปยังส่วนต่างๆ ของร่างกาย โรคหัวใจล้มเหลวและกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ จึงเป็นโรคที่เกี่ยวกับกล้ามเนื้อหัวใจ โรคหัวใจล้มเหลวจากสภาวะเลือดคั่ง และกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบสามารถเกิดขึ้นจากหลายสาเหตุ อาทิ ความดันโลหิตสูง การติดเชื้อไวรัส เป็นต้น
       
       นายแพทย์เรย์ บอกว่า มีงานวิจัยที่ระบุว่า โค-คิว 10 มีความสัมพันธ์โดยตรงระหว่างความรุนแรงของการล้มเหลวของหัวใจ และความสัมพันธ์ของการลดลงของโค-คิว 10 ไม่แต่เท่านั้น การลดลงของปริมาณโค-คิว 10 ที่สำคัญจะพบได้กับโรคเกี่ยวกับเยื่อหุ้มฟัน มะเร็ง และโรคเบาหวานอีกด้วย
       
       การขาดสารโค-คิว 10 อาจเป็นผลมาจากหลายเงื่อนไข เช่น การขาดสารอาหาร ความไม่สมบูรณ์ของร่างกายในการสังเคราะห์โค-คิว 10 และ/หรือการใช้โค-คิว 10 ของร่างกายที่มากเกินไป สารโค-คิว 10 จึงเป็นอาหารเสริมที่มีประโยชน์อย่างยิ่งในการรักษาผู้ป่วยที่เป็นโรคหัวใจ แม้ว่ามันอาจไม่ได้รักษาโรคหัวใจให้หายขาดก็ตาม แต่มันสามารถช่วยสกัดกั้นไม่ให้กระบวนของโรคหัวใจให้เลวร้ายลงไปกว่าเดิม
       
       จะเห็นได้ว่า เมื่อกล้ามเนื้อหัวใจเกิดภาวะความอ่อนแอ มันย่อมต้องการอาหารบำรุงเซลล์หัวใจเพื่อผลิตพลังงาน การใช้สารเหล่านั้นจนมากเกินไป ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจสูญเสียโค-คิว 10 ในร่างกายซึ่งเป็นสารอาหารที่สำคัญที่สุดในการสร้างพลังงาน เพราะฉะนั้น เมื่อผู้ป่วยเป็นโรคหัวใจได้รับสารอาหารนี้เป็นอาหารเสริม กล้ามเนื้อหัวใจที่อ่อนแอของผู้ป่วยจึงสามารถกลับมาทำงานได้ดีขึ้น สามารถสร้างพลังงานได้มากขึ้น และสามารถชดเชยส่วนที่อ่อนแอไปได้
วงการแพทย์และนักวิทยาศาสตร์ในปัจจุบันให้ความสำคัญกับโคเอนไซม์ Q10 ว่าสามารถป้องกัน โรคหัวใจ โรคอัลไซเมอร์ และช่วยชะลอความชราได้ ด้วยเหตุนี้มันจึงได้ชื่อว่า วิตามิน Q

โคเอนไซม์ Q10 เป็นสารที่อยู่ในเซลล์ร่างกาย ในส่วนที่เรียกว่า ไมโตคอนเดรีย ซึ่งเป็นแหล่งสร้างพลังงานให้แก่เซลล์ โคเอนไซม์ Q10 จะทำหน้าที่ร่วมกับเอนไซม์ ช่วยให้ปฏิกิริยาเคมีของการสร้างพลังงานให้แก่เซลล์ดำเนินไปได้ หากขาดโคเอนไซม์ Q10 พลังงานในร่างกายจะขาดไปถึง 80%

โคเอนไซม์ Q10 พบได้มากในเซลล์กล้ามเนื้อหัวใจ เนื่องจากจำเป็นมากสำหรับอวัยวะที่ต้องทำงานหนักและต้องใช้พลังงานมากเป็นพิเศษ เช่น หัวใจ รวมถึง ตับและไต

แม้จะมีการค้นพบว่า โคเอนไซม์ Q10 มีความสำคัญต่อร่างกาย แต่ก็ยังไม่สามารถอธิบายการทำงานของมันได้อย่างชัดเจน อย่างไรก็ตามจาก การวิจัยของนักวิทยาศาสตร์พบว่า โคเอนไซม์ Q10 ทำหน้าที่เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ คล้ายกับวิตามินอี โดยมันจะช่วยป้องกันไม่ให้อนุมูลอิสระ เข้าทำลายโมเลกุลไขมันในเซลล์ จึงช่วยรักษาผนังเซลล์ให้คงสภาพอยู่ได้

วิตามิน Q ป้องกันโรคหัวใจ
การศึกษาเรื่องโคเอนไซม์ Q10 แต่เดิมจะมุ่งเน้นไปที่ประสิทธิภาพในการรักษาโรคและการกระตุ้นภูมิต้านทานโรค แต่ปัจจุบันสิ่งที่น่าสนใจคือ การออกฤทธิ์ต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด

ผลการศึกษาของมหาวิทยาลัยบอสตัน สหรัฐอเมริกา พบว่า โคเอนไซม์ Q10 จะช่วยยับยั้งไม่ให้คอเลสเตอรอลจับตัวเป็นก้อนแข็งในหลอดเลือด ซึ่งวิตามินอีและเบต้าแคโรทีนไม่สามารถเทียบได้ จึงช่วยลดปัญหาหลอดเลือดแข็งและการอุดตันของหลอดเลือดแดงที่ไปเลี้ยงหัวใจ

นอกจากนี้ยังพบว่า โคเอนไซม์ Q10 ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจ ป้องกันกล้ามเนื้อหัวใจทำงานล้มเหลว ที่เรียกว่า Cardiomyopathy ซึ่งเป็นโรคที่ต่อเนื่องจากหลอดเลือดแดงตีบตัน ทำให้เลือดไปเลี้ยงหัวใจได้น้อยลง หัวใจจึงต้องทำงานหนักขึ้น จนเกิดภาวะหัวใจโต ขนาดของหัวใจขยายใหญ่ขึ้น แต่ประสิทธิภาพการทำงานกลับลดลง กล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแรง สูบฉีดโลหิตได้น้อยลงกว่าเดิม ทำให้เลือดไปเลี้ยงหัวใจได้ไม่เต็มที่ เกิดอาการอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย ไม่มีแรง และเป็นอันตรายถึงชีวิตได้

วิตามิน Q ป้องกันโรคอัลไซเมอร์
อัลไซเมอร์เป็นกลุ่มอาการเสื่อมของสมองที่เกิดขึ้นได้ในผู้สูงอายุ การแพทย์ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดของโรค แต่คาดว่าเซลล์สมองเกิด อาการเสื่อมถอยเพราะถูกทำลายจากอะไรบางอย่าง

ดร.เดนแฮม ฮาร์แมน แห่งมหาวิทยาลัยเนบราสกา สหรัฐอเมริกา เชื่อว่าโคเอนไซม์ Q10 มีส่วนช่วยป้องกันโรคอัลไซเมอร์ได้ โดยจะปกป้องไมโตคอนเดรียให้รอดพ้นจากการโจมตีของอนุมูลอิสระ ซึ่งมีเพียงโคเอนไซม์ Q10 และสารอีกไม่กี่ตัวที่สามารถเข้าไปถึงไมโตคอนเดรีย และคอยปกป้องแหล่งพลังงานที่สำคัญที่สุดของเซลล์ได้

แหล่งวิตามิน Q
อาหารที่มีโคเอนไซม์ Q10 ได้แก่ ปลาทะเลน้ำลึก เช่น ปลาซาร์ดีน ปลาแมคเคอเรล ปลาทูน่า เครื่องในสัตว์ เฉพาะส่วนหัวใจและตับ ส่วนในพืชจะพบได้บ้างในถั่วลิสง และน้ำมันถั่วเหลือง

นอกจากนี้ ร่างกายยังสามารถสร้างโคเอนไซม์ Q10 ขึ้นมาได้เอง อย่างไรก็ตาม เมื่ออายุ 20 ปีขึ้นไปร่างกายจะผลิตโคเอนไซม์ Q10 ได้น้อยลงเรื่อยๆ เมื่อถึงวัยกลางคนจึงมักจะขาดโคเอนไซม์ Q10

การรับประทานอาหารที่อุดมไปด้วยวิตามินอีและซีลีเนียม สามารถกระตุ้นให้ร่างกายสร้างโคเอนไซม์ Q10 ได้ อาหารที่มีวิตามินอี เช่น น้ำมันพืชชนิดต่างๆ อาหารที่มีซีลีเนียม ได้แก่ อาหารทะเล ข้าวกล้อง เป็นต้น

ความต้องการวิตามิน Q
วิตามินทั้งหลายที่ร่างกายต้องการนั้นมีอยู่ครบถ้วนแล้วในอาหาร แต่คนจำนวนไม่น้อยที่ขาดวิตามินด้วยเหตุผลหลายประการ เช่น การเลือกรับประทานอาหาร ไม่รับประทานผักผลไม้ รับประทานอาหารไม่ครบ 5 หมู่ รับประทานอาหารที่ไม่มีคุณภาพ การปรุงอาหารผิดหลักโภชนาการ การดูดซึมผิดปกติเนื่องจากเป็นโรคบางอย่าง หรือการรับประทานยาบางชนิด

ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าร่างกายคนเราต้องการโคเอนไซม์ Q10 วันละเท่าใด รู้แต่เพียงว่าถ้าขาดโคเอนไซม์ Q10 จะทำให้แก่เร็วและอายุสั้นลง
Source : ผู้จัดการออนไลน์ - เอมอร คชเสนี