การออมในรูปแบบของการประกันชีวิต

บทนำการออมในรูปแบบของการประกันชีวิต

ธุรกิจประกันชีวิตถือเป็นสถาบันการเงินที่ระดมเงินออมจากประชาชนในรูป ของเบี้ยประกันชีวิต โดยนำเงินออมส่วนนี้ไปลงทุนให้ได้ผลตอบแทนสูงสุด และไม่ให้เกิดความเสี่ยงในการลงทุนมากนัก บริษัทประกันชีวิต เป็นธุรกิจที่ทำหน้าที่ให้บริการให้ความคุ้มครองหรือช่วยเหลือบรรเทาความเสี่ยงภัย เป็นการรวมศูนย์ของกลุ่มคนเพื่อร่วมกันเฉลี่ยภัยอันเนื่องมาจากการตาย การสูญเสียอวัยวะ ทุพพลภาพ และการสูญเสียรายได้ในยามชรา โดยที่เมื่อบุคคลใดได้ประสบภัยก็จะได้รับเงินส่วนเฉลี่ยช่วยเหลือ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนแก่ตนเองและครอบครัว ทั้งนี้ บริษัทประกันชีวิตจะทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการนำเงินก้อน ดังกล่าวไปจ่ายให้แก่ผู้ที่ได้รับภัย ปัจจุบันธุรกิจประกันชีวิตจัดเป็นธุรกิจประเภทสถาบันการเงินที่ภาครัฐ ได้ให้ความสำคัญอย่าง ต่อเนื่อง และยังคงให้การสนับสนุนให้มีการเติบโตอย่างยั่งยืน หรืออาจกล่าวได้ว่าธุรกิจประกันชีวิตเปรียบเสมือนเป็นสถาบันการเงินระยะยาว ประกันชีวิตมีกี่ประเภท ปัจจุบันการประกันชีวิตได้จัดแบ่งรูปแบบออกเป็น 3 ประเภท ตามลักษณะวัตถุประสงค์ของกลุ่มผู้เอาประกันภัย ดังนี้

  1. การประกันชีวิตประเภทสามัญ (Ordinary Life Insurance) เป็นการประกันชีวิตรายบุคคลที่มีจำนวนเงินเอาประกันภัยค่อนข้างสูง ตั้งแต่ 50,000 บาท ขึ้นไป ซึ่งเหมาะสำหรับผู้ที่มีรายได้ระดับปานกลางขึ้นไป ให้ความคุ้มครองและการออมทรัพย์ นอกจากนี้ในการพิจารณาว่าจะรับประกันชีวิตหรือไม่ อาจจะมีการตรวจสุขภาพหรือไม่ตรวจสุขภาพก็ได้ ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของบริษัท โดยมีทางเลือกในการชำระเบี้ยประกันภัยเป็นรายปี ราย 6 เดือน ราย 3 เดือน หรือรายเดือน การประกันชีวิตประเภทนี้มีอัตราเบี้ยประกันสูงและสามารถเก็บเบี้ยพิเศษเพิ่มได้ ในกรณีที่ผู้เอาประกันภัยสุขภาพไม่ดีหรือมีอาชีพที่เสียงภัย นอกจากนี้ผู้เอาประกันยังสามารถกู้เพื่อชำระเบี้ยประกันได้ด้วย
  2. การประกันชีวิตประเภทอุตสาหกรรม (Industrial Life Insurance) เป็นการประกันชีวิตที่มีจำนวนเงินเอาประกันภัยต่ำ ตั้งแต่ 10,000 บาท ถึง 30,000 บาท ซึ่งเหมาะสำหรับผู้ที่มีรายได้ปานกลางถึงรายได้ต่ำ เพื่อช่วยเหลือให้ผู้ที่มีรายได้น้อยสามารถทำประกันชีวิตได้ การชำระเบี้ยประกันอาจจะชำระเป็นรายเดือน และไม่มีการตรวจสุขภาพ การประกันชีวิตประเภทนี้จะให้ความคุ้มครองและออมทรัพย์ และมีระยะเวลารอคอย นั่นคือ ถ้าผู้เอาประกันภัยเสียชีวิตด้วยโรคภัยไข้เจ็บตาม ธรรมชาติบริษัทจะไม่จ่ายเงินเอาประกันภัยให้ แต่จะคืนเบี้ยประกันภัยที่ผู้เอาประกันภัยได้ชำระมาแล้วทั้งหมด อัตราเบี้ยประกันชีวิตประเภทนี้จะต่ำกว่าประเภทสามัญและไม่มีการเก็บเบี้ยเพิ่มพิเศษ รวมทั้งผู้เอาประกันไม่สามารถกู้เพื่อชำระเบี้ยประกันได้ด้วย
  3. การประกันชีวิตประเภทกลุ่ม (Group Life Insurance) เป็นการประกันชีวิตที่กรมธรรม์หนึ่งจะมีผู้เอาประกันชีวิตร่วมกันตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มของพนักงานบริษัทเอกชน ในการพิจารณารับประกันอาจจะมีการตรวจสุขภาพหรือไม่ตรวจก็ได้ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของบริษัท สำหรับอัตราเบี้ยประกันชีวิตประเภทนี้จะต่ำกว่าทั้งประเภทสามัญและประเภทอุตสาหกรรม

รูปแบบของการประกันชีวิต

การประกันชีวิตสามารถแบ่งได้เป็น 4 รูปแบบ ดังนี้

  • การประกันชีวิตแบบตลอดชีพ (Whole Life Insurance) เป็นการประกันชีวิตที่ให้ความคุ้มครองตลอดชีพ โดยผู้รับผลประโยชน์จะได้รับจำนวนเงินเอาประกันเมื่อผู้เอาประกันภัยเสียชีวิต วัตถุประสงค์เบื้องต้นของการประกันรูปแบบนี้ เพื่อจัดหาเงินทุนสำหรับช่วยเหลือแก่ผู้ที่อยู่ในความอุปการะเมื่อผู้เอาประกันภัยเสียชีวิต ซึ่งเหมาะสำหรับผู้ที่มีรายได้น้อย หรือปานกลาง และมีอัตราเบี้ยประกันต่ำกว่าแบบสะสมทรัพย์
  • การประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ (Endowment Insurance) เป็นการประกันชีวิตที่บริษัทประกันชีวิตจะจ่ายจำนวนเงินเอาประกันภัย ให้แก่ ผู้เอา ประกันภัยเมื่อมีชีวิตอยู่ครบตามสัญญา หรือจ่ายจำนวนเงินเอาประกันภัยให้แก่ผู้รับประโยชน์แก่ผู้เอาประกันเสียชีวิตลงภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้ในประกันภัย การประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์เป็นการผสมผสานกันระหว่างการคุ้มครองชีวิตและการออมทรัพย์ แต่จะเป็นในรูปแบบของการสะสมทรัพย์มากกว่าการคุ้มครอง สำหรับการออมทรัพย์จะเห็นได้ชัดในกรณีที่ผู้เอาประกันภัยจะได้รับเงินคืนเมื่อสัญญาครบกำหนดการ ประกันชีวิต ในรูปแบบนี้เหมาะสำหรับผู้มีรายได้สูงหรือปานกลาง หรือผู้ที่ต้องการสร้างทุนการศึกษาให้กับบุตรหรือผู้ที่ต้องการสะสมทรัพย์ โดยมีอัตราเบี้ยประกันค่อนข้างสูง
  • การประกันชีวิตแบบเงินได้ประจำรายปี (Annuity Life Insurance) เป็นการประกันชีวิตที่บริษัทประกันชีวิตจะจ่ายเงินจำนวนหนึ่งเท่ากันอย่างสม่ำเสมอ ให้แก่ ผู้เอาประกันภัยทุกเดือนนับแต่ผู้เอาประกันภัยเกษียณอายุ หรือมีอายุครบ 55 ปี หรือ 60 ปี แล้วแต่เงื่อนไขในกรมธรรม์ที่กำหนดไว้ โดยผู้เอาประกันชีวิตสามารถเลือกซื้อหรือเลือกประเภทสำหรับระยะเวลาการจ่ายเงินได้ประจำนี้ การประกันในรูปแบบนี้จะเน้นการออมทรัพย์มากกว่าการคุ้มครอง และเหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการมีรายได้ภายหลังเกษียณอายุ หรือผู้ที่ต้องการสร้างเงินบำนาญไว้ในยามชรา โดยมีอัตราเบี้ยประกันสูง
  • การประกันชีวิตแบบชั่วระยะเวลา (Term Life Insurance) เป็นการประกันชีวิตที่บริษัทประกันชีวิตจะคุ้มครองการเสียชีวิตของผู้เอาประกันภัยภายในกำหนดระยะเวลาของสัญญา หมายความว่า บริษัทประกันชีวิตจะจ่ายเงินให้แก่ผู้รับประโยชน์ เมื่อผู้เอา ประกันภัยเสียชีวิตในระยะเวลาประกันภัย และหากผู้เอาประกันภัยมีชีวิตอยู่จนสัญญาครบกำหนดก็จะไม่ได้รับเงินคืน เนื่องจากการประกันชีวิตในรูปแบบนี้จะให้ความคุ้มครองกรณีที่เกิดการเสียชีวิตเท่านั้น จึงไม่มีมูลค่ากรมธรรม์ หรืออาจกล่าวได้ว่าการประกันชีวิตแบบนี้ไม่มีส่วนของการออมทรัพย์ เบี้ยประกันภัยจึงต่ำกว่าแบบอื่นๆ และไม่มีเงินเหลือคืนให้หากผู้เอาประกันภัยมีชีวิตอยู่จนครบกำหนดสัญญา อย่างไรก็ดี การประกันชีวิตที่มีลักษณะเป็นการออมทรัพย์ คือ การประกันชีวิตแบบตลอดชีพ การประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ และการประกันชีวิตแบบเงินได้ประจำรายปีเท่านั้น

ประโยชน์ของการทำประกันชีวิต

  1. ด้านการลงทุน การทำประกันชีวิตก็เปรียบเสมือนเป็นการลงทุนซื้อหลักทรัพย์ชนิดหนึ่งเช่นกัน เนื่องจากผู้ทำประกันจะได้รับดอกผลเช่นเดียวกับการฝากเงินในสถาบันการเงิน เพียงแต่มีวิธีการ เงื่อนไข และอัตรา ดอกเบี้ยที่แตกต่างกัน อย่างไรก็ดี การประกันชีวิตแม้ได้ผลตอบแทนต่ำกว่าการลงทุนบางประเภท แต่ก็นับว่าเป็นรายได้ที่แน่นอน และเชื่อมั่นได้ว่าต้นทุนไม่สูญหายไปด้วย
  2. ด้านการออม การทำประกันชีวิต มีลักษณะคล้ายกับเป็นการออมแบบกึ่งบังคับ โดยเฉพาะการประกันชีวิตแบบตลอดชีพและสะสมทรัพย์ ซึ่งผู้เอาประกันจะต้องมีหน้าที่ในการจ่ายเบี้ยประกันอย่างสม่ำเสมอ และหากผู้เอาประกันไม่เสียชีวิตเมื่อครบระยะเวลาตามที่กรมธรรม์กำหนดไว้ ก็จะได้เงินต้นคืนพร้อมดอกเบี้ย นับได้ว่าเป็นการออมเพื่อไว้ใช้ยามชราก็ได้ หรือออมไว้เพื่อเก็บเป็นทุนการศึกษาของบุตรหลาน นอกจานี้ ยังเป็นการสร้างค่านิยมให้คนรู้จักประหยัด และมีความรับผิดชอบต่อครอบครัวอีกด้วย
  3. ด้านการให้ความคุ้มครอง การทำประกันชีวิตจะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนเรื่องการเงิน รวมทั้ง เรื่องค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นของครอบครัว อันเนื่องมาจากการเสียชีวิตของบุคคลใดบุคคลหนึ่งในครอบครัวนั้น
  4. ด้านความมั่นคง การประกันชีวิตสามารถช่วยสร้างความมั่นคงของรายได้ให้แก่ผู้เอาประกันได้ อาทิ ในกรณีการทำประกันการเจ็บป่วย หรือการประกันอุบัติเหตุ ผู้เอาประกันก็สามารถมีรายได้ในยามเจ็บป่วยหรือมีรายได้สำหรับเลี้ยงดูตนเองในกรณีทุพพลภาพโดยสิ้นเชิงได้ ในกรณีการทำประกันชีวิตเพื่อเลี้ยงชีพยามชรา ผู้เอาประกันก็สามารถมีรายได้เพื่อเลี้ยงชีพไปจนตลอดชีวิตเช่นกัน
  5. ด้านการได้สิทธิประโยชน์ทางภาษี เนื่องจากรัฐบาลได้ให้การส่งเสริมธุรกิจประกันชีวิต ดังนั้น ผู้ที่ทำประกันชีวิตก็สามารถนำเบี้ยประกันชีวิตของบริษัทที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจประกันชีวิตในประเทศไทย ไปใช้เป็นค่า ลดหย่อนในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 50,000 บาท ทั้งนี้ เพื่อเป็นแรงจูงใจให้ประชาชนหันมาสนใจการทำประกันชีวิตเพิ่มขึ้น
  6. ด้านอื่นๆ การทำประกันชีวิตเปรียบเสมือนการเตรียมเงินไว้ใช้ในยามฉุกเฉิน เมื่อกรมธรรม์ครบกำหนดระยะเวลาตั้งแต่ 3 ปี ขึ้นไป ก็จะมีมูลค่าเงินสด หากผู้เอาประกันมีความจำเป็นทางการเงินก็สามารถขอ กู้เงินจำนวนหนึ่งตามหลักเกณฑ์ที่บริษัทกำหนดไปใช้ในอัตราดอกเบี้ยต่ำได้
การเติบโตของธุรกิจประกันชีวิตกับภาวะเศรษฐกิจไทย หากพิจารณาจากข้อมูลสถิติของธุรกิจประกันชีวิต ตั้งแต่ช่วงปี 2535 จนถึงปี 2544 พบว่า ธุรกิจประกันชีวิตได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจซบเซาในช่วงปี 2540 - 2541 โดยจะเห็นได้ว่า จำนวนบริษัทประกันชีวิตและจำนวนกรมธรรม์ที่มีผลบังคับ รวมทั้ง อัตราผู้ถือกรมธรรม์ต่อประชากร 100 คน ได้ลดลงถึงอัตราร้อยละ -23.5 ร้อย -0.23 และ ร้อยละ -8.55 ตามลำดับ แต่อย่างไรก็ตาม ในช่วงปี 2542 ปรากฏว่าธุรกิจประกันชีวิตเริ่มมีความกระเตื้องขึ้น เนื่องจากมีอัตราการเพิ่มขึ้นของบริษัทประกันชีวิตสูงถึงร้อยละ 92.3 แต่จำนวนกรมธรรม์ฯ และอัตราผู้ถือกรมธรรม์ต่อประชากร 100 คน ยังคงเพิ่มขึ้นในสัดส่วนที่น้อยกว่า นั่นคือ เพิ่มขึ้นในอัตราร้อยละ 2.46 และร้อยละ 1.53 ตามลำดับ สำหรับในปี 2543 ถึง 2544 พบว่า อัตราผู้ถือกรมธรรม์ฯ ได้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เป็นอัตราร้อยละ 5.19 และร้อยละ 6.45 ตามลำดับ
ตารางแสดงข้อมูลของธุรกิจประกันชีวิตระหว่างปี 2535 - 2544

(หน่วย : ราย)

รายการ 2535 2536 2537 2538 2539 2540 2541 2542 2543 2544
จำนวนบริษัทประกันชีวิต 12 12 12 12 13 17 13 25 25 26
จำนวนกรมธรรม์มีผลบังคับ 4,473,057 4,909,350 5,539,686 6,238,838 7,017,534 7,215,122 7,198,575 7,375,916 7,772,644 8,331,702
จำนวนประชากร 57,788,965 58,336,072 59,095,072 59,460,382 60,116,182 60,816,227 61,466,178 61,661,701 61,878,746 62,308,887
จำนวนตัวแทน 87,759 104,179 111,048 125,408 129,602 151,896 184,437 271,548 279,896 329,079
อัตราผู้ถือกรมธรรม์ต่อประชากร 100 คน 7.73 8.5 9.37 10.49 11.67 12.86 11.76 11.94 12.56 13.37

 ที่มา : สมาคมประกันชีวิต

แม้ว่าธุรกิจประกันชีวิตกำลังดำเนินไปได้ด้วยดี แต่จากสภาวะดอกเบี้ยธนาคารที่ลดต่ำลงในปัจจุบัน ได้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อธุรกิจประกันชีวิต เนื่องจากธนาคารและสถาบันการเงินทั่วไปไม่ได้มีความต้องการเงินฝากของบริษัทประกันชีวิต เหมือนเช่นอดีต เมื่อ 5-6 ปีที่ผ่านมา ดังนั้น ธุรกิจประกันชีวิตจึงจำเป็นจะต้องหาช่องทางในการลงทุนใหม่ๆ เพิ่มเติม ที่สามารถจะทำให้ผลตอบแทนได้ดีกว่าการนำเงินไปฝากที่ธนาคารพาณิชย์ นอกจากนี้บริษัทฯ จะต้องบริหารต้นทุนค่าใช้จ่าย รวมทั้ง ผลตอบแทนจากการลงทุนให้ ครอบคลุมต้นทุนในการบริหารและการจ่ายค่าตอบแทนให้แก่ผู้เอาประกันด้วย จึงจะสามารถรักษาฐานลูกค้าหรือส่วนแบ่งการตลาดไว้ในระดับเดิมได้

บทสรุป

ธุรกิจประกันชีวิตนับเป็นสถาบันการเงินประเภทหนึ่ง ที่มีบทบาทสำคัญในการระดมเงินออมระยะยาวจากประชาชน และเป็นตัวกลางในการเคลื่อนย้ายเงินทุนจากภาคเศรษฐกิจที่มีเงินเหลือ (Surplus Sector) ไปยังภาคเศรษฐกิจที่ขาดแคลนเงินทุน (Deficit Sector) เช่นเดียวกับสถาบันการเงินอื่น จึงนับได้ว่าธุรกิจประกันชีวิตมีส่วนลดการพึ่งพาเงินทุนจากต่างประเทศ และช่วยกระตุ้นการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไปพร้อมๆ กัน นอกจากนี้ การทำประกันชีวิตถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของการวางแผนทางการเงินให้ สอดคล้องกับความจำเป็นและความต้องการในอนาคต เป็นการปลูกฝั่งให้ประชาชนมีความสนใจและรัก การออม ซึ่งสามารถช่วยคุ้มครองสมาชิกในครอบครัวได้ด้วยการเลือกวิธีการเอาประกันชีวิตในรูปแบบต่างๆ ซึ่งจัดเป็นการเสริมสร้างสวัสดิการทางสังคมประเภทหนึ่ง และขณะเดียวกันก็เป็นการช่วยแบ่งเบาภาระของ รัฐบาลในด้านการประชาสงเคราะห์ลงด้วย อันจะทำให้ประชาชนในประเทศเกิดความมั่นคงและปลอดภัยในชีวิตเพิ่มขึ้น นอกเหนือไปจากการเป็นเครื่องมือในการระดมเงินออมระยะยาวจากประชาชนอย่างได้ผล ในลักษณะของการออมกึ่งบังคับในรูปแบบของการชำระเบี้ยประกันตลอดสัญญาระยะยาว ซึ่งผู้ออมจะต้องออมอย่างสม่ำเสมอตลอดอายุในสัญญากรมธรรม์ตามที่ระบุไว้