ความหมายของธุรกิจ

การดำเนินชีวิตของมนุษย์ในสมัยโบราณ มีความแตกต่างกับการดำเนินชีวิต ของมนุษย์ในปัจุบัน เนื่องจากจำนวนประชากรของ มนุษย์ในสมัยโบราณ มีจำนวนน้อย แต่ละคนและแต่ละครอบครัว จะดำรงชีวิตอยู่ด้วยตนเอง ตามลำพัง โดยสร้างที่พักอาศัย ทำเครื่องนุ่งห่ม เพาะปลูกพืช และล่าสัตว์ เพื่อเลี้ยงชีพ ของตนเอง ตามความสามารถ ของแต่ละคน เมื่อสังคมของมนุษย์ขยายขึ้น และความถนัดของมนุษย์มีไม่เหมือนกัน บางคนถนัดใน การล่าสัตว์ บางคนถนัดในการเพาะปลูก บางคนถนัดในการทำเครื่องนุ่งห่ม จึงเกิดระบบการแลกเปลี่ยน โดยการใช้ของแลกของ (Barter System) กันขึ้น เช่น นำข้าวแลกเนื้อสัตว์นำไข่แลกเสื้อผ้า เป็นต้น แต่การนำของแลกของก็มีปัญหาบางอย่างเกิดขึ้น เพราะสิ่งของบางอย่าง แบ่งแยกได้ยาก เช่น ข้าว 3 ถัง แลกวัวได้ 1 ตัว แต่ถ้าคนที่มีข้าว 1 ถัง ต้องการแลกกับวัว 1 ตัวไม่ได้ ต้องมีการแบ่งแยกวัวซึ่งทำได้ยาก หรือบางครั้ง ความต้องการของคน ที่นำมาแล กไม่ตรงกัน เช่น คนที่มีไข่ต้องการแลกกับเสื้อผ้า แต่คนที่มีเสื้อผ้าต้องการข้าวเป็นต้น ดังนั้นระบบการแลกเปลี่ยนของต่อของจึงเปลี่ยนไป โดยใช้สื่อกลาง ในการแลกเปลี่ยน สิ่งที่แต่ละยุคนำมาใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนขึ้นอยู่กับ ความพอใจของคนในแต่ละยุคนั้น เช่น เปลือกหอย ทองคำ ฯลฯ ซึ่งได้มีการพัฒนาเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้เป็นจุดเริ่มต้นของธุรกิจนั่นเอง จากความเป็นมาของการดำเนินชีวิตดังกล่าว สามารถสรุปความหมายของธุรกิจได้ดังนี้
ธุรกิจ (Business) หมายถึง กิจกรรมต่าง ๆ ที่ก่อให้เกิดการผลิตสินค้าและบริการโดยมีการซื้อขายแลกเปลี่ยนกัน และมีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการประโยชน์หรือ กำไรจากการกระทำกิจกรรมนั้น

ธุรกิจคือกระบวนการของธุรกิจที่ ประกอบไปด้วยการผลิตสินค้า หรือ การให้บริการตามความต้องการของผู้บริโภค รวมทั้งการจำหน่ายสินค้า โดยได้รับกำไรเป็นผลตอบแทน จากความหมายทำให้ สามารถจำแนกส่วนประกอบสำคัญของธุรกิจได้คือ

  1. การผลิต (Productions) คือ การดำเนินกิจกรรมการผลิตต่าง ๆ อาทิเช่น วัตถุดิบสำหรับการผลิต สินค้าสำเร็จรูป ผลิตผลทางการเกษตร เป็นต้น
  2. การบริการ (Services) คือ การดำเนินกิจกรรมของธุรกิจเกี่ยวกับการ ให้บริการ ที่สามารถสนองตอบความพึงพอใจของลูกค้า เช่น การให้บริการที่ปรึกษา ทางการเงิน การให้บริการโรงแรม การขนส่ง เป็นต้น
  3. การจัดจำหน่าย (Distributions) คือ การดำเนินกิจกรรมเกี่ยวกับการ กระจายและจำหน่ายสินค้าทั้งสินค้าอุตสาหกรรม และ สินค้าสำหรับผู้บริโภค
  4. กำไร (Profit) คือ ผลตอบแทนที่ผู้ดำเนินธุรกิจจะได้รับจากการดำเนินงาน โดยเกิดจากผลต่างระหว่างรายได้ของธุรกิจและต้นทุนในการดำเนินงาน ดังนั้น กำไรจึงเป็นสิ่งจูงใจในการดำเนินธุรกิจอย่างไรก็ตามผู้ดำเนินธุรกิจต้องรับความเสี่ยง จากการดำเนินงานด้วยเช่นกัน

ความสำคัญของธุรกิจ

มนุษย์ทุกคนมีความต้องการที่เหมือนกันอยู่ 2 ประเภทใหญ่ ๆ คือ ประเภทแรกเป็นความต้องการที่จำเป็นขั้นพื้นฐานต่อการดำรงชีวิต (Needs) ได้แก่ปัจจัย 4 คือ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรค ส่วนความต้องการอีกประเภทหนึ่งนั้นเป็นสิ่งที่มนุษย์อยากมี (Wants) แต่ถ้าไม่มีสิ่งเหล่านี้ มนุษย์ก็ยัง สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ตัวอย่างเช่น รถยนต์ โทรทัศน์ เครื่องปรับอากาศ เป็นต้น ดังนั้นธุรกิจจึงมีความสำคัญต่อการดำเนินธุรกิจของมนุษย์ เพราะธุรกิจเป็น แหล่งผลิตสินค้าและบริการ เพื่อสนองความต้องการของมนุษย์ทั้ง 2 ประเภทดังที่กล่าวมาแล้ว
สินค้าคือ สิ่งของที่มีตัวตน สามารถมองเห็นและจับต้องได้ เช่น รถยนต์ อาหาร เสื้อผ้า เป็นต้นตัวอย่างของธุรกิจที่เป็นแหล่งผลิตสินค้า เช่น โรงงานผลิต รถยนต์ โรงงานผลิตเสื้อผ้า เป็นต้น สำหรับการให้บริการนั้น หมายถึง สิ่งที่ไม่มีตัวตน ไม่สามารถมองเห็นหรือจับต้องได้ แต่สามารถกำหนดราคา เพื่อซื้อขาย กันได้ ตัวอย่างเช่นการให้บริการของสถานเริงรมย์ บริการเสริมสวย บริการซักรีด บริการขนส่ง บริการด้านการสื่อสารของสถานที่ให้บริการเฉพาะนั้น ๆ เป็นต้น

วัตถุประสงค์ของธุรกิจ

การประกอบธุรกิจต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจประเภทใดก็ตาม สิ่งที่ผู้ประกอบธุรกิจต้องการ คือ กำไรแต่นอกเหนือจากกำไรแล้ว ยังมีสิ่งอื่นอีกที่ธุรกิจ จะต้อง คำนึงถึง เช่น ความรับผิดชอบต่อผู้บริโภค ความรับผิดชอบต่อสังคม ความรับผิดชอบต่อลูกจ้างพนักงาน ฯลฯ

วัตถุประสงค์ของธุรกิจ (Business Goals) ที่สำคัญมีดังนี้

  1. เพื่อความมั่นคงของกิจการ เมื่อธุรกิจเริ่มดำเนินการขึ้น เจ้าของธุรกิจก็มีความประสงค์จะผลิตสินค้า หรือบริการเพื่อสนองความต้องการของผู้บริโภค ต่อไป อย่างต่อเนื่องโดยไม่มีที่สิ้นสุด
  2. เพื่อความเจริญเติบโตของธุรกิจ นอกจากความมั่นคงของกิจการแล้ว ธุรกิจยังต้องการที่จะเจริญเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ โดยการขยายกิจการให้ใหญ่ขึ้น มีสาขาเพิ่มขึ้น มีพนักงานเพิ่มขึ้นเพื่อให้เกิดความมั่นคงทั้งทางการเงินและฐานะทางสังคม
  3. เพื่อผลประโยชน์หรือกำไร สิ่งที่จูงใจให้เจ้าของธุรกิจดำเนินธุรกิจต่อไป คือ กำไร ถ้าธุรกิจไม่มีกำไรกิจการนั้นก็ไม่สามารถดำเนินต่อไปได้ การที่ธุรกิจจะมีกำไรได้นั้นคือ ต้องจำหน่ายสินค้าหรือได้รับค่าบริการในราคาสูงกว่าค่าใช้จ่าย หรือต้นทุนที่ได้เสียไปในการผลิตสินค้าหรือบริการนั้น
  4. เพื่อความรับผิดชอบต่อสังคม การดำเนินธุรกิจจะต้องคำนึงถึงจารีตประเพณีศีลธรรมอันดีงามของสังคมด้วย ธุรกิจจะต้องไม่ดำเนินการที่ขัดต่อกฎหมายหรือขัดต่อประเพณี ศีลธรรมอันดีงามของสังคม ธุรกิจจะต้องคำนึงถึงผู้บริโภค คำนึงถึงสภาพแวดล้อมต้องช่วยพัฒนาชีวิตและความเป็นอยู่ของสังคมให้ดีขึ้น เช่น การไม่ปล่อยน้ำเสียลงในแม่น้ำลำคลอง การไม่ผลิตสินค้าที่มีสารพิษตกค้าง การไม่ตัดไม้ทำลายป่า การไม่ก่อให้เกิดมลพิษ ฯลฯ

จากวัตถุประสงค์ของธุรกิจดังกล่าว จัดว่าเป็นวัตถุประสงค์ส่วนใหญ่ของธุรกิจเอกชน แต่ยังมีการประกอบธุรกิจบางประเภทที่ไม่ได้หวังผลกำไร (Social Prestige) ได้แก่ กิจการประเภทสาธารณูปโภค (Public Utilities) ต่าง ๆ เช่น การดำเนินกิจการของการไฟฟ้า การประปา การสื่อสารแห่งประเทศไทย เป็นต้น กิจการดังกล่าวดำเนินการโดยรัฐบาล ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ประชาชนกินดีอยู่ดี มีความสะดวกสบาย

ปัจจัยในการดำเนินธุรกิจ

การดำเนินธุรกิจต้องอาศัยหลาย ๆ ปัจจัยประกอบกัน จึงจะเกิดกิจกรรมในการประกอบธุรกิจ จะขาดปัจจัยใดปัจจัยหนึ่งไม่ได้ โดยทั่วไปปัจจัยพื้นฐาน ในการดำเนินธุรกิจมี 4 ประเภท ที่เรียกว่า 4 M ได้แก่

  • คน (Man) ถือว่าเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุด เพราะธุรกิจต่าง ๆ เกิดขึ้นได้ต้องอาศัยความคิดของคน มีคนเป็นผู้ดำเนินการหรือเป็นผู้จัดการ จึงจะทำให้เกิดกิจกรรมทางธุรกิจหลายรูปแบบ ซึ่งในวงจรธุรกิจมีคนหลายระดับ หลายรูปแบบ ทั้งระดับผู้บริหาร ผู้ใช้แรงงานร่วมกันดำเนินการ จึงจะทำให้ประสบความสำเร็จในการประกอบธุรกิจ
  • เงิน (Money) เงินทุนเป็นปัจจัยในการดำเนินธุรกิจอีกชนิดหนึ่งที่ต้องนำมาใช้ในการลงทุน เพื่อให้เกิดการประกอบธุรกิจโดยธุรกิจแต่ละประเภท ใช้ปริมาณเงินทุกที่แตกต่างกัน ธุรกิจขนาดใหญ่ย่อมใช้เงินทุนสูงกว่าธุรกิจขนาดเล็กกว่า ดังนั้น ผู้ประกอบธุรกิจจึงต้องมีการวางแผนในการใช้เงินทุน และการจัดหาเงินทุนอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อทำให้การดำเนินธุรกิจไม่ประสบปัญหาด้านเงินทุน และก่อให้เกิดผลตอบแทนสูงสุด คุ้มกับเงิน ที่นำมาลงทุน
  • วัสดุหรือวัตถุดิบ (Material) ในการผลิตสินค้าต้องอาศัยวัตถุดิบในการผลิตค่อนข้างมาก ผู้บริหารจึงต้องรู้จักการบริหารวัตถุดิบให้มีประสิทธิภาพ เพื่อให้เกิดต้นทุนด้านวัตถุดิบต่ำสุด อันจะส่งผลให้ธุรกิจมีผลกำไรสูงสุดตามมา
  • วิธีปฎิบัติงาน (Method) เป็นวิธีการในการปฎิบัติงานในแต่ละขั้นตอนของการดำเนินธุรกิจ ซึ่งต้องมีการวางแผนและควบคุม เพื่อให้การปฎิบัติงานมีประสิทธิภาพ เกิดความคล่องตัว สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมทั้งภายในและภายนอกกิจการ

ประโยชน์ของธุรกิจ

ประโยชน์ของธุรกิจจำแนกได้ ดังนี้

  1. ธุรกิจผลิตสินค้าและบริการเพื่อสนองความต้องการของมนุษย์ในสังคม
    เนื่องจากความต้องการของคนเราแตกต่างกัน และมีความต้องการไม่มีที่สิ้นสุด โดยความต้องการของคนเราจะเพิ่มขึ้นตลอดเวลา เพื่อสร้างความพึงพอใจ และความสะดวกสบายแก่ตนเอง ธุรกิจจึงมีหน้าที่ในการจัดหาสิ่งต่าง ๆ มาบริการสนองความต้องการดังกล่าว
  2. ธุรกิจช่วยกระจายสินค้าจากผู้ผลิดไปสู่ผู้บริโภค
    เมื่อธุรกิจประเภทผู้ผลิตสินค้า เช่น โรงงานอุตสาหกรรมผลิตสินค้าออกมาแล้ว การที่สินค้าจะกระจายไปสู่ผู้บริโภคได้นั้น จำเป็นต้องอาศัยธุรกิจ ประเภทอื่น ช่วยกระจายสินค้าไปสู่ผู้บริโภค เป็นต้นว่าธุรกิจการขนส่ง ทั้งทางบก ทางน้ำ ทางอากาศพ่อค้าคนกลาง การประชาสัมพันธ์ การบริการด้านการเงินของธนาคาร การสื่อสาร ฯลฯ
  3. ธุรกิจเป็นแหล่งตลาดแรงงาน
    ในการดำเนินการธุรกิจมีความจำเป็นต้องใช้แรงงาน เพื่อทำการผลิตสินค้าหรือบริการ ดังนั้นการดำเนินธุรกิจจึงทำให้คนมีงานทำ สามารถหารายได้ เพื่อเลี้ยงตัวเอง และครอบครัวได้ ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของคนในสังคมดีขึ้น นอกจากนั้นการที่ธุรกิจกระจายไปอยู่ตามส่วนต่าง ๆ ของประเทศ ก็เป็นการ กระจายรายได้ และตลาดแรงงานไปสู่ท้องถิ่นอีกด้วย
  4. ธุรกิจเป็นแหล่งเพิ่มรายได้ให้แก่รัฐบาล
    เมื่อการดำเนินธุรกิจมีผลกำไร ผู้ประกอบธุรกิจมีหน้าที่เสียภาษีให้รัฐบาลตามที่กฎหมายกำหนด ทำรายได้ของรัฐเพิ่มขึ้น และรายได้ดังกล่าว รัฐบาลนำไปใช้ ในการพัฒนาประเทศ ได้แก่ การสร้างโรงพยาบาลสร้างถนน สร้างโรงเรียน ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นการสร้างคุณภาพชีวิต ให้เกิดแก่ประชาชน
  5. ธุรกิจช่วยพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ
    ในการผลิตสินค้าและบริการของธุรกิจในระยะแรก ๆ ก็เพื่อสนองความต้องการของประชาชนในท้องถิ่น จังหวัดและประเทศ แต่เมื่อธุรกิจขยายตัวเติบโตขึ้น สามารถผลิตสินค้าและบริการได้มาก จนเกิดความต้องการของคนในประเทศ จึงต้องส่งสินค้าออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศ ทำให้รายได้เข้าสู่ประเทศ เป็นการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศได้อีกทางหนึ่ง

ประเภทของธุรกิจ

ในปัจจุบันมีธุรกิจเกิดขึ้นใหม่มากมายหลายธุรกิจ แต่สามารถแบ่งประเภท ธุรกิจได้อย่างกว้าง ๆ เป็น 2 ประเภท คือ

  1. ธุรกิจการผลิต (Goods-Producing Businesses) ธุรกิจจะผลิตสินค้าที่จับต้องได้ (Tangible goods) ผ่านกระบวนการผลิตต่าง ๆ ธุรกิจประเภทนี้ต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมาก หรือ อาจเรียกได้ว่าเป็นธุรกิจที่ใช้ทุน เป็นหลัก (Capital-intensive business) เช่นธุรกิจผลิตรถยนต์ ธุรกิจโทรคมนาคม เป็นต้น
  2. ธุรกิจการบริการ (Service Businesses) ธุรกิจจะผลิตสินค้าที่ไม่มีตัวตน (Intangible goods) เช่นธุรกิจการเงิน ประกันภัย การค้าส่งค้าปลีก เป็นต้น ธุรกิจภาคบริการส่วนใหญ่เป็นธุรกิจที่ต้องใช้ แรงงานเป็นหลัก (Labor-intensive business) จึงเป็นธุรกิจที่ต้องให้ความสำคัญกับ ทรัพยากรมนุษย์เป็นหลัก

 

การแบ่งประเภทของธุรกิจตามลักษณะของกิจกรรมที่ธุรกิจกระทำ แบ่งออกได้ ดังนี้

  1. ธุรกิจการเกษตร (Agriculture) การประกอบธุรกิจการเกษตร ได้แก่ การทำนา การทำไร่ การทำสวน การทำป่าไม้ การทำปศุสัตว์ ฯลฯ
  2. ธุรกิจอุตสาหกรรม (Manufacturing) การประกอบธุรกิจอุตสาหกรรม ได้แก่ ธุรกิจผลิตสินค้าเพื่ออุปโภค แบ่งเป็น 2 ลักษณะ ดังนี้
    2.1 อุตสาหกรรมในครัวเรือน จัดเป็นอุตสาหกรรมขนาดเล็ก ใช้แรงงานเฉพาะสมาชิกในครอบครัว ลงทุนไม่สูงนักส่วนใหญ่เป็นการใช้เวลาว่างจากการประกอบอาชีพหลัก คือ การทำนาทำไร่ ขณะที่รอเก็บเกี่ยวพืชผลก็ใช้เวลาว่าง มาทำอุตสาหกรรม ในครัวเรือน ได้แก่ อุตสาหกรรมทอผ้า อุตสาหกรรมเครื่องปั้นดินเผา อุตสาหกรรมทำเครื่องเขิน อุตสาหกรรมทำเครื่องจักสาน ฯลฯ
    2.2 อุตสาหกรรมโรงงาน เป็นอุตสาหกรรมที่ผู้ผลิตสินค้ามีโรงงาน มีเครื่องจักรที่ใช้ในการผลิตสินค้าได้ครั้งละจำนวนมาก มีการจ้างแรงงานจากบุคคลภายนอก ได้แก่ โรงงานผลิตรถยนต์ โรงงานผลิตเฟอร์นิเจอร์ โรงงานผลิตอาหารสำเร็จรูป โรงงานผลิตพลาสติก ฯลฯ
  3. ธุรกิจเหมืองแร่ (Mineral) การประกอบธุรกิจเหมืองแร่ ได้แก่ การทำเหมืองแร่ชนิดต่าง ๆ การขุดเจาะถ่านหิน การขุดเจาะนำทรัพยากรธรรมชาติต่าง ๆ มาใช้
  4. ธุรกิจการพาณิชย์ (Commercial) เป็นธุรกิจที่ทำหน้าที่กระจายสินค้าที่ผลิตจากอุตสาหกรรมต่าง ๆ ไปสู่ผู้บริโภค ทำให้ผู้บริโภคได้อุปโภคบริโภค สินค้า ตามความต้องการ ได้แก่ ธุรกิจพ่อค้าคนกลาง ผู้ค้าส่ง ผู้ค้าปลีก ตัวแทนจำหน่ายสินค้าต่าง ๆ
  5. ธุรกิจการก่อสร้าง (Construction) เป็นธุรกิจที่ทำหน้าที่ในการนำวัสดุต่าง ๆ ได้แก่ อิฐ หิน ปูน ทราย มาใช้ในการก่อสร้าง เช่น การสร้างถนน สร้างอาคาร สร้างเขื่อน ก่อสร้างโรงพยาบาล เป็นต้น
  6. ธุรกิจการเงิน (Finance) เป็นธุรกิจที่ทำหน้าที่ส่งเสริมให้ธุรกิจอื่นทำงานได้คล่องตัวขึ้น เนื่องจากในการทำธุรกิจจะต้องเริ่มจากการลงทุน ซึ่งต้อง ใช้เงิน ในการลงทุน เช่น นำมาซื้อที่ดิน ปลูกสร้างอาคาร จ้างคนงาน ซื้อวัตถุดิบ ซื้อเครื่องจักร ฯลฯ ซึ่งถือว่าธุรกิจการเงินเป็น แหล่งที่ธุรกิจอื่น สามารถติดต่อใน การจัดหาทุนได้ นอกจากนั้นในการสั่งซื้อสินค้าจากต่างประเทศหรือส่งสินค้าไปขายต่างประเทศ ธุรกิจการเงิน จะทำหน้าที่เป็น ตัวกลาง ในการติดต่อซื้อขาย ชำระเงินระหว่างกัน ธุรกิจที่จัดเป็นธุรกิจการเงิน ได้แก่ ธุรกิจประเภทธนาคาร บริษัทประกันภัย บริษัทการเงิน
  7. ธุรกิจให้บริการ (Service) เป็นธุรกิจที่อำนวยความสะดวกสบายให้แก่ผู้บริโภค ได้แก่ ธุรกิจการขนส่ง ธุรกิจการสื่อสาร ธุรกิจการท่องเที่ยว ธุรกิจการโรงแรม ฯลฯ
  8. ธุรกิจอื่น ๆ เป็นธุรกิจที่นอกเหนือจากธุรกิจประเภทที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ได้แก่ ผู้ประกอบธุรกิจ อาชีพอิสระต่าง ๆ เช่น วิศวกร แพทย์ สถาปัตย์ ช่างฝีมือ ประติมากรรม ฯลฯ

หน้าที่ในการประกอบธุรกิจ

ธุรกิจทุกประเภท ต่างมีหน้าที่ในการตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในด้านต่าง ๆ เพื่อให้ผู้บริโภคได้รับ ความพอใจสูงสุด เกิดอรรถประโยชน์สูงสุด สามารถบำบัดความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างสมบูรณ์ หน้าที่ดังกล่าว ได้แก่

  1. 1. การผลิต (Production) เป็นกิจกรรมในการแปรรูปวัตถุดิบให้เป็นสินค้าหรือบริการ เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค ทำให้ผู้บริโภค เกิดความพึงพอใจในการบริโภค กระบวนการผลิตสินค้าหรือบริการมีหลายขั้นตอน จึงจะได้สินค้าหรือบริการตามที่ผู้บริโภคต้องการ ผู้ประกอบธุรกิจ จะต้องมีความรู้ในการผลิตเป็นอย่างดี จึงจะทำให้ได้สินค้าหรือบริการที่มีคุณภาพดี มีต้นทุนที่เหมาะสม ซึ่งปัจจัยสำคัญที่ผู้ประกอบธุรกิจต้องพิจารณา ได้แก่
    1.1 การเลือกทำเลที่ตั้ง
    1.2 การวางผังโรงงาน
    1.3 การออกแบบสินค้า
    1.4 การกำหนดตารางเวลาการผลิต
    1.5 การตรวจสอบสอนค้า
  2. การจัดหาเงินทุน (Capital) เงินทุนถือว่าเป็นปัจจัยที่มีความสำคัญในการประกอบธุรกิจ ผู้ประกอบธุรกิจจึงต้องมีการบริหารเงินทุนอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งการจัดสรรเงินทุนในการดำเนินงานให้เกิดประโยชน์สูงสุด และการจัดหาเงินทุนมาใช้ในการประกอบธุรกิจ ซึ่งมีแหล่งเงินทุน 2 แหล่ง ดังนี้
    2.1 แหล่งเงินทุนภายใน (Internal Sources) เป็นเงินทุนที่ได้จากเจ้าของกิจการ อันได้แก่เงินที่นำมาลงทุน และจากกำไรสะสม
    2.2 แหล่งเงินทุนภายนอก (External Sources) เป็นเงินทุนที่ได้จากการกู้ยืมจากสถาบันการเงินภายนอกกิจการ เช่น ธนาคารพาณิชย์ บริษัทเงินทุนและหลักทรัพย์ บรรษัทบริหาร ธุรกิจขนาดย่อย (บอย.) บริษัทประกันภัย เป็นต้น
  3. การจัดหาทรัพยากรด้านกำลังคน คนถือเป็นปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญมากที่สุดในการประกอบธุรกิจ ผู้ประกอบธุรกิจจะต้องจัดหาบุคคลที่มีคุณภาพ และเหมาะสมกับตำแหน่งงาน โดยใช้หลักการ "จัดคนให้เหมาะกับงาน" (Put the right man in the right job) รวมทั้งเมื่อได้บุคลากรที่มีคุณภาพ และเหมาะสมกับงานแล้ว ผู้ประกอบธุรกิจยังต้องรักษาบุคลากรดังกล่าวให้ปฎิบัติงานอยู่กับองค์กรตลอดไปอย่างมีความสุข ในการจัดหาทรัพยากร ด้านกำลังคน ผู้ประกอบธุรกิจควรพิจารณาดังนี้
    3.1 การวางแผนกำลังคน ด้านจำนวน คุณภาพและหน้าที่ความรับผิดชอบ
    3.2 การสรรหากำลังคน
    3.3 การคัดเลือกและการบรรจุ
    3.4 การฝึกอบรม
    3.5 การประเมินผลการปฎิบัติงาน
  4. การบริหารการตลาด เป็นกระบวนการที่ทำให้สินค้าหรือบริการถึงมือผู้บริโภค เพื่อตอบสนองความต้องการและสร้างความพึงพอใจสูงสุดแก่ผู้บริโภค ซึ่งการบริหารการตลาด ผู้ประกอบธุรกิจต้องอาศัยส่วนผสมทางการตลาด (Marketing mix) หรือเรียกว่า 4P's เป็นเครื่องมือที่ทำให้ผู้บริโภคเกิดความพึงพอใจ ได้แก่
    4.1 ผลิตภัณฑ์ (Pruduct) คือ สิ่งที่ธุรกิจเสนอขายเพื่อสนองความต้องการของผู้บริโภคให้พึงพอใจ ผลิตภัณฑ์อาจจะมีตัวตนหรือไม่มีตัวตนก็ได้ ผลิตภัณฑ์จึงประกอบด้วยสินค้า บริการ ความคิด สถานที่ องค์กรหรือบุคคล ซึ่งต้องมีอรรถประโยชน์ (Utility) มีมูลค่า (Value) ในสายตาของผู้บริโภคจึงจะขายได้
    4.2 ราคา (Price) คือ มูลค่าผลิตภัณฑ์ในรูปตัวเงิน ผู้ประกอบธุรกิจต้องกำหนดราคาให้เหมาะสม เป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค จึงจะสามารถจำหน่ายผลิตภัณฑ์ดังกล่าวให้แก่ผู้บริโภคได้ ซึ่งการกำหนดราคาขึ้นอยู่กับตัวผลิตภัณฑ์ กลุ่มตลาดเป้าหมาย การแข่งขัน บทบัญญัติตามกฎหมาย เป็นต้น
    4.3 การจัดจำหน่าย (Place) คือ กิจกรรมการเคลื่อนย้ายผลิตภัณฑ์จากธุรกิจไปยังตลาดเป้าหมาย ผู้ประกอบธุรกิจต้องเลือกช่องทางการจัดจำหน่าย ให้เหมาะสมกับประเภทของผลิดภัณฑ์ และจะต้องจัดจำหน่ายให้ทันกับความต้องการของผู้บริโภค จึงจะทำให้ผลิตภัณฑ์จำหน่ายได้
    4.4 การส่งเสริมการตลาด (Promoting) คือ การติดต่อสื่อสารเกี่ยวกับข้อมูลระหว่างผู้ขายกับผู้ซื้อ เพื่อสร้างทัศนคติและพฤติกรรมการซื้อ โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะชักจูงให้เกิดการซื้อ ผู้ประกอบธุรกิจจำเป็นต้องเลือกการส่งเสริมการตลาดให้เหมาะสมกับผลิตภัณฑ์และกลุ่มตลาดเป้าหมาย ซึ่งเครื่องมือในการส่งเสริมการตลาดมีหลายประเภท อาทิเช่น การโฆษณา การให้ส่วนลด การให้ของแถม เป็นต้น

 

ระบบธุรกิจเอกชน (The Private Enterprise System)

ระบบธุรกิจเอกชนเป็นระบบเศรษฐกิจที่ธุรกิจสามารถใช้ศักยภาพการ ดำเนินงานของตนเองในการแสวงหาและตอบสนองความต้องการของลูกค้าเพื่อให้ ได้รับผลตอบแทนจากการดำเนินงาน โดยการดำเนินธุรกิจเอกชนมีสิทธิที่จะได้รับสิ่ง ต่อไปนี้

  1. สิทธิในการครอบครองทรัพย์สิน (The Right to Private Property) ธุรกิจ เอกชนมีสิทธิในการเป็นเจ้าของทรัพย์สินเพื่อใช้ในการดำเนินธุรกิจ ทั้งทรัพย์สินที่มี ตัวตน เช่น อาคาร ที่ดิน เครื่องจักร เป็นต้น และ ทรัพย์สินที่ไม่มีตัวตน เช่น สิทธิบัตร ลิขสิทธ์ิ เป็นต้น
  2. สิทธิในการแสวงหากำไร (The Right to Profit) ธุรกิจสามารถแสวงหาผล กำไรเป็นสิ่งตอบแทนจากการดำเนินงาน
  3. สิทธิในการแข่งขัน (The Right to Competition) การดำเนินงานของ ระบบธุรกิจเอกชน ผู้ประกอบการมีอิสระในการดำเนินธุรกิจและสามารถแข่งขันกับ ธุรกิจรายอื่นอย่างอิสระ ธุรกิจจึงต้องมีการพัฒนาและปรับปรุงสินค้า หรือ บริการ เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า และ สร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน โดย รูปแบบการแข่งขันสามารถแบ่งออกได้เป็น 4 ลักษณะดังนี้
    1.) การแข่งขันอย่างสมบูรณ์ (Pure Competition) มีลักษณะสำคัญคือ ลักษณะของสินค้าจะคล้ายคลึงกัน ไม่มีความแตกต่างกันระหว่างคู่แข่งขัน ผู้ดำเนิน ธุรกิจสามารถเข้าสู่ตลาด หรือออกจากตลาดได้อย่างง่ายดาย ทำให้มีจำนวนธุรกิจ หลายรายเป็นทางเลือกของผู้บริโภค ดังนั้นจึงไม่มีธุรกิจรายใดรายหนึ่งที่จะมีอำนาจ หรือ มีอิทธิพลต่อการกำหนดราคาของสินค้า ดังนั้นราคาของสินค้าถูกกำหนดโดย กฎของอุปสงค์และอุปทานของตลาด
    2.) การแข่งขันแบบกึ่งแข่งขันกึ่งผูกขาด (Monopolistic Competition) เป็น สภาพการแข่งขันที่จำนวนธุรกิจจะมีน้อยกว่าในการแข่งขันอย่างสมบูรณ์ แต่ ผู้บริโภคยังคงมีจำนวนมาก ดังนั้นธุรกิจจึงจำเป็นที่จะต้องทำให้สินค้ามีความแตกต่าง จากคู่แข่งทางธุรกิจรายอื่น ๆ คู่แข่งขันทางธุรกิจอาจมีทั้งขนาดใหญ่หรือขนาดเล็ก เนื่องจากผู้ดำเนินธุรกิจสามารถเข้า หรือ ออกจากตลาดนี้ได้ง่าย
    3.) การแข่งขันแบบน้อยราย (Oligopoly) เป็นสภาพการแข่งขันที่ธุรกิจมี จำนวนน้อยราย เนื่องจากเป็นธุรกิจที่ต้องเป็นกิจการขนาดใหญ่ ดังนั้นการเข้าสู่การ แข่งขันลักษณะนี้ของธุรกิจรายใหม่ ๆ จึงค่อนข้างถูกจำกัดเนื่องจากต้องใช้เงิน ลงทุนจำนวนมาก เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมโทรคมนาคม อุตสาหกรรมพลังงานและเชื้อเพลิง เป็นต้น นอกจากนี้ราคาสินค้าจะใกล้เคียงกัน การเปลี่ยนแปลงราคาของธุรกิจรายใดรายหนึ่งจะมีผลกระทบต่อราคาสินค้าใน อุตสาหกรรมที่จะส่งผลต่อกำไรของกิจการ เช่น การลดราคา ของธุรกิจรายได้รายหนึ่งส่งผลให้คู่แข่งรายอื่นจำเป็นต้องลดราคาลงตาม เป็นต้น
    4.) การแข่งขันแบบผูกขาด (Monopoly) การแข่งขันแบบนี้จะมีธุรกิจเพียงแค่ รายเดียว ดังนั้นธุรกิจจึงมีอำนาจเต็มที่ในการกำหนดราคาของสินค้า ในประเทศ ไทยการแข่งขันแบบนี้ส่วนใหญ่จะเป็นรัฐวิสาหกิจ หรือ เป็นกิจการประเภท สาธารณูปโภค เช่น ไฟฟ้ า น้ำประปา ระบบขนส่งมวลชน ฯลฯ
  4. สิทธิในการมีอิสระในการตัดสินใจดำเนินงาน (The Right to Freedom of Choice) ผู้ประกอบการธุรกิจมีสิทธิที่จะตัดสินในเรื่องต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการ ดำเนินธุรกิจภายใต้ความถูกต้องของหลักกฎหมายและความเหมาะสม อาทิเช่น การ ตัดสินใจลงทุน การจัดหาแหล่งเงินทุน การจัดจำหน่ายสินค้า เป็นต้น

ผู้บริหารและธุรกิจ

ผู้บริหาร เป็น บุคคลผู้ซึ่งเป็นผู้จัดสรรและติดตามการใช้ทรัพยากรต่าง ๆ ของธุรกิจอาทิเช่น ข้อมูลข่าวสาร วัตถุดิบ เงิน และ บุคลากร เป็นต้น นอกจากนี้แล้ว ผู้บริหารยังเป็นผู้ตั้งทีมบริหารงานในองค์การมาเพื่อกำหนดเป้ าหมาย ผู้บริหารมีชื่อ เรียกตำแหน่งงานแตกต่างกันออกไปหลายลักษณะ อาทิเช่น ผู้จัดการแผนก ผู้จัดการ ผลิตภัณฑ์ ผู้จัดการโรงงาน ผู้จัดการแผนก เป็นต้น โดยผู้บริหารไม่ว่าจะเป็นตำแหน่ง ใดก็มีหน้าที่ความรับผิดชอบโดยทั่วไปคือเป็น ผู้ที่พยายามทำให้กลุ่มบุคคลในธุรกิจ มาร่วมกันทำงานเพื่อให้บรรลุเป้ าหมายโดยใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ ในองค์การธุรกิจ สามารถแบ่งผู้บริหารออกได้เป็นหลายระดับโดยตำแหน่งทางการบริหารจะแตกต่าง ไปตามกิจกรรมที่ผู้บริหารในแต่ละระดับขั้นการบังคับบัญชาดำเนินการ เราสามารถ จัดแบ่งผู้บริหารในธุรกิจได้ดังนี้

  1. ผู้บริหารระดับต้น หรือ ผู้บริหารระดับปฏิบัติการ (First Line or Operation Managers) เป็นผู้ที่มีความรับผิดชอบโดยตรงต่อการผลิตสินค้า หรือ บริการ เช่น ผู้จัดการฝ่ายขาย หัวหน้าส่วน ซุปเปอร์ไวเซอร์ฝ่ายผลิต เป็นต้น
  2. ผู้บริหารระดับกลาง (Middle Managers) เป็นผู้ที่รับผิดชอบในการ กำหนดวัตถุประสงค์ หรือ เป้าหมายในการดำงานให้มีความสอดคล้องกับเป้าหมาย ของผู้บริหารระดับสูง และ เป็นผู้ถ่ายทอดเป้ าหมายของผู้บริหารระดับสูงมาเป็น เป้ าหมายและแผนที่มีความเฉพาะเจาะจงสำหรับให้ผู้บริหารระดับต้นเพื่อนำไป ปฏิบัติต่อไป เช่น หัวหน้าแผนก ผู้จัดการโรงงาน ผู้อำนวยการฝ่ายการเงิน เป็นต้น
  3. ผู้บริหารระดับสูง (Top Managers) ผู้บริหารระดับสูงเป็นผู้บริหารที่ รับผิดชอบต่อการดำเนินงานในภาพรวมและทิศทางการดำเนินงานขององค์การ โดย ผู้บริหารระดับสูงจะเป็นผู้รับผิดชอบองค์การในเรื่องการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลง ตามสภาพแวดล้อมในการดำเนินธุรกิจ และ การพัฒนาทัศนคติของบุคลากรให้มี ความมุ่งมั่นในการทำงานและมีส่วนหนึ่งที่ทำให้องค์การบรรลุผล เช่น หัวหน้า เจ้าหน้าที่บริหารระดับสูง ประธานบริษัท รองประธานบริหาร เป็นต้น

แหล่งอ้างอิง

- อรทัย วานิชดี. ธุรกิจทั่วไป. กรุงเทพฯ : ประสานมิตร, 2545.
- สุดาทิพย์ ตันตินิกุลชัย และศักดา หงส์ทอง. ธุรกิจทั่วไป. กรุงเทพฯ : บริษัท สำนักพิมพ์เอมพันธ์ จำกัด, 2547.

http://lpn.nfe.go.th/e_learning/LESSON1/unit1_6.htm