เครื่องมือทางการเงิน

ลักษณะและประเภทของเครื่องมือทางการเงิน

เครื่องมือทางการเงิน (Financial Instruments) หมายถึง หนังสือสำคัญซึ่งเป็นเอกสารแสดงสิทธิต่าง ๆ เช่น สิทธิในการเป็นเจ้าของ สิทธิในการเป็นเจ้าหนี้ สิทธิที่จะซื้อหรือขายหลักทรัพย์ ฯลฯ ทั้งนี้จะยกตัวอย่างตราสารทางการเงินชนิดต่าง ๆ ตามตาราง แสดงตัวอย่างของเครื่องมือทางการเงินชนิดต่าง ๆ ดังนี้

ตารางแสดงตัวอย่างของเครื่องมือทางการเงินชนิดต่าง ๆ

เครื่องมือทางการเงิน  ผลตอบแทน/สิทธิชองผู้ถือ   สถานะของผู้ถือ 
 ตราสารหนี้ เช่น
พันธบัตร หุ้นกู้ ตั๋วสัญญาใช้เงิน
 1. ดอกเบี้ย
2. กำไรจากการขายเปลี่ยนมือ
เจ้าหนี้กิจการ
 ตราสารหุ้น เช่น
หุ้นสามัญ หุ้นบุริมสิทธิ

1. เงินปันผล
2. สิทธิในการบริหาร
3. กำไรจากการขายเปลี่ยนมือ
4. สิทธิจองหุ้นออกใหม่
เจ้าของกิจการ
 ตราสารอนุพันธ์ เช่น ใบสำคัญ
แสดงสิทธิการซื้อหุ้น (Warrant)

กรณี (Warrant)
1. ผลต่างระหว่างราคาใช้สิทธิในการซื้อหุ้นกับราคาตลาด
2. กำไรจากการขายเปลี่ยนมือ
กรณี (Warrant)
ผู้ถือมีสิทธิในการจองซื้อหุ้น
สามัญของบริษัท
 หน่วยลงทุน (Unit trust) 
1. เงินปันผล
2. กำไรจากการขายเปลี่ยนมือหรือขายคืน
เจ้าของกองทุนรวม

สำหรับตราสารทางการเงินประเภทตราสารหนี้นั้นจะได้กล่าวถึงโดยละเอียดโดยแยก หัวข้อนำไปอธิบายในเรื่องถัด ๆ ไป เนื่องจากตราสารหนี้ เป็นตราสารทางการเงินที่มีความสำคัญเกี่ยวข้องกับเรื่อง ของอัตราดอกเบี้ยและการดำเนินนโยบายการเงิน ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการศึกษาวิชา เศรษฐศาสตร์การเงิน ส่วนตราสารอีก 3 ประเภท จะได้อธิบายโดยสังเขปเพิ่มเติมจากตารางสรุปข้างต้น ดังนี้

1. ตราสารทุนหรือหุ้นทุน (Share) คือ ส่วนของทุนของกิจการที่ถูกแบ่งออกเป็นหุ้น ซึ่งแต่ละหุ้นจะให้อำนาจผู้ถือหุ้นในการ เป็นเจ้าของของ กิจการตามสัดส่วนของ หุ้นที่ถือ ซึ่งหมายความรวมถึงการได้สิทธิในการได้รับส่วนแบ่งกำไรและสิทธิในการบริหาร ในที่นี้จะยกตัวอย่างหุ้นทุน 2 ประเภท คือ

1.1 หุ้นสามัญ (Common Stock) คือ หลักทรัพย์ที่บริษัทออกจำหน่ายเพื่อให้สิทธิแก่ผู้ถือในการร่วมเป็นเจ้าของ บริษัท ผู้ถือหุ้นสามัญมีสิทธิออกเสียงในที่ประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อร่วมตัดสินใจใน การบริหาร การวางนโยบายการดำเนินการของบริษัท การเลือกตั้งกรรมการของบริษัท และเพื่อร่วมตัดสินใจในปัญหาสำคัญของบริษัท ผู้ถือหุ้นมีโอกาสที่จะได้รับผลตอบแทนในรูปของเงินปันผลเมื่อบริษัทมีกำไร และอนุมัติให้มีการจ่ายเงินปันผล หรือเมื่อราคาหุ้นในตลาดรองสูงขึ้นก็สามารถนำไปขายเพื่อรับส่วนต่างจากราคา หุ้นที่ซื้อมา (Capital Gain) นอกจากนี้ ผู้ถือหุ้นจะได้รับสิทธิจองหุ้นใหม่ (Right) เมื่อบริษัทต้องการจะเพิ่มทุนด้วย

1.2 หุ้นบุริมสิทธิ (Preferred Stock) เป็นหุ้นที่มีลักษณะกึ่งหนี้สินและกึ่งหุ้นสามัญ (Hybrid) มีราคาหน้าตั๋ว (Par Value) และมีอัตราเงินปันผลกำหนดไว้ตายตัว ผู้ถือหุ้นบุริมสิทธิจะได้รับสิทธิพิเศษเหนือกว่าผู้ถือหุ้นสามัญ เช่น ได้รับเงินปันผลก่อน หรือมากกว่าผู้ถือหุ้น สามัญและมีสิทธิในทรัพย์สินของ บริษัทก่อนผู้ถือหุ้นสามัญ (แต่หลังจากผู้เป็นเจ้าหนี้ของบริษัท) ในกรณีที่บริษัทจะต้องเลิกกิจการ อย่างไรก็ตาม ผู้ถือหุ้นบุริมสิทธิส่วนใหญ่มักจะไม่ได้รับสิทธิในการออกเสียงและการบริหาร งานของบริษัท

2. ตราสารอนุพันธ์ (Derivatives) หมายถึง ตราสารทางการเงินประเภทที่มูลค่าหรือราคาของตราสารนั้นเกี่ยวเนื่องอยู่กับ มูลค่าของ สินทรัพย์ที่ตราสารนั้นอิงอยู่ เช่น ตราสารสิทธิที่จะซื้อหรือขายหุ้น (Stock Options) เป็นตราสารอนุพันธ์ เพราะราคาของตราสาร ดังกล่าวจะเกี่ยวโยง กับราคา ของหุ้นที่จะใช้ตราสารสิทธินั้นไปซื้อหรือขายได้ สัญญาซื้อขายดัชนีราคาหุ้นล่วงหน้า (Stock Index Futures) เป็นตราสารอนุพันธ์ เพราะราคา ของตราสารนี้สืบเนื่องมาจากดัชนีราคาหุ้นที่ตราสารอิงอยู่ การจัดให้มีการซื้อขายตราสารอนุพันธ์จะช่วยให้ผู้เกี่ยวข้อง กับ ตลาดการเงิน มีเครื่องมือไว้ปกป้อง และบริหารความเสี่ยงที่มีอยู่และเป็นการ เพิ่มช่องทางลงทุนซื้อขายที่หลากหลายยิ่งขึ้น

3. หน่วยลงทุน (Unit trust) หมายถึง หลักทรัพย์ที่ออกขายโดยบริษัทจัดการลงทุนเพื่อระดมเงินเข้ากองทุนรวมที่จัด ตั้งขึ้น แล้วจัดสรรเงิน ในกองทุนนั้น ลงทุนในตลาดการเงินตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในหนังสือชี้ชวน เช่น ลงทุนซื้อหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ ลงทุนในตราสารการเงิน ต่าง ๆ และฝากไว้กับสถาบันการเงิน เป็นต้น ผู้ถือหน่วยลงทุนมีฐานะร่วมเป็นเจ้าของกองทุนนั้น ๆ และมีสิทธิได้รับเงินปันผลตอบแทนจากผลกำไรที่เกิดขึ้น หากถือไว้จนถึงกำหนดไถ่ถอนก็จะได้รับส่วนแบ่งคืนจากเงินกองทุนตามสัดส่วนของ หน่วยลงทุนที่ถืออยู่

อย่างไรก็ตาม มีกองทุนรวมอีกประเภทหนึ่งซึ่งมิได้นำเงินไปลงทุนในหลักทรัพย์ต่าง ๆ เหมือนกองทุนรวมทั่วไป เช่น กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งบริษัทจัดการกองทุนรวมจัดตั้งขึ้นเพื่อนำเงิน ที่ได้จากการขายหน่วยลงทุนไปซื้อหรือเช่าอสังหาริมทรัพย์และจัดหาผลประโยชน์ จากอสังหาริมทรัพย์ ดังกล่าว เป็นต้น