วางแผนก่อนทำประกัน ตอนรู้จักแล้วจะเข้าใจ...ประกันชีวิต

วางแผนก่อนทำประกัน ตอนรู้จักแล้วจะเข้าใจ...ประกันชีวิต

ไปทำความรู้จักกับ ประกันแต่ละประเภทว่า เป็นอย่างไรกันบ้าง เพื่อให้เข้าใจและประกอบการตัดสินใจเลือกใช้บริการประกัน และ “ประกันชีวิต”....

โดย...สวลี ตันกุลรัตน์

หลังจากไปทำความเข้าใจเรื่อง “การบริหารความเสี่ยง” ถึงสองสัปดาห์ติดต่อกัน น่าจะพอเป็นไอเดียได้ว่า ในสถานการณ์แบบไหนควรจะเลือกใช้วิธีการอะไร ในการบริหารความเสี่ยง และในสถานการณ์ใดบ้างที่ควรจะเลือก “ซื้อประกัน” เพื่อโอนความเสี่ยงของเราไปให้คนอื่น ช่วยรับผิดชอบ

ทีนี้ก็ถึงเวลาที่จะขยับเข้าไปใกล้อีก นิด ไปทำความรู้จักกับประกันแต่ละประเภทว่า เป็นอย่างไรกันบ้าง เพื่อให้เข้าใจและประกอบการตัดสินใจ เลือกใช้บริการ ประกัน และ “ประกันชีวิต” จะเป็นประกันประเภทแรกที่จะไปทำความรู้จักกัน และเช่นเดิมที่ข้อมูลส่วนใหญ่ยังอ้างอิงจากชุดวิชาการวางแผนประกันภัย หลักสูตรวางแผนทางการเงิน ศูนย์ส่งเสริมการพัฒนาความรู้ตลาดทุน สถาบันกองทุนเพื่อตลาดทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

4 แบบ 6 สไตล์

แม้จะได้ชื่อว่า “ประกันชีวิต” เหมือนกัน แต่ประกันชีวิตสามารถแบ่งออกได้เป็น 4 แบบ (หลักๆ) ซึ่งแต่ละแบบจะมีความแตกต่างกัน และเพื่อที่จะเอาใจลูกค้า ที่มีความต้องการหลากหลาย บริษัทประกันจึงนำเอาแบบประกันชีวิตที่มีอยู่ 4 แบบ มาผสมกันจนเกิดเป็น “ประกันชีวิตแบบพิเศษ” ขึ้นมา

  1. แบบชั่วระยะเวลา (Term Life Insurance)
    เป็น ประกันชีวิตที่จะให้ความคุ้มครองกรณีที่ผู้เอาประกันเสียชีวิตในเวลาที่ กำหนด โดยบริษัทจะจ่ายผลประโยชน์ให้เท่ากับ จำนวนที่ระบุ ไว้ในกรมธรรม์ แต่ถ้าครบสัญญาแล้ว ผู้เอาประกันยังมีชีวิตอยู่ ก็จะไม่ได้รับผลประโยชน์อะไรเลย เพราะเป็นแบบประกันที่ไม่มี “มูลค่าเงินสด”
    แต่เป็นแบบประกัน ที่มีเบี้ยประกันต่ำที่สุด หรือประมาณ 1% ของทุนประกัน ซึ่งถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับความคุ้มครองที่ได้รับ
    ขณะที่การจ่ายเบี้ยสามารถจ่ายได้ 2 แบบ คือ จ่ายแบบครั้งเดียว หรือจ่ายแบบรายปีเท่ากันทุกปีเท่ากับระยะเวลาความคุ้มครอง หรืออาจจะจ่าย น้อยกว่าระยะเวลาให้ความคุ้มครองก็ได้
  2. แบบตลอดชีพ (Whole Life Insurance)
    ประกันชีวิต แบบนี้ ชื่อบอกชัดเจนอยู่แล้วว่า จะให้ความคุ้มครองกันไปตลอดชีวิตของผู้เอาประกัน (ไม่ใช่ชีวิตของคนขายประกัน) เพราะฉะนั้น ไม่ว่าผู้เอาประกันจะเสียชีวิตเมื่อไร ตอนไหน บริษัทจะต้องจ่ายผลประโยชน์เท่ากับจำนวนเงินเอาประกันที่ซื้อไว้
    นอกจากนี้ ยังเป็นแบบประกันที่อัตราเบี้ยประกันต่ำเช่นเดียวกัน แม้ว่าจะไม่ต่ำเท่ากับแบบชั่วระยะเวลา โดยเบี้ยประกันจะอยู่ระหว่าง 1.5-3% ของทุนประกัน แต่ก็ยังถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับความคุ้มครองตลอดชีวิต
    แต่ก่อนที่จะคิดทำประกันแบบนี้ ต้องเป็นการวางแผนระยะยาว โดยเฉพาะการเลือกจ่ายเบี้ยระยะยาวๆ หรือชำระเบี้ยไปตลอดชีพ เช่นเดียวกับ ระยะเวลาความคุ้มครอง นอกจากนี้ เมื่อทำประกันแบบนี้|ไปแล้วพยายามอย่าคิด “ถอนตัว” เพราะจะได้เงินคืนน้อยมาก หากเลิกสัญญาก่อน กรมธรรม์ครบกำหนด
  3. แบบสะสมทรัพย์ (Endowment Insurance)
    ลักษณะของ ประกันชีวิตแบบนี้เริ่มสลับซับซ้อนมากขึ้น เพราะเป็นการผสมกันระหว่างประกันชีวิตอย่างน้อย 2 แบบ คือ แบบชั่วระยะเวลา กับ แบบสะสมทรัพย์แท้จริง โดยผู้เอาประกันจะได้รับผลประโยชน์ตามจำนวน ถ้ามีชีวิตอยู่จนครบสัญญา แต่หากเสียชีวิตในระหว่าง ที่กรมธรรม์ยัง ไม่สิ้นสุด บริษัทจะจ่ายผลประโยชน์ให้ผู้รับผลประโยชน์
    เพราะฉะนั้นประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ จึงเป็นทั้งการให้ความคุ้มครองและ การออมทรัพย์ ทำให้กลายเป็นแบบประกันชีวิต ที่ได้รับความนิยมสูงมาก ในประเทศไทย เพราะคนซื้อประกันจะคิดว่า “มีแต่ได้กับได้” และเมื่อเทียบกับประกันชีวิตแบบอื่นๆ แล้วแบบสะสมทรัพย์จะให้ผลตอบแทนที่ดีกว่า
    ขณะที่อัตราเบี้ยประกันจะวิ่งอยู่ ระหว่าง 5-20% ของทุนประกัน และในบางกรณีอาจจะมากกว่า 20% แต่บริษัทประกันจะบอกว่า ผลตอบแทนที่จะ ได้รับ สูงถึง 200-300% หรืออาจจะ 400% ของทุนประกันในบางกรณี (แต่อย่าตื่นเต้นเกินไป เพราะหากลองคำนวณผลตอบแทนจาก การลงทุน ในแต่ละปี จะน่าตกใจยิ่งกว่า เพราะเหลือแค่ไม่กี่เปอร์เซ็นต์เท่านั้น)
  4. แบบบำนาญ (Annuities)
    ประกันชีวิตแบบนี้มีอยู่ใน ตำรามานานแล้ว โดยเรียกว่า “ประกันชีวิตแบบเงินได้ประจำ” แต่เราเพิ่งจะมีโอกาสได้รู้จักประกันแบบนี้อย่างจริงๆ จังๆ ก็เมื่อปลายปีที่ผ่านมานี้เอง ในชื่อว่า ประกันชีวิตแบบบำนาญ โดยบริษัทจะจ่ายผลประโยชน์เฉพาะกรณีที่ผู้เอาประกันมีชีวิตอยู่จนถึงอายุที่ กำหนดไว้เท่านั้น โดยจ่ายเป็นประจำในลักษณะเดียวกับ “เงินบำนาญ”
    อย่างไรก็ตาม แม้ว่าในทางทฤษฎีจะบอกว่า บริษัทจะจ่ายผลประโยชน์เฉพาะการมีชีวิตอยู่เท่านั้น แปลว่า หากบังเอิญเสียชีวิตไปก่อน ก็จะไม่ได้รับผลประโยชน์ แต่สำหรับคนไทยอาจจะโชคดีอยู่หน่อย เพราะกรมธรรม์ที่ออกมาส่วนใหญ่จะกำหนดให้มีการจ่ายผลประโยชน์ให้ผู้รับผล ประโยชน์ในกรณีผู้เอาประกันเสียชีวิตด้วย
  5. ประกันชีวิตควบการลงทุน (Unit Linked)
    ถือเป็น พัฒนาการของประกันชีวิตขึ้นมาอีกขั้นหนึ่ง เพราะประกันชีวิตควบการลงทุน เป็นประกันชีวิตที่ขายควบกับกองทุนรวม ทำให้มีการคุ้มครอง ชีวิต ตามแบบของประกัน กับการลงทุนผ่านกองทุนรวม ซึ่งในส่วนของการลงทุนนี้เอง จะเป็นตัวกำหนดผลตอบแทน ที่ผู้เอาประกันจะได้รับ รวมทั้งความเสี่ยงด้วย
    เมื่อผู้เอาประกันมีสิทธิเลือกที่จะลง ทุนด้วยตัวเอง ตามระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ของตัวเอง เพราะฉะนั้นผลประโยชน์ที่คาดว่า จะได้รับอาจจะ มากกว่า หรือน้อยกว่าประกัน ชีวิตแบบสะสมทรัพย์ ที่บริษัทประกันจะจัดการเรื่องการนำเบี้ยประกันที่ได้ไปลงทุน โดยที่ผู้เอาประกันไม่มีสิทธิรู้เลยว่า บริษัทนำเงินไปลงทุนอะไร และความเสี่ยงมากน้อยแค่ไหน
  6. ประกันชีวิตแบบ Universal Life
    เป็นประกันชีวิต อีกแบบหนึ่งที่เป็นเรื่องใหม่ของคนไทย โดยเป็นส่วนผสมของประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ กับ การลงทุน เช่นเดียวกับประกันชีวิตควบการลงทุน แต่แบบ Universal Life จะมีการรับประกันผลตอบแทนขั้นต่ำที่ผู้เอาประกันจะได้รับเอาไว้ด้วย
    นอกจากนี้ ยังมีความยืดหยุ่น โดยที่ผู้เอาประกันสามารถปรับเปลี่ยนความคุ้มครอง และสัดส่วนการออมเงิน รวมทั้งการเพิ่มหรือลดเบี้ยประกันที่จะจ่าย

ก่อนจะซื้อประกันชีวิต

นี่ยังไม่นับประกันแบบแปลกๆ ใหม่ๆ ที่นำประกันชีวิตหลายๆ แบบเข้ามารวมกัน และยังไม่รวม “สัญญาเพิ่มเติม” ที่สามารถซื้อควบคู่กับประกันชีวิต (ที่มีอยู่อย่างน้อยๆ 10 ประเภทที่ได้รับความนิยม) ยังทำให้มึนไปได้เหมือนกัน เพราะฉะนั้นก่อนที่จะเลือกซื้อประกันควรจะพิจารณาประเด็นสำคัญ 4 เรื่องนี้ เอาไว้ก่อน นั่นคือ

  1. เลือกแบบประกันที่เหมาะกับความต้องการมากที่สุด
    เพราะฉะนั้นก่อนอื่นต้องเริ่มจาก “ถามตัวเอง” ก่อนว่าต้องการอะไรจากการทำประกัน เช่น ถ้าต้องการเก็บออมไว้สำหรับยามเกษียณ ก็ต้องเลือก แบบบำนาญ หรือถ้าต้องการให้เป็นมรดกสำหรับลูกหลานก็เลือกแบบตลอดชีพ แต่ถ้ามีเป้าหมายที่จะใช้เงินในอนาคตบวก กับต้องการความคุ้มครอ ก็ต้องเลือก แบบสะสมทรัพย์
    แต่สิ่งที่สำคัญไม่น้อยไปกว่ากัน คือ “ความสามารถในการชำระเบี้ย” เพราะจะเป็นภาระผูกพันไปในระยะยาว และอาจจะยาวไปจนตลอดชีวิตเลย ก็เป็นได้ ซึ่งในหนังสือชุดวิชาการวางแผนประกันภัย แนะนำไว้ว่า
    “ถ้าเป็นคนโสด เบี้ยประกันต่อปีไม่ควรจะเกิน 15-20% ของรายได้ต่อปี หรือถ้ามีครอบครัวแล้ว เบี้ยประกันต่อปีไม่ควรเกิน 10-15% ของรายได้ต่อปี... อย่างไรก็ตาม ต้องพึงระลึกอยู่เสมอว่า ประกันชีวิตส่วนใหญ่ให้ผลตอบแทนไม่สูงนัก”
  2. คำนวณจำนวนเงินเอาประกันที่ต้องการ
    การหาว่าจำนวนเงินเอาประกันที่เหมาะ สมควรจะเป็นเท่าไรนั้น มีอยู่ 3 แนวทาง ซึ่งต้องบอกกันก่อนเลยว่า แต่ละแนวคิดต้องใช้การคำนวณ ทางการเงินมากบ้างน้อยบ้างต่างกันไป ซึ่งหากโชคดีได้เจอกับ “คนขายประกัน” ที่มีความรู้ด้านการวางแผนทางการเงิน น่าจะสามารถ คำนวณหาให้ได้ไม่ยาก
    แนวคิดเรื่องมูลค่าเศรษฐกิจของบุคคล ซึ่งสามารถคำนวณได้จากการนำรายได้ทั้งหมดที่คาดว่าจะได้รับจนกระทั่งเกษียณ อายุ แล้วนำตัวเลขที่คาดว่า จะได้รับมาคำนวณหาว่า เงินในอนาคตจำนวนนั้นคิดแล้วจะเป็น “เงินในปัจจุบัน” สักกี่บาท
    แนวคิดเรื่องความจำเป็น ซึ่งมีทั้งความจำเป็นด้านเงินสด เช่น เงินหมุนเวียนเพื่อจ่ายหนี้ และความจำเป็นด้านรายได้ เช่น เงินชดเชยรายได้ที่ต้องเสียไป เพราะฉะนั้นต้องเริ่มจากการประเมินว่า ครอบครัวมีรายจ่ายอะไรบ้าง และหากหัวหน้าครอบครัวเสียชีวิต จะมีรายได้จากที่ไหน เข้ามาทดแทน
    เมื่อนำมาหักลบกันแล้ว หากแหล่งรายได้ที่จะนำมาทดแทนไม่เพียงพอกับความต้องการ ส่วนต่างตรงนี้เองที่ควรจะป้องกันความเสี่ยง โดยการทำประกันชีวิตให้กับหัวหน้าครอบครัว
    แนวความคิดเรื่อง Capital Retention Approach แค่ชื่อก็ดูจะคำนวณยากแล้ว แต่หลักการสำคัญของวิธีการนี้ คือ หลังจากหัวหน้าครอบครัวเสียชีวิต แหล่งรายได้ที่จะนำมาทดแทนจะไม่ได้คิดจากทรัพย์สินที่มีอยู่ แต่จะคิดจาก “ดอกผล” ที่เกิดจากทรัพย์สินเท่านั้น
  3. เปรียบเทียบกรมธรรม์จากบริษัทประกันหลายๆ แห่งในความเป็นจริง เราส่วนใหญ่มักจะซื้อประกันชีวิตแบบไม่ได้ตั้งใจ นั่นเพราะไม่ได้เดินออกไปหา แต่มีคนขายประกันเดินเข้ามาหามากกว่า เพราะฉะนั้นโอกาสที่จะเปรียบเทียบกับเจ้าอื่นๆ แทบจะไม่มี แต่นับจากนี้ไปไม่ว่าจะเป็น การซื้อใน รูปแบบไหน เราควรจะเปรียบเทียบกับหลายๆ บริษัทก่อนตัดสินใจ ไม่ว่าจะเป็นเงื่อนไขความคุ้มครอง เบี้ยประกัน โดยเลือกกรมธรรม์ที่คุ้มค่ามากที่สุด
  4. ปัจจัยอื่นๆ ที่ไม่ใช่แค่เบี้ยประกัน
    ที่สำคัญไม่น้อยไปกว่าปัจจัยอื่นๆ คือบริษัทประกันมีความมั่นคงทางการเงินมากขนาดไหน เพราะต้องไม่ลืมว่า สำหรับเราการทำประกัน เป็นภาระผูกพันระยะยาว ดังนั้นเราก็ย่อมจะต้องการให้บริษัทประกันนั้นอยู่กับเราไปในระยะยาวเช่น เดียวกัน
    นอกจากนี้ การให้บริการก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่มองข้ามไม่ได้ ทั้งการบริการของ “ตัวแทนประกัน” เพราะหากได้ตัวแทนดีก็นับเป็นโชคดี เพราะจะมีคนคอยให้คำแนะนำในด้านต่างๆ ได้ดี และบริการจากบริษัทประกัน โดยเฉพาะเมื่อต้องมีการจ่ายสินไหมหรือจ่ายผลประโยชน์ เพราะเราคงไม่อยากเจอบริษัทที่รับเบี้ยประกันง่าย แต่จ่ายสินไหมยากแน่ๆ
โดย...สวลี ตันกุลรัตน์ http://www.posttoday.com/