กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Provident Fund : PVD)

การจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพในประเทศไทย หรือกองทุนสวัสดิการแบบสมัครใจ (Pillar III) ในระบบสากลโลก ถือว่าเป็นสวัสดิการอย่างหนึ่งที่นายจ้าง ได้แก่ บริษัทห้างร้าน และองค์กรต่าง ๆ ให้กับพนักงาน ทั้งนี้ เพื่อเป็นแรงจูงใจให้แก่พนักงาน เพื่อให้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ และทำงานให้นายจ้างนานยิ่งขึ้น นอกจากนี้ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพยังถือเป็นแหล่งระดมเงินออมที่สำคัญอีกแหล่งหนึ่ง ของรัฐบาล เพื่อใช้ในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ดังจะเห็นได้จากแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ตั้งแต่ฉบับที่ 5 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน รัฐบาลได้ส่งเสริมให้นายจ้างที่ประกอบกิจการต่าง ๆ ได้มีการจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ที่ทางการกำหนด โดยให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่นายจ้างและลูกจ้างที่ร่วมกันจัดตั้งกองทุน ทั้งนี้เพื่อเป็นการเพิ่มแรงจูงใจให้มีการจัดตั้งกองทุนมากยิ่งขึ้น

กำเนิดกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

กองทุนสำรองเลี้ยงชีพได้ก่อตั้งขึ้นครั้งแรกในปี 2526 โดยกระทรวงการคลัง ได้ประกาศใช้บังคับกฎกระทรวงฉบับที่ 162 (พ.ศ.2526) ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเป็นครั้งแรก โดยมีกฎหมายรองรับ ซึ่งได้กำหนดวิธีการเงื่อนไขและหลักเกณฑ์หลักเกณฑ์ในการจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพไว้ด้วย

ในครั้งแรกที่มีการกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพนั้นได้กำหนดให้ต้องนำกองทุนไปจดทะเบียนกับนายทะเบียนกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ซึ่งในขณะนั้นคือสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง นั่นเอง

อย่างไรก็ดี นับตั้งแต่ปี 2526 ซึ่งเริ่มมีการจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพนั้น รัฐบาลก็ได้ให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีตั้งแต่นายจ้าง และลูกจ้างที่สมัครเข้าเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่จดทะเบียนกับการอย่างถูกต้อง แม้ว่าสิทธิประโยชน์ทางภาษีในช่วงนั้น ทั้งนายจ้างและลูกจ้างยังได้รับไม่มากเท่ากับในปัจจุบันก็ตาม แต่ก็ถือได้ว่า เป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นายจ้างและลูกจ้าง ที่จัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพระดับหนึ่ง

หลักเกณฑ์ในการจ่ายเงินเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

กฎหมายกำหนดให้ลูกจ้างและนายจ้างจะต้องจ่ายเงินสะสม และเงินสมทบเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพไม่น้อยกว่าร้อยละ 2-15% ของค่าจ้างรายเดือน โดยกำหนดว่านายจ้างจะต้องจ่ายเงินสมทบให้ลูกจ้าง ในอัตราที่ไม่น้อยกว่าที่ลูกจ้างจ่ายเข้ากองทุน สำหรับลูกจ้างและนายจ้างรายใดต้องการจะจ่ายเงินเข้ากองทุนในอัตรามากกว่า ร้อยละ 15% ต้องขออนุมัติรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นรายๆ ไป

การบริหารกองทุนและการนำเงินกองทุนไปลงทุน

เดิมกระทรวงการคลังกำหนดให้กองทุนฯ จะต้องมีผู้จัดการกองทุนซึ่งเป็นมืออาชีพเข้ามาบริหารจัดการกองทุน โดยได้กำหนดคุณสมบัติของผู้จัดการกองทุนในขณะนั้นว่า จะต้องเป็นนิติบุคลที่เป็นบริษัทเงินทุน บริษัทหลักทรัพย์ที่ได้รับใบอนุญาติการให้ประกอบธุรกิจจัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพจากกระทรวงการคลังเท่านั้น โดยจะต้องมีคุณสมบัติและหลักเกณฑ์ เงื่อนไขที่กระทรวงการคลังกำหนด้วย จึงจะเป็นผู้จัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพได้ ซึ่งผู้จัดการกองทุนสมัยเริ่มแรกที่ได้รับใบอนุญาตจากกระทรวงการคลังมีอยู่ 10 รายเท่านั้น และปัจจุบันมีจำนวน 17 ราย

สำหรับการนำเงินกองทุนไปลงทุนนั้น กระทรวงการคลังได้กำหนดหลักเกณฑ์ของการนำเงินกองทุนไปลงทุน โดยคำนึงถึงความมั่นคงและความยั่งยืนของกองทุนเป็นสำคัญ โดยกำหนดให้ผู้จัดการกองทุนต้องนำเงินกองทุนไปลงทุนในสินทรัพย์ที่ความมั่นคงสูง เช่น พันธบัตรรัฐบาล พันธบัตรรัฐวิสาหกิจ หรือเงินฝากธนาคาร เป็นต้น ไม่น้อยกว่าร้อยละ 60 ของเงินกองทุน และลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความมั่นคงน้อยกว่า (หรือเสี่ยงมากกว่า) เช่น ตั๋วสัญญาใช้เงิน ธนาคาร รวมแล้ว (ไม่เกินร้อยละ 25 แต่ละหุ้นไม่เกินร้อยละ 5) หรือหน่วยลงทุน (ไม่เกินร้อยละ5) เป็นต้น รวมแล้วต้องไม่เกินกว่าร้อยละ 40 ของเงินกองทุน

การสร้างความเชื่อมั่นต่อการจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2530 กระทรวงการคลังได้ประกาศใช้บังคับพระราชบัญญัติฉบับแรกว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ. 2530 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้กองทุนสำรองเลี้ยงชีพเป็นกองทุนสวัสดิการ และเป็นหลักประกันที่มั่นคงอย่างแท้จริง เมื่อลูกจ้างเกษียณอายุ หรือออกจากงาน และเพื่อให้ความคุ้มครองต่อผลประโยชน์ของลูกจ้าง จึงได้ประกาศกฎกระทรวง ออกตามความในพระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ. 2530 อีกจำนวน 7 ฉบับ ซึ่งถือเป็นกฎหมายเพื่อใช้ในการควบคุมการดำเนินงานการจัดการลงทุนของกองทุน อีกทั้งเป็นการรองรับสถานะของกองทุนสสำรองเลี้ยงชีพให้เป็นนิติบุคคลต่างหาก แยกจากความเป็นนิติบุคคลของนายจ้าง และความเป็นนิติบุคคลของผู้จัดการกองทุน ทั้งนี้เพื่อให้กองทุนปลอดภัยจากเจ้าหนี้ทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหนี้ของนายจ้างหรือของผู้จัดการกองทุน รวมไปถึงเจ้าหนี้ของตัวสมาชิกเองด้วย

นอกเหนือจากนั้นกระทรวงการคลังก็ได้ให้การส่งเสริมการจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพอย่างต่อเนื่อง โดยมีการประชุมหารือร่วมกันระหว่างกระทรวงการคลัง บริษัทผู้จัดการกองทุนในขณะนั้น และกรมสรรพากร เกี่ยวกับการเพิ่มสิทธิประโยชน์ภาระภาษีให้แก่นายจ้างและลูกจ้างที่ร่วมกันจัดตั้งกองทุนสสำรองเลี้ยงชีพซึ่งจดทะเบียนแล้วนั้น จนกระทั่งในปี 2537 เป็นต้นมาสมาชิกองทุนจึงได้รับสิทธิประโยชน์ภาษีเพิ่มขึ้นจนกระทั่งถึงปัจจุบัน

ความเจริญเติบโตของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

จากการที่กระทรวงการคลังประสบความสำเร็จเกี่ยวกับการระดมเงินออมแบบผูกพันในระยะยาวจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพนั้น จะเห็นได้ว่าตั้งแต่ปี 2527 เป็นต้นมา กองทุนสำรองเลี้ยงชีพเริ่มต้นจากจำนวนเงินกองทุนเพียง 562 ล้านบาท จำนวน 159 กองทุน และนายจ้าง 154 ราย มีสมาชิกกองทุน 28,413 ราย และสมาชิกดังกล่าวได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด แม้ว่าในช่วงของวิกฤตเศรษฐกิจในช่วงปลายปี 2540 ทำให้บริษัทเอกชนซึ่งเป็นนายจ้างจำนวนมากได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจดังกล่าว จึงส่งผลกระทบให้การเจริญเติมโตของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพไม่ได้เพิ่มมากขึ้นตามเป้าหมายที่วางไว้ หรือเงินกองทุนเพิ่มขึ้นในอัตราที่ลดลงนั่นเอง แต่อย่างไรก็ตาม ณ 31 มกราคม 2546 กองทุนสำรองเลี้ยงชีพได้มีเงินกองทุนสูงถึง 246,326.21 ล้านบาท จำนวน 585 กองทุน และจำนวนนายจ้าง 5,267 ราย จำนวนสมาชิกกองทุน 1,305,080 ราย ซึ่งจะเห็นได้ว่ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพได้กลายเป็นแหล่งที่มาของเงินออมที่ไหลเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจของประเทศอย่างต่อเนื่อง

การเปลี่ยนแปลงนายทะเบียนกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

ตั้งแต่วันที่ 30 ธันวาคม 2542 เป็นต้นมา ได้มีการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ โดยมีการประกาศแก้ไขกฎหมาย 2 ฉบับ คือ พระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ. 2530 และพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์.ศ. 2535 พร้อมทั้งออกกฎหมายใหม่แก้ไขเพิ่มเติมอีก 2 ฉบับ ได้แก่ พระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (ฉบับที่ 2 ) พ.ศ. 2542 และพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2542 โดยกฎหมายทั้ง 2 ฉบับดังกล่าว มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 30 มีนาคม 2543 และมีบทเฉพาะกาล 1 ปี (สิ้นสุด ณ วันที่ 29 มีนาคม 2544) ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงนายทะเบียนกองทุนสำรองเลี้ยงชีพจากสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เป็นสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) โดยให้กระทรวงการคลังทำหน้าที่ในการกำหนดนโยบาย และให้ถือว่ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพเป็นกองทุนส่วนบุคคลประเภทหนึ่ง นอกจากนั้นยังได้ปรับเปลี่ยนการจ่ายเงินเข้ากองทุนให้สอดคล้องกับสถานการเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงลดลงในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจ และบรรเทาปัญหาการยกเลิกกองทุน ทางการจึงได้มีการปรับลดอัตราการจ่ายเงินขั้นต่ำเข้ากองทุนจากเดิมจ่ายในอัตราร้อยละ 3 ของค่าจ้าง มาเป็น ร้อยละ 2 ของค่าจ้าง นับตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

บทสรุป

จะเห็นได้ว่าระบบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่มีอยู่ในปัจจุบัน เป็นการออมแบบผูกพันระยะยาวแบบสมัครใจ (Pillar) โดยมุ่งเน้นให้คนในวัยทำงานสมัครใจที่จะออมในขณะทำงานเพื่อไว้ใช้หลังเกษียณอายุ

ดังนั้นการที่รัฐบาลกำหนดให้มีแผนการปฏิรูปกองทุนสำรองเลี้ยงชีพทั้งระบบของประเทศไทยนับตั้งแต่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจ ตั้งแต่ปลายปี 2540 นั้น โดยอยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ในการเปิดโอกาสให้สมาชิกกองทุนสามารถเลือกตัดสินใจในการลงทุนได้เอง แทนที่จะรวมศูนย์การตัดสินใจไว้ที่กองทุน รวมไปถึงการปรับเปลี่ยนการทยอยจ่ายเงิน จากกองทุนเป็นรายงวด แทนที่จะจ่ายเป็นเงินก้อนเพียงครั้งเดียว เพื่อให้เกิดการเพิ่มฐานการออมแบบต่อเนื่องตลอดไป ทั้งนี้ก็เพื่อวัตถุประสงค์หลักในการช่วยให้ประชาชนพ้นจากความยากจนและสมารถใช้ชีวิตอยู่ในวัยหลังเกษียณอายุต่อไปอย่างมีความสุข และสามารถลดปัญหาทางสังคม ภาระของรัฐบาล รวมทั้งจะเป็นเครื่องมืออันสำคัญในการส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศให้ยั่งยืนในระยะยาวต่อไป