บ้านสไตล์บาหลี

การสร้างที่อยู่อาศัยของมนุษย์ตั้งแต่ดั้งเดิมมามีวัตถุประสงค์หลัก เพื่อป้องกันความร้อน หนาว แดดและฝน การสร้างบ้านจึงคำนึงถึง เรื่องของสภาพดินฟ้าอากาศของแต่ละท้องถิ่น เป็นเรื่องสำคัญ ดังจะเห็นได้ว่า บ้านในเขตหนาวจะมีลักษณะที่แตกต่างจาก บ้านในเขตร้อน บ้านในแต่ละท้องถิ่นจึงมีเอกลักษณ์เฉพาะของตน เช่น บ้านแบบบาหลี บ้านทรงสเปน บ้านสไตล์ยุโรป เป็นต้น

บ้านสไตล์บาหลีเป็นบ้านแบบหนึ่งที่ยังเป็นที่นิยมอยู่เสมอไม่ว่าแนวโน้ม ของการสร้างบ้าน จะเปลี่ยนไปอย่างไร ทั้งนี้อาจจะเป็นเพราะว่า บ้านสไตล์บาหลีเป็นบ้านที่มีลักษณะหวนคืนสู่ธรรมชาติ ซึ่งอาจจะช่วยชดเชยบรรยากาศแบบเมืองที่คนส่วนใหญ่คุ้นเคย โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนในเมืองที่ต้องการสร้างบ้านหลังที่สองจะให้ความสนใจ กับบ้านสไตล์บาหลีมาก
บ้านสไตล์บาหลีเป็นลักษณะของบ้านในเขตร้อนชื้น จึงเหมาะกับสภาพอากาศของบ้านเราซึ่งอยู่ในเขตร้อนชื้นเช่นกัน บ้านสไตล์บาหลีแบบดั้งเดิมจะใช้ไม้เป็นวัสดุหลักทั้งเสา พื้น ผนัง ลักษณะของพื้นผิวไม้มีทั้งส่วนที่เรียบง่าย และงานไม้แกะสลักสวยงาม ซึ่งเป็นงานฝีมือของช่างบาหลีที่สืบทอดกันมาช้านาน ช่างชาวบาหลีดั้งเดิมคือชาวบ้านทั่วๆไปที่ได้รับการถ่ายทอดความรู้ทางช่างมาจากบรรพบุรุษหรือเป็นผู้ที่สนใจในงานช่าง การออกแบบบ้านนอกจากจะให้กลมกลืนกับสภาพแวดล้อมแล้วยังคำนึงถึงการวางตำแหน่งของห้องต่างๆ เช่น ห้องนอน ห้องครัว คล้ายๆกับหลักฮวงจุ้ยของจีน
ลักษณะเด่นทางด้านสถาปัตยกรรมของบ้านแบบบาหลีคือการสร้างบ้านให้กลมกลืนกับสภาพแวดล้อมตามธรรมชาติในเขตร้อน ตัวบ้านจะมีส่วนที่เป็นลานเปิดโล่งและหลังคาทรงสูงโดยไม่มีฝ้าเพดาน เชื่อกันว่าบ้านแบบบาหลีได้รับอิทธิพลบางส่วน มาจากสถาปัตยกรรมแบบฮินดูที่แพร่เข้ามาในชวา โดยในระยะแรกๆจะเป็นลักษณะของอาคารสำหรับทำพิธีกรรมทางศาสนา และค่อยๆพัฒนามาเป็นอาคารสำหรับพักอาศัย ลักษณะของสถาปัตยกรรมแบบนี้เป็นที่นิยมของชาวเกาะทั้งหลายในมหาสมุทรแปซิฟิก บ้านแบบบาหลีดั้งเดิมจะใช้วัสดุธรรมชาติที่หาได้ในท้องถิ่น เช่น ไม้ ไม้ไผ่ ดิน ใบจาก เป็นต้น ซึ่งเป็นลักษณะของการสร้างบ้านในเขตร้อนทั่วไป ความสามารถในการสร้างบ้านให้สอดคล้องกลมกลืนกับธรรมชาติจึงเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ถ่ายทอดต่อๆกันมา
เมื่อได้มีการนำรูปแบบ้านบาหลีมาประยุกต์ใช้ในงานสถาปัตยกรรมในปัจจุบันได้มีการเปลี่ยนแปลงทั้งในเรื่องวัสดุและรูปแบบของอาคาร ในส่วนที่เกี่ยวกับวัสดุนั้นได้มีการนำคอนกรีตมาใช้แทนไม้จากธรรมชาติมากขึ้นทั้งนี้อาจเป็นเพราะไม้หายากและมีราคาแพง ในเรื่องของรูปทรงของอาคารก็มีการพัฒนาให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมในปัจจุบันที่มีการใช้เครื่องปรับอากาศกันมากขึ้น รูปแบบของสถาปัตยกรรมจึงเป็นแบบสมัยใหม่ สิ่งที่ยังคงแสดงถึงเอกลักษณ์ที่โดดเด่นของบ้านบาหลีในปัจจุบันคือรูปทรงของหลังคาที่มีลักษณะเฉพาะ รวมถึงการจัดสัดส่วนภายในบ้านที่เน้นความโปร่งโล่งของตัวอาคารโดยการจัดวางเครื่องใช้และเฟอร์นิเจอร์เพื่อแบ่งสัดส่วนภายในบ้านแทนการกั้นเป็นห้องๆ สีที่นิยมใช้ในการตกแต่งบ้านแบบบาหลีมักจะเป็นสีที่มีความกลมกลืนกับสีของไม้และสีขาวเป็นส่วนใหญ่
บ้านแบบบาหลีดั้งเดิมนั้นจะสร้างเป็นหลังเล็กๆรวมกันเป็นกลุ่มและจะมีลานโล่งกลางบ้านที่สมาชิกในครอบครัวใช้ทำกิจกรรมร่วมกัน และเมื่อนำมาประยุกต์สร้างในปัจจุบันก็ยังคงพยายามที่จะคงลักษณะนี้ไว้หากเนื้อที่ของบ้านอำนวย กฎข้อห้ามที่สำคัญอย่างหนึ่งในการสร้างบ้านของชาวบาหลีก็คือ ห้ามสร้างบ้านให้มีความสูงมากกว่าต้นมะพร้าว จึงทำให้บ้านเรือนบนเกาะบาหลีไม่บดบังความสวยงามของธรรมชาติ ซึ่งยังคงมีให้เห็นอยู่ในปัจจุบัน