10 ข้อพึงระวังสำหรับแผนธุรกิจ

ปัจจุบันแผนธุรกิจถือเป็นเอกสารสำคัญสำหรับผู้ประกอบการ ในการขอรับการสนับสนุนทางการเงินจากทางธนาคาร หรือสถาบันการเงิน รวมทั้งจากหน่วยงานต่างๆทั้งภาครัฐและเอกชน แต่มักพบอยู่เสมอว่าแผนธุรกิจที่นำเสนอนั้น มีข้อบกพร่อง หรือข้อผิดพลาด ที่ส่งผลให้ แผนธุรกิจเหล่านี้ถูกปฏิเสธ หรือต้องกลับไปแก้ไข ซึ่งบางครั้งข้อบกพร่อง หรือข้อผิดพลาดเหล่านี้เป็นเพียงรายละเอียดเพียงเล็กน้อย แต่กลับทำให้ผู้ประกอบการต้องเสียโอกาส หรือเสียเวลาในการจัดทำแผนธุรกิจใหม่ อันเป็นการเสียโอกาสในทางธุรกิจไปอย่างน่าเสียดาย ดังนั้น ผู้เขียนจึงได้รวบรวมข้อพึงระวังเกี่ยวกับการจัดทำแผนธุรกิจไว้พอสังเขป เพื่อเป็นแนวทางในการตรวจสอบว่าแผนธุรกิจที่จัดทำขึ้น และนำเสนอนั้น มีความสมบูรณ์พียงพอ ที่จะนำเสนอต่อธนาคาร หรือสถาบันการเงิน รวมทั้งจากหน่วยงานต่างๆทั้งภาครัฐและเอกชน หรือไม่ โดยมีข้อพึงระวัง 10 ข้อ ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากแผนธุรกิจที่ได้นำเสนอ หรือจากตัวผู้ประกอบการที่นำเสนอแผนธุรกิจนั้น โดยพอจะสรุปรายละเอียดของข้อพึงระวังไว้ดังนี้คือ

1. อ่านแล้วไม่เข้าใจ หรือผู้เขียนเข้าใจอยู่คนเดียว ถือเป็นประเด็นที่พบกันอยู่ทั่วไปซึ่งมักจะเกิดขึ้นกับ แผนธุรกิจที่ผู้ประกอบการ เป็นผู้เขียนแผนธุรกิจเอง โดยสามารถแยกออกเป็น 2 กรณีคือ กรณีแรกมักพบจากแผนธุรกิจ ที่เป็นธุรกิจเฉพาะด้าน หรือธุรกิจทางด้านวิทยาศาสตร์ หรือเทคโนโลยี ตัวอย่างเช่น ดาน Software ด้าน IT ด้าน Nano-technology หรือด้านเคมี เป็นต้น ซึ่งผู้เขียนที่เป็นผู้ประกอบธุรกิจ ส่วนใหญ่จะมีการใช้ศัพท์ทางเทคนิค ศัพท์ในวงการ หรือตัวย่อต่างๆมากมาย ซึ่งจะเป็นที่รู้กันเฉพาะ คนในวงการ หรือผู้อยู่ในธุรกิจเท่านั้น โดยเชื่อว่าจะเป็นการแสดงความน่าเชื่อถือว่าผู้ประกอบการมีความรู้จริงเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์และเทคโนโลยี ทำให้เมื่อเจ้าหน้าที่จากธนาคาร หรือสถาบันการเงิน ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะเป็นนักการเงิน หรือเรียนมาทางสายบริหารธุรกิจ เมื่ออ่านเนื้อหา ในแผนธุรกิจแล้ว มักจะไม่สามารถเข้าใจในตัวผลิตภัณฑ์เหล่านี้ได้ว่าคืออะไร หรือมีประโยชน์อย่างไร ซึ่งจากข้อจำกัดดังกล่าว ก่อให้เกิด ความยุ่งยากในการสื่อสาร และสร้างความเข้าใจในตัวธุรกิจและรูปแบบดำเนินการ และมักเกิดประเด็นข้อสงสัยต่างๆ จนทำให้เกิด การปฏิเสธต่อผู้ประกอบการไปในที่สุด ดังนั้น พึงระลึกว่า แผนธุรกิจที่เป็นธุรกิจเฉพาะด้าน หรือธุรกิจทางด้านวิทยาศาสตร์ หรือเทคโนโลยี หรืออาจรวมถึงธุรกิจอื่นใดก็ตาม ควรเขียนรายละเอียดต่างๆให้สามารถทำความเข้าใจได้ง่ายที่สุด แม้จะเป็นคนนอกวงการก็ตาม หรือถ้ามีความจำเป็นต้องใช้ศัพท์ทางเทคนิค หรือศัพท์ในวงการ หรือตัวย่อต่างๆ ควรมีการอธิบายเกี่ยวกับความหมายของศัพท์ หรือตัวย่อเหล่านั้น ประกอบไว้ด้วยให้ชัดเจน กรณีที่สองจะเป็นประเด็นที่คล้ายคลึงกับกรณีแรก แต่เกิดจากการที่ผู้เขียนแผนธุรกิจ เขียนแผนขึ้นโดย ใช้ความเข้าใจ หรือจากการทำธุรกิจที่เป็นอยู่ของตนเองเป็นหลัก โดยคาดว่าผู้อ่านจะเข้าใจในสิ่งที่ตนเองเขียนขึ้น แต่พบว่าบ่อยครั้งสิ่งที่เขียนในแผนธุรกิจนั้น ไม่สามารถสร้างความเข้าใจให้กับผู้อ่านแผนได้ เพราะสิ่งที่สำคัญสำหรับแผนธุรกิจก็คือ ผู้อ่านแผนต้องมีความเข้าใจในตัวธุรกิจอย่างถูกต้อง ภายหลังหลังที่ได้อ่านแผนธุรกิจแล้ว หรือรวมถึงความชัดเจนของสิ่งที่จะทำ หรือดำเนินการ ว่าจะเป็นธุรกิจอะไรกันแน่ เช่น จะเป็นผู้ผลิตเอง จะเป็นการว่าจ้างผลิต จะเป็นการซื้อสินค้ามาขาย จะเป็นการให้บริการ หรือมีการผสมสาน ระหว่างการเป็นผู้ผลิตเองในขณะที่รับจ้างผลิตสินค้าให้ผู้อื่นด้วย เป็นต้น เพราะแต่ละธุรกิจ จะมีลักษณะและรูปแบบ ในการดำเนินการที่ไม่เหมือนกัน ดังนั้น ความชัดเจนของการดำเนินการ และลักษณะของการทำธุรกิจเป็นสิ่งสำคัญ ที่จะต้องสื่อสารให้ ผู้อ่านแผนเข้าใจได้อย่างถูกต้อง

2. ขอเป็นความลับ ปัญหาส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน มักพบจากแผนธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของทรัพย์สินทางปัญญา หรือธุรกิจ ที่เกี่ยวข้อง ด้านนวัตกรรม เนื่องจากผู้ประกอบการมักแจ้งว่า ทรัพย์สินทางปัญญา หรือนวัตกรรมที่ใช้ในการประดิษฐ์ หรือผลิตสินค้าที่ตนเอง เป็นผู้คิดค้นขึ้นนั้น จะถูกลอกเลียนถ้ามีการเปิดเผยข้อมูลออกไป ไม่ว่าจะเป็นจากคู่แข่งอื่นในตลาด หรือบริษัทยักษ์ใหญ่ หรือจากผู้รู้รายละเอียด ซึ่งเป็นคนของธนาคาร หรือสถาบันการเงิน รวมถึงจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยผู้ประกอบการเหล่านี้ มักจะไม่ยอมจดทะเบียน ทรัพย์สิน ทางปัญญาใดๆของตนเอง ไม่ว่าจะเป็น ลิขสิทธิ์ สิทธิบัตร ความลับทางการค้า เป็นต้น กับกรมทรัพย์สินทางปัญญา เนื่องจากเกรงว่า ข้อมูลดังกล่าว จะเกิดการรั่วไหลไปสู่บุคคลภายนอก นอกจากนี้แม้แต่ในแผนธุรกิจเอง ก็ไม่ระบุถึงลักษณะและรายละเอียดต่างๆของ ทรัพย์สินทางปัญญาไว้ด้วยเหตุผลเดียวกัน ทำให้เมื่ออ่านแผนธุรกิจแล้วก็จะไม่มีรายละเอียดใดๆ ที่แสดงถึง รายละเอียดเกี่ยวกับทรัพย์สิน ทางปัญญาเหล่านี้ว่า มีลักษณะอย่างไร เพราะโดยข้อเท็จจริงแล้วรายละเอียดของทรัพย์สินทางทางปัญญานี้ถือเป็นหัวใจสำคัญ ในการพิจารณาเกี่ยวกับ ตัวผลิตภัณฑ์และ ศักยภาพของธุรกิจ และเมื่อสอบถามถึงรายละเอียดจากผู้ประกอบการ ก็มักจะไม่บอกถึง รายละเอียดโดยบอกว่า เป็นความลับของธุรกิจ ทำให้ผู้อ่านแผนซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของธนาคาร หรือสถาบันการเงิน ก็ไม่สามารถทำความเข้าใจ หรือประเมินค่าของทรัพย์สินทางปัญญานี้ได้ รวมถึงไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าทรัพย์สินทางปัญญาที่ผู้ประกอบการกล่าวอ้างว่าคิดค้นขึ้นเอง หรือไม่มีอยู่ในตลาดนี้ เป็นความจริง หรือไม่ รวมถึงจะเป็นการละเมิดของทรัพย์สินทางปัญญาของผู้อื่น ที่ได้จดทะเบียนก่อนหน้า หรือไม่ ซึ่งท้ายที่สุดก็จะถูกปฏิเสธการให้การสนับสนุนไป และผู้ประกอบการเหล่านี้ก็มักจะตำหนิว่าธนาคาร หรือสถาบันการเงิน รวมถึงหน่วยงาน ของภาครัฐ หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในเรื่องของการไม่ให้การสนับสนุน แก่ผู้ประกอบการไทยที่มีนวัตกรรม หรือมีทรัพย์สินทางปัญญา โดยไม่พิจารณาถึง สาเหตุที่เกิดขึ้น อันเนื่องมาจากการไม่ยอมเปิดเผยข้อมูลใดๆ เกี่ยวกับ ทรัพย์สินทางปัญญา ของตนให้หน่วยงานเหล่านี้ รับทราบนั่นเอง

3. ให้ทำนะทำได้ แต่อย่าให้เขียนแผนธุรกิจ ถือเป็นข้ออ้าง หรือถือเป็นข้อจำกัดส่วนใหญ่ของผู้ประกอบการในการจัดทำแผนธุรกิจ คือ บอกว่าตนเองไม่มีความสามารถในการเขียนแผนธุรกิจ แต่ตนเองมีความสามารถที่จะทำธุรกิจให้เติบโตและประสบความสำเร็จได้ ซึ่งอาจมาจากไม่มีความสามารถในการเขียนแผนธุรกิจจริงๆ หรืออาจจะไม่อยากเสียเงินในการว่าจ้างบุคคลภายนอกเขียนให้ โดยถ้าเป็น ในสมัยก่อนที่แผนธุรกิจยังไม่ถือเป็นเอกสารภาคบังคับ ในการขอรับการสนับสนุนทางการเงินจากทางธนาคาร หรือสถาบันการเงิน ก็คงไม่เป็นไรนัก แต่ในปัจจุบันแผนธุรกิจถือเป็นเอกสารสำคัญ ที่ผู้ประกอบการต้องจัดทำขึ้นเพื่อใช้ประกอบการพิจารณา เกี่ยวกับ ตัวธุรกิจ และตัวผู้ประกอบการ ดังนั้น ถ้าคิดว่าตนเองไม่มีความสามารถในการเขียนแผนธุรกิจ ก็สมควรว่าจ้างบุคคลภายนอก หรือมืออาชีพ เป็นผู้ช่วยจัดทำ แผนธุรกิจให้ ดีกว่าที่จะเขียนแผนธุรกิจแบบขอไปที หรือไม่มีความสมบูรณ์เพียงพอมายังธนาคาร หรือสถาบันการเงิน เพราะจะถูกปฏิเสธได้โดยง่าย หรืออีกกรณีหนึ่งที่เกิดขึ้นและมักจะได้ยินบ่อยๆก็คือ คำพูดจากผู้ประกอบการในลักษณะ "เชื่อผมเถอะ ผมทำได้" เพราะปัจจุบันการให้เงินกู้จากธนาคาร หรือสถาบันการเงินเกือบทั้งหมด ล้วนแล้วแต่ต้องมีการจัดทำแผนธุรกิจประกอบทั้งสิ้น การยืนยันด้วย คำพูดลอยๆว่าตนเองมีความสามารถที่จะบริหารธุรกิจให้ประสบความสำเร็จนั้น ไม่มีธนาคาร หรือสถาบันการเงินใดที่จะยอมรับ หรืออาจจะพึงระลึกถึงคำพูดนักพนันไว้คือ "ถ้าแทงลม ก็จ่ายลม" หรือจะบอกอีกอย่างหนึ่งก็คือ "ถ้ากู้ด้วยคำพูด ก็จ่ายให้ด้วยคำพูดเช่นเดียวกัน"

4. นักก๊อปปี้ บ่อยครั้งที่พบว่า แผนธุรกิจที่นำเสนอต่อธนาคาร หรือสถาบันการเงิน จะเป็นการคัดลอก หรือการก๊อปปี้จากแผนธุรกิจรายอื่น แล้วนำมาแก้ไขในรายละเอียดบางอย่างเป็นธุรกิจของตัวเอง เช่น รายละเอียดเกี่ยวกับข้อมูลธุรกิจ หรือตัวเลขทางการเงิน เป็นต้น โดยแผนธุรกิจ ที่ใช้ในการคัดลอก หรือก๊อปปี้นี้อาจมาจากตัวอย่าง แผนธุรกิจที่ใช้ในระดับอุดมศึกษา จากที่เผยแพร่ใน Website ของหน่วยงานต่างๆ เช่น ศูนย์ธุรกิจอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือจากสื่อบันทึกต่างๆ เช่น CD Rom ของธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลาง และขนาดย่อม แห่งประเทศไทย ที่จัดทำขึ้นเผยแพร่ต่อผู้ประกอบการ เป็นต้น โดยการคัดลอก หรือการก๊อปปี้แผนนี้ อาจเกิดจากการที่ ผู้ประกอบการไม่มีเวลา ที่จะจัดทำแผนธุรกิจขึ้นเอง หรือไม่ต้องการเสียค่าใช้จ่ายในการว่าจ้างบุคคลภายนอกในการจัดทำ โดยเชื่อว่า แผนธุรกิจ ที่เผยแพร่จากหน่วยงาน หรือสื่อบันทึกเหล่านี้เป็น แผนธุรกิจที่ดี สามารถที่จะใช้เขียน หรือคัดลอกเพื่อนำเสนอต่อธนาคาร หรือสถาบันการเงินได้ โดยไม่ได้ทำความเข้าใจอย่างถูกต้อง เกี่ยวกับเนื้อหาของแผนธุรกิจที่คัดลอกมา เนื่องจากในข้อเท็จจริงแล้ว แต่ละธุรกิจจะมีข้อจำกัด หรือองค์ประกอบในการทำธุรกิจที่แตกต่างกันออกไป ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ รูปแบบธุรกิจ ทำเลที่ตั้ง สินค้าและบริการ เงินลงทุน หรือกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย เป็นต้น ทำให้ในแต่ละธุรกิจ จะมีลักษณะที่ไม่เหมือนกัน หรือมีความแตกต่างกันออกไป แม้ว่าจะอยู่ใน ประเภทของธุรกิจเดียวกันก็ตาม ดังนั้น การก๊อปปี้แผนที่ไม่รู้ถึงที่มาที่ไปของธุรกิจ จะทำให้ข้อมูลในแผนธุรกิจที่จัดทำขึ้นไม่เป็นที่น่าเชื่อถือ และข้อมูลบางอย่างผิดเพี้ยนจากความเป็นจริงในธุรกิจ ตัวอย่างเช่น ในแผนธุรกิจที่ทำการคัดลอกมีการลงทุน 5 ล้านบาท สามารถมียอดขาย 5 แสนบาทต่อเดือน ดังนั้น ธุรกิจของตนถ้ามีการลงทุน 1 ล้านบาท ก็ควรมียอดขายประมาณ 1 แสนบาทต่อเดือน เป็นต้น โดยอาจจะมีการ แก้ไขตัวเลขต่างๆ โดยการหาร 5 เป็นต้น ซึ่งข้อมูลดังกล่าว อาจเป็นความจริง หรือไม่เป็นความจริงเลยทางธุรกิจก็เป็นได้ เพราะข้อจำกัด ที่แตกต่างกันของแต่ละธุรกิจตามที่กล่าวมา โดยจากประสบการณ์ของผู้เขียนแล้ว แผนธุรกิจที่เผยแพร่กันโดยทั่วไป มักอยู่ในระดับปานกลาง หรือบางแผนก็อยู่ต่ำกว่ามาตรฐาน มีเพียงจำนวนน้อยมากที่อยู่ในระดับดี เนื่องจากแผนธุรกิจที่ดี หรือมี มาตรฐานจริงๆ มักจะไม่มีการเปิดเผย สู่สาธารณะ เนื่องจากถือได้ว่า เป็นความลับของธุรกิจ เพราะในแผนธุรกิจจะมีการระบุถึงกลยุทธ์ในการแข่งขัน และการดำเนินการต่างๆในธุรกิจ ซึ่งถือเป็นข้อมูลสำคัญ ส่วนแผนธุรกิจที่เปิดเผยอยู่นั้น อาจเป็นแผนธุรกิจที่เขียนขึ้นโดยนักศึกษาเพื่อประกอบการเรียนการสอน ในระดับปริญญาตรี หรือปริญญาโท หรือเป็นแผนที่เขียนขึ้นในลักษณะของโครงร่างตัวอย่างเท่านั้น โดยมิได้ระบุถึงการวางแผน หรือหัวใจในการดำเนินการที่ถูกต้อง รวมถึงขนาดของแผนธุรกิจที่ยาวบ้างสั้นบ้าง ตามแต่ลักษณะ หรือวัตถุประสงค์ของแผนธุรกิจที่จัดทำขึ้น แต่มิใช่ว่าการคัดลอก หรือการก๊อปปี้แผนจะทำไม่ได้ หรือมิใช่สิ่งดีเสมอไป เพราะอย่างน้อยก็ช่วยลดระยะเวลา และค่าใช้จ่าย สำหรับ ผู้ประกอบการในการจัดทำแผนธุรกิจลงได้ แต่สิ่งที่สำคัญก็คือควรเลือกแผนที่ธุรกิจที่ดูดี หรือพอจะมีมาตรฐาน และใกล้เคียงกับธุรกิจ ของตนเอง อีกทั้งควรจะมีการ C&D คือ Copy and Development ด้วย อย่าเอาแต่ C&C คือ Copy and Copy แผนเพียงอย่างเดียว

5. ทุกอย่างที่ทำ ล้วนเป็นตังค์ทั้งสิ้น ในแผนธุรกิจบางฉบับ จะมีการกำหนดใช้กลยุทธ์ทางการตลาดเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เกี่ยวกับ กิจกรรมทางการส่งเสริมการตลาด ไม่ว่าจะเป็น การโฆษณา ประชาสัมพันธ์ ผ่านสื่อต่างๆ เช่น นิตยสาร วิทยุ โทรทัศน์ หรือการทำ CRM IMC เป็นต้น โดยเชื่อว่า การระบุกลยุทธ์ต่างๆเหล่านี้ จะเป็นการสร้างความน่าเชื่อถือในเรื่องของการตลาด แต่ความเป็นจริง ที่มักลืมนึกถึงไปคือ ทุกกิจกรรม หรือกลยุทธ์ต่างๆที่ระบุไว้นั้น ล้วนแล้วแต่มีค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้ว เป็นค่าใช้จ่ายที่สูงมาก ในการดำเนินการ ทำให้เมื่อตรวจสอบเทียบกับแผนการเงินแล้ว จะพบว่าโดยส่วนใหญ่มักจะไม่มีการกำหนดค่าใช้จ่าย เพื่อรองรับกิจกรรม หรือกลยุทธ์ที่กำหนดขึ้นเหล่านี้ ซึ่งจะเกิดคำถามตามมาอีกว่า ที่ธุรกิจจะประสบความสำเร็จได้ตามรายละเอียดของแผนธุรกิจ จำเป็นต้องใช้กลยุทธ์ต่างๆตามที่ระบุไว้ ในเมื่อไม่มีเงินมารองรับการดำเนินการธุรกิจ ก็ไม่น่าที่จะประสบความสำเร็จ หรือเป็นไปตามแผนธุรกิจ ทำให้ถูกปฏิเสธ หรือต้องกลับมาแก้ไข และส่งผลให้แผนธุรกิจที่จัดทำขึ้นไม่น่าเชื่อถือต่อธนาคาร หรือสถาบันการเงินอีกด้วย ตัวอย่างเช่น เคยปรากฏแผนธุรกิจที่ระบุกลยุทธ์การตลาดประมาณ 10 กลยุทธ์โดยถ้ารวมประมาณการค่าใช้จ่ายถ้าต้องทำกลยุทธ์ต่างๆจริง พบว่าต้องใช้เงิน เฉพาะกับการดำเนินการดังกล่าว นี้มากกว่า 10 ล้านบาท ในขณะที่แผนธุรกิจดังกล่าว ระบุวงเงินการลงทุนประมาณ 3 ล้านบาท โดยมีค่าใช้จ่ายทางการตลาดเพียง 5 แสนบาทเท่านั้น

6. เจ้าโปรเจคท์ ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นจากตัวผู้ประกอบการ ซึ่งโดยส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการใหม่ ที่มักจะมีความคิดเกี่ยวกับ ธุรกิจ ที่หลากหลายมากมาย มีโครงการที่จะผลิตสินค้าและผลิตภัณฑ์หลากหลายชนิด โดยเสนอแผนธุรกิจเข้ามาเพื่อขอดำเนินการธุรกิจ หรือผลิตภัณฑ์อย่างใดอย่างหนึ่ง แต่ก็บอกว่าจะทำธุรกิจตัวอื่นควบคู่กันไปด้วย เนื่องจากมีความเกี่ยวข้องกัน หรือกลัวเสียโอกาสทางธุรกิจ หรืออาจจะแจ้งว่า จะดำเนินการธุรกิจตัวอื่นในอนาคตอันใกล้ เมื่อธนาคาร หรือสถาบันการเงินพิจารณาแผนธุรกิจ ของผู้ประกอบการ เจ้าโปรเจคท์เหล่านี้แล้ว ส่วนใหญ่มักจะปฏิเสธการสนับสนุน เนื่องจากเกรงว่าเงินกู้ที่ให้การสนับสนุน สำหรับธุรกิจ หรือผลิตภัณฑ์อย่างใดอย่าง หนึ่งจะถูกดึงไปใช้ในธุรกิจ หรือผลิตภัณฑ์ตัวอื่น หรือผู้ประกอบการไม่สามารถบริหารธุรกิจให้ไปตลอดรอดฝั่ง หรือไม่มีความสนใจ ในการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ในธุรกิจที่ธนาคาร หรือสถาบันการเงินให้กู้ เนื่องจากผู้ประกอบการต้องการ หรือมีความประสงค์จะไปลงทุน หรือดำเนินธุรกิจตัวอื่นต่อ ซึ่งจากประสบการณ์ของผู้เขียนผู้ประกอบการเหล่านี้ ก็มักจะไม่ประสบความสำเร็จจริง ตามที่ธนาคาร หรือสถาบัน การเงินคิด โดยโปรเจคท์ก็ยังคงเป็นโปรเจคท์ต่อไป และมักบอก หรือบ่นว่า ธนาคาร หรือสถาบันการเงินไม่ให้การสนับสนุนผู้ประกอบการใหม่

7. บอกไม่ครบ มักจะเกิดขึ้นเนื่องจาก ผู้ประกอบการ หรือธุรกิจมีภาระหนี้ หรือค่าใช้จ่ายที่อาจไม่สามารถระบุได้โดยตรง หรืออาจเกิดจาก ความเผลอเรอในการแสดงรายการเกี่ยวกับภาระหนี้ หรือค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นไว้ในประมาณการทางการเงิน เช่น ค่าผ่อนชำระเงินกู้จากธนาคารอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่ภาระหนี้สินกับทางธนาคาร หรือสถาบันการเงินอื่นนั้น ไม่สามารถผ่อนชำระได้โดยปกติ หรือขาดการผ่อนชำระ โดยในแผนธุรกิจที่นำเสนอแสดงประมาณการ เฉพาะโครงการ หรือธุรกิจที่มาติดต่อกับธนาคาร หรือสถาบันการเงินที่ติดต่อขอกู้เท่านั้น ทำให้เมื่อมีการตรวจสอบเกี่ยวกับภาระหนี้สินต่างๆของผู้ประกอบการ หรือธุรกิจแล้วพบว่า มีค่าใช้จ่ายดังกล่าว อยู่ ก็จะกลายเป็น ความไม่ไว้ วางใจ เกี่ยวกับการแสดงข้อมูลของผู้ประกอบการ โดยเฉพาะถ้าเมื่อนำค่าใช้จ่ายดังกล่าว มารวมในการประมาณการ ทางการเงิน ในแผนธุรกิจแล้ว พบว่าโครงการมีผลขาดทุน หรือขาดกระแสเงินสดในการดำเนินการ ทางธนาคาร หรือสถาบันการเงิน ก็มักจะปฏิเสธ การให้เงินกู้ เนื่องจากแสดงว่าธุรกิจไม่สามารถดำเนินการได้ตามที่แจ้ง หรืออาจเกิดจากการเกรงว่าธุรกิจจะนำเงินกู้ที่ได้ในธุรกิจที่เสนอ ไปใช้ชำระหนี้สินของธุรกิจ หรือหนี้สินเดิมของผู้ประกอบการที่มีอยู่ นอกจากนี้ ยังเป็นเรื่องของการแสดง ถึงแผนการลงทุน ในอนาคต ภายในระยะเวลาตามวงเงินกู้ ซึ่งควรจะมีการแจ้งรายละเอียดให้ชัดเจนว่าจะมีการลงทุนเมื่อใด แต่อย่างไรก็ตาม แผนการลงทุนในอนาคต ที่เกิดขึ้น ควรจะห่างจากระยะเวลาของโครงการที่เสนอพอสมควร หรือเป็นระยะเวลาที่ธุรกิจ หรือโครงการที่นำเสนออยู่ในภาวะที่อยู่รอด หรือดำเนินการได้แล้ว เพราะมิฉะนั้น จะกลายเป็นลักษณะของเจ้าโปรเจคท์ไป

8. เงินคือคำตอบ มักเป็นเรื่องของวัตถุประสงค์ในการขอกู้เงินในแผนธุรกิจ หรือความคิดของผู้ประกอบการที่ระบุว่า ถ้าธุรกิจได้รับเงินกู้ จากธนาคาร หรือสถาบันการเงินตามที่เสนอแล้ว ปัญหาที่เกิดขึ้นของธุรกิจจะหมดไป ซึ่งเป็นปัญหาส่วนใหญ่ของธุรกิจที่ยื่นขอกู้เงินจากธนาคาร หรือสถาบันการเงิน โดยมักจะบอกว่า "ขาดเงินทุนหมุนเวียน" ซึ่งอาจมาจาก ขายสินค้าไม่ได้ ไม่มีงบทางการตลาด หรือเหตุผลอะไรก็ตามแต่ แต่สรุปก็คือ ถ้าได้เงินกู้แล้ว จะแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้ ซึ่งในข้อเท็จจริงแล้ว ปัญหาที่เกิดขึ้นของธุรกิจ จะมาจากปัญหาด้านการบริหารจัดการ เป็นส่วนใหญ่ เช่น ด้านบริหารจัดการจะเป็นเรื่องของประสิทธิภาพของบุคลากร ด้านการตลาดก็จะเป็นเรื่องของ ความสามารถทางการขาย สินค้าของธุรกิจ ด้านการผลิตก็จะเป็นเรื่องของ การควบคุมต้นทุนการผลิต หรือการควบคุมเกี่ยวกับการ Stock สินค้า ส่วนด้านการเงิน จะเป็นเรื่องของ การบริหารจัดการทางการเงิน เช่น การลงบัญชี หรือปัญหาในการใช้เงินผิดวัตถุประสงค์ เช่น นำเงินของธุรกิจไปใช้ เป็นส่วนตัวของผู้ประกอบการ เป็นต้น ในกรณีที่ธุรกิจมีปัญหาเหล่านี้อยู่แม้ว่าจะได้เงินกู้ไปก็ตาม แต่ถ้าไม่สามารถระบุปัญหาที่แท้จริงของธุรกิจ และกำหนดแนวทางแก้ไขและดำเนินการที่ถูกต้องไว้ ธุรกิจก็จะเกิดปัญหาอย่างเดียวกันขึ้นในอนาคต ซึ่งเมื่อธนาคาร หรือสถาบันการเงิน พิจารณาแผนธุรกิจแล้ว ก็มักจะปฏิเสธการให้กู้เนื่องจากเงินกู้ที่ให้ไป เป็นเพียงการยืดระยะเวลาการเกิดปัญหาของธุรกิจออกไปเท่านั้น

9. อะไร อะไร ก็ดีไปหมด มักเป็นเรื่องเกี่ยวกับประมาณการ หรือสมมติฐานในแผนธุรกิจที่แสดงถึงความเติบโต หรือประมาณการ ที่จะส่งผลต่อรายได้ของธุรกิจ ตัวอย่างเช่น การเพิ่มขึ้นของจำนวนลูกค้า ประมาณการของการขายสินค้า หรือบริการ อัตราการเติบโต ของภาวะตลาด ซึ่งตัวเลขของประมาณการเหล่านี้จะมีตัวเลขในระดับสูง หรือเป็นสภาวะของธุรกิจเป็นไป ในแง่ดีเกินความเป็นจริง จากสภาพที่เป็นอยู่อัน เนื่องจากมาจากความคิด หรือการคาดคะเนของผู้ประกอบการเอง โดยเชื่อว่าจะทำให้จากประมาณการดังกล่าว จะช่วยให้ธุรกิจของตนดูน่าสนใจ และควรให้การสนับสนุนเนื่องจากแผนการเงินที่ระบุไว้ในแผนธุรกิจดูดีเพราะมีผลกำไรสูง หรือมีอัตราการ เติบโตของธุรกิจในระดับดี โดยลืมนึกไปว่าในข้อเท็จจริงแล้ว ทุกธุรกิจมีเกณฑ์เฉลี่ยของผลตอบแทน การเติบโต หรือมีข้อมูลที่ใช้อ้างอิง เปรียบเทียบได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับธุรกิจใหม่ที่เพิ่งจะเริ่มดำเนินการ การคาดหวังในการเติบโตในแง่ดีเกินจริง ถือเป็นสิ่งที่อันตรายมาก สำหรับการดำเนินธุรกิจ เนื่องจากคู่แข่งขันและสภาวะการแข่งขันที่เป็นอยู่ในตลาด หรืออาจเป็นกรณีที่ธุรกิจ กำลังประสบปัญหาอยู่แล้ว ขอเงินกู้ในการทำธุรกิจ ก็จะยิ่งเป็นสิ่งที่เห็นได้ชัดในความไม่น่าเชื่อถือในแผนธุรกิจ เพราะถ้าทุกสิ่งทุกอย่าง ของธุรกิจดูดี หรือสภาวะตลาด อยู่ในภาวะที่ดีตามที่ระบุไว้ในแผนธุรกิจ ธุรกิจก็ไม่มีความจำเป็นใดๆที่จะต้องมาขอเงินกู้ในการดำเนินการ ยกเว้นเพื่อการขยายกิจการ หรือการลงทุนเพิ่มเติม ดังนั้น สำหรับธุรกิจใหม่ หรือธุรกิจที่กำลังประสบปัญหาในการดำเนินการอยู่ การเขียนแผนธุรกิจโดยวาดฝัน เกี่ยวกับการคาดการณ์ในทางดี โดยเฉพาะที่ดีเกินจริง ก็มักจะได้รับการปฏิเสธจากทางธนาคาร หรือสถาบัน การเงิน ซึ่งโดยข้อเท็จจริง ควรประมาณการโดยใช้ค่าเฉลี่ยของธุรกิจ หรือข้อมูลทั่วไปที่เป็นข้อเท็จจริง ซึ่งอาจใช้ข้อมูลที่รับรองจา หน่วยงานของรัฐ หรือจาก แหล่งอ้างอิง ที่เชื่อถือได้ มากกว่าการคาดการณ์ที่เข้าข้างตนเอง หรือดีจนเกินไปในการใช้กำหนด ในรายละเอียดของ แผนธุรกิจ

10. แผนธุรกิจพูดเองไม่ได้ แม้ว่าจะมีแผนธุรกิจที่ดี หรือสมบูรณืเพียงใดก็ตาม แต่ต้องไม่ลืมว่า การอนุมัติ หรือการพิจารณาแผนธุรกิจ จะต้องมีการสอบถาม หรือสัมภาษณ์ผู้ประกอบการ หรือเจ้าของธุรกิจจากทางธนาคาร หรือสถาบันการเงิน หรือจากหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้อง ในการสนับสนุนเสมอ โดยไม่เคยมีกรณีที่เพียงแค่มีการยื่นแผนธุรกิจ แล้วรอเวลาที่ธนาคาร หรือสถาบันการเงิน โทรศัพท์ไปแจ้งว่า อนุมัติวงเงินให้แล้ว ดังนั้น ผู้ประกอบการ หรือเจ้าของธุรกิจ จะต้องมีความรู้และความเข้าใจ เกี่ยวกับแผนธุรกิจ ที่นำเสนออย่างถูกต้อง และชัดเจน ซึ่งไม่ค่อยจะมีปัญหาในเรื่องดังกล่าว นักถ้าผู้ประกอบการ หรือเจ้าของธุรกิจเป็นผู้จัดทำแผนธุรกิจด้วยตนเอง แต่ในกรณีที่มีการว่า จ้างบุคคลภายนอก หรือมืออาชีพต่างๆเป็นผู้จัดทำ และผู้ประกอบการ หรือเจ้าของธุรกิจไม่ได้อ่านรายละเอียดในแผนธุรกิจที่นำเสนอไป เมื่อถูกซักถามในรายละเอียด เช่น ที่มาของตัวเลข หรือประมาณการต่างๆ จากเจ้าหน้าที่ของธนาคาร หรือสถาบันการเงิน หรือจากหน่วยงานนั้น ๆ ผู้ประกอบการดังกล่าว มักจะไม่สามารถตอบข้อซักถามดังกล่าว ได้อย่างชัดเจน รวมถึงบางครั้งถึงกับให้ข้อมูลที่ขัดแย้ง กับแผนธุรกิจที่ นำเสนอ ก็มี ทำให้ทางธนาคาร หรือสถาบันการเงิน หรือหน่วยงานสนับสนุนเหล่านั้น ไม่เชื่อถือทั้งในข้อมูลของแผนธุรกิจ และข้อมูลจากตัว ผู้ประกอบการเอง ซึ่งอาจทำให้ถูกปฏิเสธ หรือต้องมีการแก้ไขแผนธุรกิจให้ตรงกับข้อมูลของผู้ประกอบการที่ให้ไว้ เป็นการเสียโอกาส และเสียเวลาเป็นอย่างมาก

จากรายละเอียดที่กล่าวมาเกี่ยวกับ 10 ข้อพึงระวังสำหรับแผนธุรกิจ หวังว่าจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการ ในการพิจารณาเกี่ยวกับ การนำเสนอแผนธุรกิจต่อธนาคาร หรือสถาบันการเงิน ว่ามีข้อบกพร่อง หรือข้อผิดพลาดตรงจุดใด เพื่อที่จะได้ไม่เสียโอกาสจากการถูกปฏิเสธ หรือต้องกลับมาแก้ไขแผนธุรกิจอันเป็นการเสียเวลา และเสียค่าใช้จ่ายโดยไม่จำเป็น ซึ่งผู้เขียนหวังว่า จะได้เขียนรายละเอียดเพิ่มเติม เกี่ยวกับข้อพึงระวังอื่นๆสำหรับแผนธุรกิจในโอกาสต่อไป


Source : รัชกฤช คล่องพยาบาล ที่ปรึกษา ส่วนบริการปรึกษาการเงินและการร่วมลงทุน
ฝ่ายประสานและบริการ SMEs สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.)