ไข้หวัดใหญ่ Influenza Virus

  • Tab 1
  • Tab 2

ลักษณะทั่วไป 

ไข้หวัดใหญ่เป็นโรคที่พบได้บ่อยในคนทุกเพศทุกวัย พบได้เกือบทั้งปี แต่จะเป็นมากในช่วงฤดูฝน (ช่วงเดือนกรกฎาคมถึงธันวาคม) บางปีอาจพบการระบาดทั่วโลก พบเป็นสาเหตุอันดับแรก ๆ ของอาการไข้ที่เกิดขึ้นเฉียบพลัน แพทย์มักจะให้การวินิจฉัย ผู้ใหญ่ที่มีอาการ ตัวร้อนมา 2-3 วัน โดยไม่มีอาการอย่างอื่นชัดเจนว่าเป็นไข้หวัดใหญ่ ซึ่งบางครั้งก็อาจจะผิดพลาดได้ 

สาเหตุ 

เกิดจาก เชื้อไข้หวัดใหญ่ ซึ่งเป็นไวรัสที่มีชื่อว่า อินฟลูเอนซาไวรัส (Influenza virus) เชื้อนี้จะอยู่ในน้ำมูก น้ำลาย หรือ เสมหะของผู้ป่วย ติดต่อโดยการไอ จาม หรือหายใจรดกัน หรือโดยการสัมผัสถูกมือหรือสิ่งของเครื่องใช้ที่แปดเปื้อนเชื้อ (เช่นเดียวกับ ไข้หวัด) ระยะฟักตัว 1-4 วันเชื้อไข้หวัดใหญ่มีอยู่ 3 ชนิดใหญ่ ๆ เรียกว่า ชนิด เอ, บี และ ซี ซึ่งแต่ละชนิด ยังแบ่งเป็นพันธุ์ย่อย ๆ ออกไปอีกมากมาย ในการเกิดโรคแต่ละครั้งจะเกิดจากพันธุ์ย่อยเพียงพันธุ์เดียว เมื่อเป็นแล้ว ก็จะมีภูมิต้านทานต่อพันธุ์นั้น แต่ไม่สามารถต้านทานพันธุ์อื่น ๆ ได้ จึงอาจติดเชื้อจากพันธุ์ใหม่ได้อีก เชื้อไข้หวัดใหญ่ บางพันธุ์ อาจผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกัน ทำให้เกิด การระบาดใหญ่ และมีการเรียกชื่อ โรคที่ระบาดแต่ละครั้ง ตามชื่อของประเทศ ที่เป็นแหล่งต้นกำเนิด เช่น ไข้หวัดใหญ่ฮ่องกง (เรียกสั้น ๆ ว่าไข้หวัดฮ่องกง หรือ หวัดฮ่องกง), ไข้หวัดรัสเซีย, ไข้หวัดสิงคโปร์ เป็นต้น 

อาการ 

มักจะเกิดขึ้นทันทีทันใดด้วยอาการไข้สูง หนาว ๆ ร้อน ๆ ปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อมาก (โดยเฉพาะที่กระเบนเหน็บ ต้นแขนต้นขา) ปวดศรีษะ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ขมในคอ อาจมีอาการเจ็บในคอคัดจมูก น้ำมูกใส ไอแห้ง ๆ จุกแน่นท้อง แต่บางราย ก็อาจไม่มี อาการคัดจมูก หรือเป็นหวัดเลยก็ได้มีข้อสังเกตว่า ไข้หวัดใหญ่ มักเป็นหวัดน้อย แต่ไข้หวัดน้อยมักเป็นหวัดมาก ไข้มักเป็นอยู่ 2-4 วันแล้วค่อย ๆ ลดลง อาการไอ และอ่อนเพลีย อาจจะเป็นอยู่ 1-4 สัปดาห์ แม้ว่าอาการอื่น ๆ จะทุเลาแล้วก็ตาม บางคนเมื่อหายจาก ไข้หวัดใหญ่ แล้วอาจมีอาการวิงเวียนเหมือนเมารถเมาเรือ เนื่องจากมี อาการอักเสบ ของอวัยวะการทรงตัวในหูชั้นใน ซึ่งมักจะหายเอง ภายใน 3-5 วัน 

สิ่งตรวจพบ 

ไข้ 38.5-40 ํซ หน้าแดง เปลือกตาแดง อาจมีน้ำมูกใส คอแดงเล็กน้อยหรือไม่แดงเลย (ทั้ง ๆ ที่ผู้ป่วยอาจรู้สึกเจ็บคอ) ส่วนมากมักตรวจไม่พบอาการผิดปกติอื่น ๆ 

อาการแทรกซ้อน 

ส่วนมากจะหายได้เองโดยไม่มีภาวะแทรกซ้อนส่วนน้อยอาจมีภาวะแทรกซ้อน ที่พบได้บ่อย ได้แก่ ไซนัสอักเสบ , หูชั้นกลางอักเสบ , หูชั้นในอักเสบ , หลอดลมอักเสบ, หลอดลมพอง ภาวะแทรกซ้อนที่สำคัญคือ ปอดอักเสบ ซึ่งมักจะเกิดจากแบคทีเรียพวก นิวโมค็อกคัส หรือ สแตฟฟีโลค็อกคัส (เชื้อชนิดหลังนี้ มักจะทำให้เป็นปอดอักเสบร้ายแรงถึงตายได้)ภาวะแทรกซ้อนที่ร้ายแรงมักจะเกิดในเด็กเล็ก คนสูงอายุ ผู้ป่วยเบาหวาน คนที่สูบบุหรี่จัด หรือผู้ป่วยที่มีโรคของปอดเรื้อรังแต่อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ที่จะมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนถึงตายได้นั้น นับว่าน้อยมาก มักเกิดในเด็กเล็ก หรือคนสูงอายุที่ร่างกายอ่อนแออยู่ก่อน 

การรักษา 

1. ให้การดูแลปฏิบัติตัว และรักษาตามอาการเหมือนไข้หวัด คือ นอนพักมาก ๆ ห้ามตรากตรำงานหนัก ห้ามอาบน้ำเย็น ใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดตัวหรือ ประคบด้วยแผ่นประคบเย็น เวลามีไข้สูง กินอาหารอ่อน (ข้าวต้ม โจ๊ก) ดื่มน้ำและน้ำหวาน หรือน้ำผลไม้มาก ๆ ให้ยาลดไข้แก้ปวด (ในเด็กควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาแอสไพริน) ยาแก้ไอ เป็นต้น 
2. ยาปฏิชีวนะ ไม่จำเป็นต้องให้เพราะเป็นโรคที่เกิดจากไวรัส จะให้ต่อเมื่อมีภาวะแทรกซ้อนจากเชื้อแบคทีเรีย เช่น มีน้ำมูก หรือเสลดสีเหลืองหรือเขียว, ไซนัสอักเสบ, หูชั้นกลางอักเสบ , หลอดลมอักเสบ เป็นต้น ยาปฏิชีวนะที่มีให้เลือกใช้ ได้แก่ เพนวี , อะม็อกซีซิลลิน หรือ อีริโทรไมซิน  
3. ถ้ามีอาการหอบ หรือสงสัยปอดอักเสบ โดยเฉพาะถ้าพบในคนสูงอายุหรือเด็กเล็ก ควรส่งโรงพยาบาลด่วน ถ้าพบว่าเป็นปอดอักเสบ ควรให้ยาปฏิชีวนะตามชนิดของเชื้อที่ตรวจพบ 

ข้อแนะนำ 

1. โรคนี้ถือว่าไม่ใช่โรคที่ร้ายแรง ส่วนมากให้การดูแลรักษาตามอาการ ก็หายได้เองภายใน 3-5 วันข้อสำคัญ ต้องนอนพัก ดื่มน้ำมาก ๆ และห้ามอาบน้ำเย็น ถ้าไข้ลดลงแล้วควรอาบน้ำอุ่นอีก 3-5 วัน ในรายที่ไม่ได้พักผ่อน หรือตรากตรำงานหนักอาจหายช้า หรือมีภาวะแทรกซ้อน 
2. อาการไข้สูง ปวดเมื่อย และไม่มีอาการอื่น ๆ ชัดเจน อาจมีสาเหตุจากโรคอื่น ๆ ในระยะเริ่มแรกก็ได้ เช่น ไข้รากสาดน้อย, ตับอักเสบจากไวรัส , ไข้เลือดออก, หัด เป็นต้น จึงควรสังเกตอาการ  เปลี่ยนแปลงอย่างใกล้ชิด ถ้ามีอาการอื่น ๆ ปรากกฏให้เห็นก็ควรให้การรักษาตามโรคที่สงสัย ถ้าหากมีไข้นานเกิน 7 วัน มักจะไม่ใช่ ไข้หวัดใหญ่ แต่อาจมีสาเหตุจากโรคอื่น เช่น ไข้รากสาดน้อย , มาลาเรีย เป็นต้น ผู้ป่วยที่เป็นไข้หวัดใหญ่ มักจะมีไข้ไม่เกิน 7 วัน 3. ไข้หวัดและไข้หวัดใหญ่ บางครั้งอาจมีอาการคล้ายกันมาก แต่ไข้หวัดใหญ่มักมีไข้สูงและปวดเมื่อยมาก อย่างไรก็ตาม ถึงแม้จะแยกกันไม่ออก แต่ก็ให้การดูแลรักษาเหมือน ๆ กัน 

การป้องกัน 

การป้องกัน ให้ปฏิบัติเช่นเดียวกับไข้หวัด ส่วนวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ มักจะฉีดในช่วงที่มีการระบาดใหญ่ ซึ่งจะป้องกัน ได้นานประมาณ12 เดือน ถ้ามีการระบาดในปีต่อ ๆ ไป ก็ต้องฉีดใหม่อีก โดยทั่วไปถ้าไม่มีการระบาด จะไม่ฉีดวัคซีนให้แก่คนทั่วไป ทั้งนี้เนื่องจาก เชื้อไข้หวัดใหญ่ มีอยู่หลายพันธุ์เราไม่สามารถ คาดการณ์ล่วงหน้าได้ว่าในการระบาดครั้งต่อไป จะเกิดจากเชื้อชนิดใด ในแง่ปฏิบัติ จึงไม่นิยมฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่กัน 

รายละเอียด 

ไข้หวัดและไข้หวัดใหญ่ มีอาการคล้ายกัน และให้การรักษาแบบเดียวกัน ไข้หวัดใหญ่มักมีไข้ไม่เกิน 7 วัน 

โรคไข้หวัดใหญ่เป็นโรคติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจอย่างรุนแรงในคนซึ่งแพร่ระบาดไปทั่วโลก โดยไม่มีฤดูการระบาด ที่แน่นอน แต่มักจะระบาดมากในช่วงฤดูหนาว ที่มีอุณหภูมิปานกลางและเย็น และระบาดน้อยในช่วงอากาศร้อน   คนสามารถ ติดเชื้อโรคนี้ซ้ำได้อีก เนื่องจากไวรัสไข้หวัดใหญ่ สามารถเปลี่ยนแปลงโปรตีนสำคัญที่ผิวของไวรัส  หรือ สารตัวเชื้อที่ ระบบภูมิคุ้มกัน ของคนเรารู้จักแล้ว ทำให้มีลักษณะเปลี่ยนไป โรคไข้หวัดใหญ่ที่ระบาดอย่างรุนแรงในคนมีอยู่  2 สายพันธุ์หลัก คือ ไข้หวัดใหญ่ A และไข้หวัดใหญ่ B โดยไข้หวัดใหญ่ A มีสายพันธุ์แยกย่อยไปตามสารตัวเชื้อ haemagglutinin (H) ที่แตกต่างกัน

ไวรัสไข้หวัดใหญ่สามารถเปลี่ยนแปลงตัวเองได้ 2 รูปแบบคือแบบที่เปลี่ยนแปลง  ภายในตัวเอง โดยมิได้กลายสายพันธุ์ (antigenic drift) และแบบที่เปลี่ยนแปลงจนเกิด การกลายพันธุ์ (antigenic shift)  ทั้งไข้หวัดใหญ่ A และ B มักจะมีการเปลี่ยนแปลงแบบ antigenic srift   ซึ่งเป็นกระบวนการเปลี่ยนแปลง สารตัวเชื้อ ซึ่งเป็นสาเหตุของการระบาดประจำปี และการระบาดที่พบได้บ่อยๆ นอกจากนี้ ไข้หวัดใหญ่ A อาจจะมีการกลายพันธุ์ (antigenic shift)   โดยเปลี่ยนแปลง สารตัวเชื้อ โดยสิ้นเชิงจนกลายเป็น สายพันธุ์ใหม่ และ แพร่ระบาดในมนุษย์ โดยการกลายพันธุ์นี้ อาจเกิดขึ้นโดยไม่มีใคร คาดการณ์ไว้ซึ่งก็เกิดไม่บ่อยนัก แต่เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็จะทำให้เกิด โรคระบาด ชนิดต่างๆ อย่างรุนแรงไปทั่วโลก

ปัจจุบันนี้มีเชื้อไวรัสไขัหวัดใหญ่ 3 กลุ่มใหญ่ๆ ที่ระบาดในคน  โดยเป็น สายพันธุ์ย่อยของ เชื้อไข้หวัดใหญ่ A จำนวน 2 กลุ่ม คือ H1 และ H3 และอีกกลุ่มคือไข้หวัดใหญ่ B ทั้งนี้   ไข้หวัดใหญ่ A (H3) มักเป็นสาเหตุของ การเจ็บป่วยรุนแรง และเสียชีวิตมากที่สุดโดยเชื้อมีการเปลี่ยนแปลงแบบ antigenic drift ได้เร็วกว่าไวรัสตัวอื่น ซึ่งทำให้ต้องมีการผลิตวัคซีนตัวใหม่อยู่เสมอ   แต่ดูเหมือนว่า การเปลี่ยนแปลงของเชื้อ ยังมีลักษณะ ที่เกี่ยวโยงกับ เชื้อที่มีสายพันธุกรรมใกล้เคียงกันที่มีการระบาดอยู่   ในทางกลับกันไวรัส A (H1) และ B มักจะไม่ค่อยมี การเปลี่ยนแปลงซึ่งสามารถแพร่เชื้อได้ในระยะเวลานาน สำหรับกรณีของไข้หวัดใหญ่ B ซึ่งมีสายพันธุกรรม 2 สายซึ่งยาก ที่จะคาดการณ์ว่า จะเกิด การระบาด ขึ้นเมื่อไหร่ จึงทำให้ผลิตวัคซีน ป้องกันยาก

  ปัจจุบันมีการพบเชื้อไข้หวัดใหญ่ 16 สายพันธุ์ย่อย (H ชนิดต่างๆ) ของไข้หวัดใหญ่ A โดยทั้งหมดนี้เป็น เชื้อที่สามารถอยู่ได้ในนกและนกน้ำ โดยทั่วไปไม่ก่อให้เกิดอันตราย แต่บางสายพันธุ์ย่อย สามารถข้ามไปติดสัตว์ชนิดอื่นได้ รวมถึงคนซึ่งอาจเป็นสาเหตุของการติดเชื้อที่รุนแรงได้ ถึงแม้มีหลายสายพันธุ์ย่อย ที่สามารถติดเชื้อใน สัตว์ปีกพื้นบ้าน แต่มี 2 สายพันธุ์ย่อย คือ H5 และ H7   ที่ทำให้เกิดการติดเชื้ออย่างรุนแรงไม่นานหลังการติดเชื้อในไก่หรือไก่งวง

เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของสารโปรตีน haemagglutinin ซึ่งเพิ่มสูงขึ้นจนกลายเป็นไข้หวัดนกชนิดรุนแรง (HPAI) ในทศวรรษที่ผ่านมา   มีการระบาดของไวรัสเหล่านี้ในฝูงสัตว์เฉพาะในยุโรป อเมริกาเหนือ และออสเตรเลีย เป็นระยะๆ ตั้งแต่ ค.ศ. 1994   มีการระบาดถี่ขึ้นและ มีระยะการระบาดนานขึ้น รวมถึงการระบาดใหญ่อย่างไม่เคยมีมาก่อนในเอเชีย และใน ค.ศ. 1997 มีการติดเชื้อ H5 ในคนซึ่งเกิดขึ้นพร้อมกับ การระบาดในสัตว์ปีกในฮ่องกง เป็นครั้งแรก จากการที่ไม่สามารถรู้แน่ชัดว่ามี การถ่ายทอดของไวรัสโดยตรงจากสัตว์สู่คนหรือไม่ และจากความเข้าใจในขณะนี้เกี่ยวกับที่มาของสายพันธุ์ที่ระบาดในศตวรรษที่ 20   ทำให้เกิดความวิตกกังวลว่าอาจจะเกิดการระบาดใหญ่ได้อีก เนื่องจากไวรัส H5   สามารถเปลี่ยนแปลงตัวเอง และแพร่กระจายไปเกือบทั่วทวีปเอเชีย ทำให้เกิดการติดเชื้อในคนและ มีอัตราการเสียชีวิตสูง ณะนี้มีผู้ป่วยยืนยันการติดเชื้อจำนวน 112 คน ในจำนวนนี้ เสียชีวิตถึง 57 คน (องค์การอนามัยโลกวันที่ 8 พฤษภาคม 2548) สิ่งที่เกี่ยวข้องกับการระบาดเหล่านี้ คือการพบ HPAI ครั้งแรกในนกน้ำ (เป็ด)   ซึ่งเชื้ออาจจะอยู่ในตัวเป็ดโดยไม่แสดงอาการ แต่เกิดการติดเชื้อในนกป่า ที่ย้ายถิ่นฐานมาจากประเทศจีน จากนั้นก็มีการแพร่ของเชื้อไปที่ประเทศรัสเซีย และเพิ่งมีรายงานการติดเชื้อในมองโกเลีย และคาซัคสถาน องค์การอนามัยโลกเห็นว่าการติดตามและควบคุมไข้หวัดใหญ่ H5 เป็นสิ่งจำเป็นเพื่อป้องกันการระบาดใหญ่

Resource : มูลนิธิศึกษาไข้หวัดใหญ่
Resource : http://school.obec.go.th