หลักศิลปในการออกแบบ

หลักศิลปในการออกแบบ Principle of design

1. ความกลมกลืนกัน (Unity)
2. รูปแบบของสวย (Styles)
3. เวลา (Time)
4. สัดส่วน (Scale)
5. การแบ่งพื้นที่จัดสวน (Space Division)
6. เส้น (Line)
7. รูปร่าง (Form)
8. ผิวสัมผัส (Texture)
9. สี (Color)
10. หลักจิตวิทยาในการออกแบบ (Psychology of Design)

นอกเหนือจากความรู้เรื่องโครงสร้างของบ้าน บุคคล และปัญหาค่าง ๆ แล้ว การออกแบบจัดสวน ก็มิอาจจะสมบูรณ์ได้ ถ้าปราศจาก รอบรู้ทางด้านศิลป์ ซึ่งนับเป็นหัวใจ และเป็นรากฐานสำคัญในการออกแบบเบื้องต้นไปจนถึง การออกแบบที่ยุ่งยากต่อไป ซึ่งความรู้ทางด้านศิลปนี้ผู้ใช้จำต้องทราบ และเก็บส่วนละเอียดปลีกย่อยทั้งหมดเอาไว้ เมื่อถึงจังหวะและเวลา ที่เหมาะสม ก็ต้องนำ เอาความรู้เหล่านี้ ออกมาใช้ได้ทันทีจนบางครั้งผู้ใช้ก็แทบจะไม่รู้สึกตัวว่าได้ใช้ความรุ้ทางศิลปออกไป หรืออีกนัยหนึ่งก็นับว่า เป็นการฝึกรสนิยมของตนเอง ให้มีพื้นฐาน ความงามของด้านศิลปเพียงพอ ที่จะนำไปใช้ได้ทุกกรณีไม่ว่าจะเป็น การจัดสวน การตกแต่งภายในบ้านการเลือกเสื้อผ้าเลือกข้าวของเครื่องใช้ต่าง ๆ เนื่องจากไม่มีกฎตายตัวว่า ของดีมีรสนิยม จำเป็นจะต้อง แพงเสมอไป เพราะฉนั้นศิลปจะช่วยดัดแปลง ให้ของทุกอย่างแลดู มีคุณค่าน่าใช้ยิ่งขึ้น
ศิลป์ เกี่ยวกับ การจัดสวน มีพื้นฐานคล้ายคลึงกับศิลป์ กับด้านอื่น ๆ เช่น ด้านจิตรกรรม ประติมากรรม มีเพียงบางส่วนเท่านั้น ที่แตกต่างกันออกไป ตามความเหมาะสมสิ่งแรก ที่ควรพิจารณาก็คือ

1. ความกลมกลืนกัน (Unity)

ลักษณะความกลมกลืนกันภายในสวนขึ้นอยู่กับลักษณะของพื้นที่ของสวน , อาคารสถานที่และต้นไม้ที่ใช้ปลูก
ลักษณะของพื้นที่ของสวนได้แก่ รูปแบบของพื้นที่ทั่วไปในสวน เช่น เป็นรูปสามเหลี่ยม สี่เหลี่ยมรูปแบบต่าง ๆ นับเป็นสิ่งสำคัญใน การกำหนดลักษณะ ของสวนได้ ส่วนอาคารสถานที่ก็มีรูปแบบต่างกันออกไป เช่น อาคารในยุคสมัยก่อน , ใหม่ ฯลฯ ต้นไม้ที่ใช้ปลูก ก็เลือกให้ถูกชนิด ตามความเหมาะสม กับลักษณะพื้นที่ และตัวอาคาร สวนในสมัยเก่า จะเห็นว่ามีลักษณะที่เรียบง่าย เนื่องจาก วัสดุมีจำนวนจำกัด และมีจุดมุ่งหมายไป
ในทางเดียวกัน เช่น ปลูกเพื่อเป็นอาหาร , ปลูกเพื่อทำให้สภาพพื้นที่ร่มรื่นขึ้น เนื่องจากเป็นทะเลทราย แต่ในปัจจุบัน เจ้าของบ้าน มีความต้องการ และจุดมุ่งหมายมากกว่าเดิม จำต้องเลือกวัสดุที่มีอยู่มากให้เข้ากันได้หรือกลมกลืนกันกับลักษณะของสวน รวมทั้งเข้ากับ พรรณไม้ต่าง ๆ ด้วย
ดังนั้นควรจะได้รู้จัก วัสดุต่าง ๆ อย่างแท้จริง ไม่ว่าจะเป็นพรรณไม้ใหม่ ๆ หรือวัสดุอื่น ๆ เพื่อหาความกลมกลืนกันให้ได้ภายในสวน ยกตัวอย่างเช่น เราจะจัดสวนเป็นแบบตื่นเต้น ก็ควรเลือกชนิดอาคารให้มีลักษณะสมัยใหม่ ใช้วัสดุที่แปลกตา ให้ความรู้สึก แก่ผู้ดู ในทางตื่นเต้น หรืออาจจะเป็นไปในทางลึกลับสวยงามก็ได้ พรรณไม้ใหม่มีดอกสีสรรสดสวย หรือรูปร่างที่แปลกประหลาด นอกจากนี้ รูปร่างของลักษณะพื้นที่ก็ควรจัดให้ผู้ดูเกิดความคล้อยตาม เช่น จัดเป็นรูปร่างทางเดินที่ล่อผู้ดูให้ไปยังจุดที่เราต้องการ จะโชว์ภายในสวน หรือเป็นทางเดินเล่นสบาย ๆ มีที่นั่งพักเป็นระยะ ๆ ไป

2. รูปแบบของสวน (Styles)

เดิมทีเดียวการจัดสวนมีอยู่ 2 แบบ คือ

ก. แบบ Formal Style คือ การจัดสวนที่อยู่อาศัยรูปทรงเรขาคณิตเป็นหลัก เช่น จัดรูปร่างของพื้นที่ต้นไม้ เป็นรูปสามเหลี่ยม สี่เหลี่ยม ทรงกระบอกและอื่น ๆ รวมทั้งนิยมจัดให้มีความสมดุลย์กันทั้งด้านซ้ายและขวา ซึ่งต้องเหมือนกันและเท่ากันทุกอย่าง
ข. แบบ Informal Style คือการจัดสวนที่ไม่อาศัยรูปทรงเรขาคณิตเป็นหลัก แต่อาศัยหลักสมดุลย์ในการจัดวาง หรือจังหวะให้พอดีกันโดยไม่จำเป็นต้องมี 2 ข้างเท่ากันได้ นิยมใช้ เส้นโค้งมากกว่าเส้นตรง สามเหลี่ยมหรือสี่เหลี่ยม หรือแม้แต่รูปทรงของต้นไม้ก็ปล่อยให้เป็นรูปทรงอิสระ ไม่ตัดแต่งจนเสียรูปทรงตามธรรมชาติแต่อย่างใด
ค. ต่อมาเนื่องจากอิทธิพลของรูปเขียนสมัยใหม่ทำให้มีการจัดสวนแบบ Abstract Style ขึ้น คือ จัดไม้เป็นกลุ่มใหญ่เน้นเรื่อง การใช้สีระหว่างต้นไม้ นิยมใช้ไม้พุ่มมากกว่า การจัดสวน แบบนี้ได้ยอมรับเป็นแบบหนึ่งใน การจัดสวน และเป็นที่นิยมทั่วไปในยุโรปในช่วง 10 – 20 ปีหลังนี้

3. เวลา (Time)

ระยะเวลาเป็นสิ่งหนึ่งที่ทำให้การออกแบบจัดสวน แตกต่างกับศิลปด้านอื่น ๆ เพราะงานศิลปทางด้านจิตรกรรมหรือปฏิมากรรม เมื่อทำตามรูปแบบที่วางไว้แล้วก็เป็นอันว่าเสร็จสมบูรณ์ ซึ่งจะนำไปโชว์หรือประดับที่ใดได้ทันที แต่ศิลปทางด้าน การจัดสวน อาจใช้เวลานับสิบปีเพื่อการตัดแต่ง หรือรอคอยให้ต้นไม้มีรูปร่างที่สมบูรณ์แบบตามที่ผู้ออกแบบได้คิดภาพไว้
ดังนั้นงานด้านจัดสวน ไม่ใช่เฉพาะช่างฝีมือก็ทำได้ทุกคน มีเฉพาะบางคนที่เป็นศิลปินพอสมควร คือ สามารถมีจินตนาการถึง ภาพและตำแหน่งของต้นไม้ต่าง ๆ ภายในสวนที่สมบูรณ์งดงามแล้วได้ และมีความสามารถในเรื่อง ธรรมชาติของต้นไม้ ในอันที่จะเลือกชนิดของต้นไม้และปลูกตามวิธีการที่ถูกต้อง และมีความอดทนเพียงพอที่จะรอชมผลที่งดงามดังที่ได้ตั้งภาพพจน์ไว้ แม้จะเป็นระยะเวลาอันยาวนานก็ตามที

4. สัดส่วน (Scale)

การจัดสัดส่วนในการจัดสวนให้ได้จังหวะที่ดีและสวยงามนั้นมีองค์ประกอบอยู่ 3 อย่างเพื่อให้เกิดสัดส่วนที่ดีและน่าสนใจดังนี้
สัดส่วนในการจัดสวนเปรียบเหมือนกับการจัดตกแต่งภายในบ้าน โดยถือว่าสวนเป็นห้อง 1 ห้องทุกครั้งที่จัดโดยมีองค์ประกอบดังนี้

1. เพดานของห้อง หรือแปลนบน (Overhead Plane) ได้แก่ท้องฟ้า , เรือนยอดของต้นไม้ , หลังคา , ชายคา , เรือนระแนง
2. ผนังของห้องหรือแปลนตั้ง (Vertical space divider) ได้แก่ ผนัง , รั้ว , ต้นไม้ , พุ่มไม้
3. พื้นห้อง หรือแปลน (Base Plane) ได้แก่ ทราย , น้ำ , ดิน

การจัดสวนให้ได้ลักษณะที่ดี และน่าประทับใจจะขาดองค์ประกอบทั้ง 3 อย่างนี้ไม่ได้เพราะจะทำให้ความรู้สึกสมดุล และเหมาะสมหายไป ยกตัวอย่าง เช่น เราจัดที่นั่งเล่นภายในสวน โดยมีเก้าอี้นั่งเล่นวางอยู่บนสนามหญ้าที่กว้างใหญ่ทำให้ดูเวิ้งว้าง อึดอัดหาจุดหมายปลายทางไม่ได้ อากาศร้อน เนื่องจากไม่มีเรือนยอดของต้นไม้ เป็นแปลนบนไม่มีไม้พุ่มอยู่ใกล้ ๆ เป็นขอบเขตเพื่อแสดงถึงส่วนตั้ง จึงมีแต่แปลนพื้น เพียงอย่างเดียว

นอกจากนี้สวนก็มีส่วนต่อเนื่องกับสัดส่วนของมนุษย์ด้วย ผู้ออกแบบต้องพยายามเปรียบเทียบถึงลักษณะของสวนด้วย ว่าเป็น สวนสำหรับเด็ก , ผู้ใหญ่ ,วัชรา ฯลฯ ในสมัยก่อนนั้นพยายามสร้างสวนกว้างใหญ่มองเห็นได้ง่าย เป็นระเบียบ ไม่มีลักษณะที่สงสัย
ชาวฝรั่งเศสได้สร้างสวนของตนเองกว้างใหญ่โดยเปรียบเทียบเป็นโลกของเขาที่สร้างขึ้นตามใจปรารถนา ส่วนความต้องการของคน ปัจจุบัน ต้องการให้สวนเป็นสถานที่ส่วนตัวเล็ก ๆ ที่ได้ใช้ประโยชน์เต็มที่และมีลักษณะที่เป็นไปตามแบบที่งดงามของธรรมชาติ

5. การแบ่งพื้นที่ที่จัดสวน ( Space division )

รูปแบบของการจัดสวนมีผลเนื่องมาจากกการแบ่งสัดส่วนกันระหว่างที่โล่ง กับที่ทึบ ซึ่งแล้วแต่ว่าจะจัดให้มีสิ่งใดมากน้อยกว่ากัน ซึ่งเป็นข้อเตือนใจที่ดีสำหรับนักจัดสวนว่าสมควรจัดให้มีทั้งที่โล่งและที่ทึบประกอบกันไปอย่าให้มีเพียงอย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น

สิ่งที่โล่ง หมายถึง น้ำ, ดิน , หญ้า
สิ่งที่ทึบ หมายถึง ภูเขา, ต้นไม้ , อาคารสถานที่
การจัดสวนแต่ละแห่งมีการแบ่งเส้นระหว่างที่โล่งและที่ทึบต่างกัน เช่น ชาวฝรั่งเศสชอบให้ระเบียงต่อจากห้อง (ที่โล่ง) และแบ่งระเบียงเป็นแต่ละส่วน ๆ เท่า ๆ กันโดยมีการปิดกั้นด้วยผนังของต้นไม้ (ที่ทึบ) เพื่อเป็นขอบ

6. เส้น (Line)

เส้นเป็นตัวทำให้เกิดความหมายต่าง ๆ กันออกไป ในการจัดสวนแต่ละครั้งจำต้องมีการใช้เส้นหลายชนิด เพื่อนำมาประกอบเข้า ให้ได้ดัง จุดมุ่งหมายของผู้ออกแบบ ซึ่งแต่ละจุดมุ่งหมายที่ใช้เส้นต่างกันออกไป โดยทั่วไปแล้วเส้นให้ความรู้สึกดังนี้
เส้นที่ไปตามแนวนอน ให้ความรู้สึกสงบ พักผ่อน

  • เส้นในแนวตั้ง 90องศา ทำให้เกิดความเคลื่อนไหว เพราะคนต้องมองขึ้น
  • เส้นทะแยงมุม ,เส้นขวางหรือซิกแซก ทำให้เกิดความรู้สึกว่องไวและมีชีวิตจิตใจ
  • เส้นโค้ง และเนินเขา ไม่เคลื่อนไหวเร็ว เท่าซิกแซก ช้าและนุ่มนวลกว่า
    แต่ถ้าเส้นโค้ง ที่เปลี่ยนอย่างรวดเร็ว และกระทันหัน จะทำให้เกิดการกระตุ้น หรือความรู้สึก ที่มีชีวิตจิตใจ

7. รูปร่าง (Form)

เส้นให้ความรู้สึก ที่แตกต่างกันออกไป แต่เมื่อเรานำเอา เส้นมาประกอบเข้ากัน จะได้เป็นรูปร่างต่าง ๆ เช่น รูปร่างของทางเดินในสวน รูปร่างของสนามหญ้า เป็นต้น ส่วนความกลมกลืนกัน แต่ละรูปต่างต่างนั้น ผู้ออกแบบต้องเป็นผู้ใช้ความสามารถ จัดวางให้ทุกส่วนภายในสวน มีความสัมพันธ์กันเองโดยอาจจะคิดถึงเรื่องสัดส่วน , หรือ การแบ่งพื้นที่ หรือ สี เป็นต้น
โดยปกติแล้ว รูปร่างของคนสวน ก็คงจะเป็น แบบรูปทรงเรขาคณิต และแบบธรรมชาติ เท่านั้น
เท่าที่กล่าวไปแล้ว เป็นรูปร่าง ทางด้านแปลน ซึ่งใช้เส้นประกอบขึ้น นอกจากนี้ ยังมีรูปร่าง ทางแนวอื่น ๆ อีก เช่น แนวตั้ง คือ รูปทรงศาลา , รูปทรงของต้นไม้ ฯลฯ

8. ผิวสัมผัส (Texture)

สิ่งสำคัญของผิวสัมผัส คือ ช่วยทำให้รูปแบบต่าง ๆ แลดูเด่นขึ้น ผิวสัมผัสก็แบ่งออกเป็น 2 อย่าง คือ ผิวสัมผัสที่หยาบ และละเอียด
พื้นผิวที่หยาบ จะทำให้เกิดความรู้สึกกล้าแข็ง , บังคับ (เหมือนกับเส้นตรง) และให้ความรู้สึกเยิ่นเย้อโบราณ
พื้นผิวที่ละเอียดจะให้ความรู้สึกร่าเริงและยุ่งนิด ๆ เพราะผิวที่ละเอียดจะแลดูลึกลับกว่าผิดหยาบ

สวนของชาติต่าง ๆ ก็มีการใช้ผิวสัมผัส แตกต่างกันออกไปตามโอกาส เช่น

  • สวนชาวญี่ปุ่น มีผิวสัมผัสตัดกันระหว่าง หิน , ต้นไม้ รูปร่างของทราย และน้ำ
  • สวนของชาวเสปน มีผิวสัมผัสต่างกันระหว่าง เหล็กดัด , ผนัง ,พื้น และต้นไม้อย่างชัดเจน
  • สวนของชาวอังกฤษ มีผิวสัมผัสที่กลมกลืนกัน แบ่งแยกได้ยากระหว่าง ผิวสัมผัสของหญ้า ไม้ผลัด ตัวอาคาร แม้แต่รูปปั้นก็อยู่ในเงาหมอกที่มองเห็นไม่ค่อยชัด มีเพียงบางส่วนเท่านั้นที่ทำให้ตัดกันเพื่อ ดูเด่นขึ้น
  • สวนสมัยโบราณของ California ใช้หินเรียบ ๆ เป็นก้อนเพื่อเป็นพื้น ผนังปลูกต้นไม้เป็นกลุ่มใหญ่
  • สวนสมัยใหม่ของ California ใช้ผนังหินหยาบ ๆ ไม้ กระจก และคอนกรีต

9. สี (Color)

สีช่วยให้ความสว่างไสวแก่สวน และให้ความหมายแตกต่างกันมากมาย ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการใช้สี ไม่ว่าจะเป็นสีของต้นไม้ ดอกไม้ ทางเดิน ผนัง เฟอร์นิเจอร์ หรืออื่น ๆ ก็ตามที ควรเรียนรู้และทราบถึงทฤษฎีพอสมควร จะช่วยให้เราสามารถจัดกลุ่มสีของสวนได้กลมกลืนและสวยมากขึ้น
การจัดสวนถ้าต้องการให้กลมกลืนใน เรื่องสีควรเลือก กลุ่มสี ก่อนว่า จะเอากลุ่ม สีร้อน หรือ สีเย็น ถ้าเลือก

สีเย็น ก็ควรเลือก สีน้ำเงิน ,เขียว , คราม
สีอุ่น สีส้ม , เหลือง
สีร้อน ส้ม , แดง ,ม่วง

ในบางกรณีที่บางจุดมี สีกลมกลืน มากไป เราต้องการเน้นให้เด่นสดใส ก็ใช้สีตัดกันได้ เช่น แดงกับเขียว , ส้มกับน้ำเงิน (ดูสีตรงข้ามในวงกลม)

ปัญหา เรื่องสี จะทำให้ คุณค่าของความสวยงาม น้อยลง เช่น เจ้าของบ้านเลือกต้นไม้แต่ละชนิดได้สวย แต่เมื่อนำมาจัดเข้าประกอบกัน ลืมคิดเรื่องความกลมกลืนของสีไป จึงทำให้ความเด่นของสวนลดลง ยกตัวอย่างเช่น สวนไม้ดอกมีสีสรรมากมาย โดยเอาสีหลายสีอยู่ใกล้กัน จึงทำให้หาจุดเด่นไม่ได้โดยมีสีแดง เหลือง เขียว ม่วง ส้ม กระจายอยู่ทั่วไป ทำให้ลานตาไปหมด ถ้าเจ้าของบ้านใจเย็นค่อย ๆ คิดถึงเรื่องของสีบ้าง จัดเอาไม้ที่มีสีเขียวแก่เอาไว้ใกล้เขียวอ่อน ตามด้วยสีสดใสอาจเป็นแดง และต่อไปไปขาวหรือชมพู ความกลมกลืนของสีก็จะทยอยกันไปเรื่อย ๆ ทำให้แลดูสบายตา และสวยงามดี เมื่อถึงบางจุดที่เราเบื่อก็อาจจะเอาสีที่สะดุดตามาก ๆ มาใส่ในจุดเน้นเป็นจุดเด่นไปก็ได้ แต่อย่าให้มากจุดเกินไป

10. หลักจิตวิทยาในการออกแบบ (Psychology of design )

การที่เราทราบถึงความต้องการหรือทราบถึงจิตใจส่วนใหญ่ของมนุษย์จะทำให้เราออกแบบได้ดีขึ้นโดยแรงจูงใจ ( Motivation ) เป็นแรงผลักดัน ช่วยกระตุ้นความคิดของมนุษย์ในอันที่จะก่อเกิดพฤติกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งใน กระบวนการการสื่อสารเมื่อผู้รับสารมีทัศนคติคล้อยตามก็จะแสดงออกทางพฤติกรรม การตรวจสอบว่าสื่อที่นำเสนอให้ผู้ชมหรือผู้รับสารนั้นมีแรงจูงใจให้ผู้รับ สารมีทัศนคติคล้อยตามมากน้อยเพียงใด จึงดูที่พฤติกรรมการแสดงออก เช่น การให้ความสนใจมากขึ้น หรืออาจจะกระทำตามข้อมูล สาระนั้นๆในการสร้างรูปแบบของงาน