แผนธุรกิจ กับ SMEs ตอน....การนำเสนอแผนธุรกิจ

การนำเสนอแผนธุรกิจ

การนำเสนอแผนธุรกิจ (Business plan presentation) โดยแท้จริงแล้วถือได้ว่าเป็นขั้นตอนสำคัญขั้นตอนหนึ่ง ไม่น้อยกว่าขั้นตอน หรือกระบวนการจัดทำ หรือการเขียนแผนธุรกิจ และในปัจจุบันที่แผนธุรกิจถือเป็นเรื่องสำคัญสำหรับผู้ประกอบการ ที่ต้องมีความรู้ ความเข้าใจอย่างถูกต้อง เนื่องจากแผนธุรกิจถือได้ว่าเป็นเอกสาร หรือเครื่องมือสำคัญ ในการขอรับการสนับสนุนทางการเงินของผู้ประกอบการ หรือธุรกิจ แต่ส่วนใหญ่แล้วมักจะมุ่งเน้นในเรื่องของวิธีการ หรือความสามารถในการเขียนแผนธุรกิจ ว่าจะเขียนอย่างไร มีโครงสร้างของแผนธุรกิจอย่างไร จะแสดงข้อมูลรายละเอียดใดจึงจะถูกต้องเหมาะสม โดยละเลยในเรื่องของการนำเสนอแผนธุรกิจ ซึ่งถือเป็นขั้นตอนสำคัญภายหลังจากได้จัดทำแผนธุรกิจเป็นที่เรียบร้อย และนำส่งแผนธุรกิจที่ได้จัดทำขึ้น ไปยังธนาคาร หรือสถาบันการเงิน หรือหน่วยงานที่ให้การสนับสนุนผู้ประกอบการแล้ว ทำให้จากการละเลย หรือไม่ให้ความสำคัญในขั้นตอนการนำเสนอแผนธุรกิจดังกล่าวนี้ ส่งผลให้ผู้ประกอบการได้รับการปฏิเสธ หรือผู้พิจารณาแผนไม่สามารถเข้าใจรายละเอียดต่างๆ ที่ระบุไว้ในแผนธุรกิจอย่างถูกต้อง ในขณะที่ ถ้าผู้ประกอบการสามารถนำเสนอแผนธุรกิจได้ดี ก็จะเป็นสิ่งที่ช่วยทำให้ธุรกิจได้รับการสนับสนุนจากผู้พิจารณาแผน หรือจากทาง ธนาคาร หรือสถาบันการเงินด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ในกรณีที่ผู้จัดทำแผนอาจเป็นนักเรียน นักศึกษา ในสถาบันการศึกษา ที่มีหลักสูตรเกี่ยวกับ การจัดทำ แผนธุรกิจในการเรียน หรือใช้เพื่อการประกวดแข่งขัน หรือแม้แต่ผู้ประกอบการ ที่เข้ารับการอบรม ในโครงการพัฒนาผู้ประกอบการ เช่น ศูนย์บ่มเพาะธุรกิจ หรือ โครงการผู้ประกอบการใหม่ เป็นต้น ที่ต้องมีการนำเสนอแผนธุรกิจที่จัดทำขึ้นเมื่อจบหลักสูตร ก็มักจะขาดทักษะ ในการนำเสนอแผนธุรกิจที่ถูกต้อง และมีประสิทธิภาพ ประกอบกับไม่มีการสอน หรือกล่าวถึงเรื่องของการนำเสนอแผนธุรกิจนี้ ว่ามีส่วนสำคัญอย่างไรต่อการพิจารณาแผนธุรกิจของผู้ประกอบการ ดังนั้นผู้เขียนจึงเห็นสมควรจะกล่าวถึงเรื่องของการนำเสนอแผนธุรกิจ (Business plan presentation) ว่ามีรายละเอียด และความสำคัญอย่างไร โดยหวังว่าจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการ และนักศึกษาในการจัดทำแผนธุรกิจต่อไปในอนาคต

การนำเสนอแผนธุรกิจถือเป็น การสื่อสารแบบเผชิญหน้า (Face to face communication) ระหว่างผู้ประกอบการซึ่งอาจเป็นผู้จัดทำ หรือผู้เขียนแผนธุรกิจ กับผู้พิจารณาซึ่งอาจเป็นเจ้าหน้าที่ของธนาคาร หรือสถาบันการเงิน หรือเป็นบุคคลภายนอก เช่น ผู้ทรงคุณวุฒิ กรรมการพิจารณาแผนธุรกิจ ผู้ร่วมลงทุน ลูกค้า หรือคู่ค้าในธุรกิจ เป็นต้น ซึ่งการนำเสนอแผนธุรกิจสามารถแบ่งได้เป็น 2 ลักษณะ คือการนำเสนอแบบเป็นทางการ (Formal presentation) กับการนำเสนอแบบไม่เป็นทางการ (Informal presentation) โดยรูปแบบการนำเสนอแบบเป็นทางการ จะเป็นรูปแบบที่นำเสนอแผนธุรกิจต่อหน้า คณะกรรมการ เจ้าหน้าที่ ผู้ทรงคุณวุฒิ หรือบุคคลภายนอก ภายในสถานที่เฉพาะ เช่น ห้องประชุม ห้องสัมมนา มีวาระการนำเสนอ ที่มีข้อกำหนด และวัตถุประสงค์ที่ชัดเจน โดยอาจมีการกำหนด ระยะเวลาการนำเสนอ หรือกำหนดเวลาในการซักถาม หรือไม่ก็ได้ หรือถ้าจะให้เห็นภาพอย่างง่ายๆ ก็จะมีลักษณะเหมือน การนำเสนอหน้าชั้น ในสมัยเรียนหนังสือนั่นเอง ซึ่งการนำเสนอในรูปแบบเป็นทางการนี้มักจะเกิดขึ้นสำหรับการประกวด หรือการแข่งขันด้านแผนธุรกิจ หรือการนำเสนอแผนธุรกิจของผู้ประกอบการที่เข้าอบรมในหน่วยงานเท่านั้น ในขณะที่รูปแบบการนำเสนอที่ไม่เป็นทางการ จะอยู่ในรูปแบบ การพูดคุย การสัมภาษณ์ การซักถาม หรือตอบข้อสงสัย ระหว่างผู้นำเสนอแผนกับผู้พิจารณาแผน ซึ่งโดยปกติแล้ว การนำเสนอแผนธุรกิจ สำหรับผู้ประกอบการ SMEs จะอยู่ในรูปแบบของการนำเสนอที่ไม่เป็นทางการเกือบทั้งสิ้น เพราะแทบจะไม่มีเหตุการณ์ที่ผู้ประกอบการ หรือผู้จัดทำแผนธุรกิจ ได้มีการนำเสนอที่เป็นทางการ ต่อหน้าคณะกรรมการของธนาคาร หรือสถาบันการเงินที่ให้การสนับสนุนเลย โดยจะเป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของหน่วยงาน เป็นผู้นำเสนอแผนธุรกิจแทนผู้ประกอบการ แต่ในปัจจุบันที่ ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ ส่วนมากมักจะ ใช้ Notebook ประกอบการนำเสนอแผนธุรกิจ ให้กับเจ้าหน้าที่ธนาคาร หรือสถาบันการเงิน เพราะมีข้อมูล รายละเอียดต่างๆ ทั้งหมดของ แผนธุรกิจ รวมถึงสามารถแสดงข้อมูลเพิ่มเติมต่างๆได้ดี โดยเฉพาะด้านภาพ และข้อมูลประกอบอื่นๆของธุรกิจ ซึ่งวิธีการ และรูปแบบการนำ เสนอดังกล่าวนี้ จะคล้ายคลึงกับการนำเสนอแบบเป็นทางการ ดังนั้นถ้าผู้ประกอบการ หรือผู้จัดทำแผนธุรกิจ ทราบถึงวิธีการนำ เสนอแผนธุรกิจ แบบเป็นทางการอย่างถูกต้อง ก็จะเป็นประโยชน์ต่อการนำเสนอแผนธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพได้ในอนาคต แม้จะอยู่ในรูปแบบไม่เป็น ทางการตลาด ซึ่งวัตถุประสงค์ที่ต้องมีการนำเสนอแผนธุรกิจของผู้ประกอบการ หรือผู้จัดทำแผนธุรกิจนั้น ส่วนใหญ่แล้วจะมีวัตถุประสงค์หลัก 5 ประการประกอบด้วย

เพื่อเป็นการอธิบายแนวคิดสำคัญของธุรกิจ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้นำเสนออธิบายถึงที่มาของแนวความคิด ในการเริ่มต้น หรือการ ดำเนินธุรกิจ หรืออาจเป็นประเด็นสำคัญในตัวผลิตภัณฑ์ สินค้า หรือบริการของธุรกิจ อันมาจากแนวความคิดใหม่ (New business idea) ซึ่งอาจมาจากจุดเด่นในการแก้ปัญหาของลูกค้า หรือผู้บริโภคในการใช้ผลิตภัณฑ์ สินค้า หรือบริการที่มีอยู่ในตลาด หรือไม่เคยมีมาก่อน ในตลาดก็ตาม หรือเป็นผลิตภัณฑ์ สินค้า หรือบริการที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาด ซึ่งผู้พิจารณาแผน จะได้ประเมินถึง ความเป็นไปได้ของธุรกิจ (Business feasibility) โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเป็นธุรกิจใหม่ หรือผู้ประกอบการใหม่ ว่าจากแนวความคิด ดังกล่าวนั้น ธุรกิจดังกล่าวมีความเป็นไปได้จริงมากน้อยเพียงใด รวมถึงสามารถแข่งขันได้กับผลิตภัณฑ์ สินค้า หรือบริการของธุรกิจอื่น ที่มีอยู่ในตลาดได้ หรือไม

เพื่อทราบถึงการวางแผน และการดำเนินธุรกิจ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้พิจารณาแผนทราบถึงวิธีการดำเนินการของธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็น ด้านการบริหารจัดการ ด้านการตลาด ด้านการผลิต และด้านการเงิน ว่าเหมาะสมกับธุรกิจ มีเหตุผลมากน้อยเพียงใด ซึ่งรายละเอียดบางอย่าง ผู้นำเสนออาจ มิได้ระบุไว้ในเอกสารแผนธุรกิจ หรือต้องการให้รายละเอียดเพิ่มเติม เนื่องจากถือเป็นกลยุทธ์ หรือเคล็ดลับสำคัญ ที่อาจมิได้ระบุไว้โดยตรงในเอกสารแผนธุรกิจ

เพื่อสอบทานความถูกต้อง และข้อมูลในแผนธุรกิจ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้นำเสนออธิบายถึงข้อมูลต่างๆในแผนธุรกิจ เพื่อเป็นการ สอบทานข้อมูลของผู้พิจารณาแผน ว่าผู้นำเสนอ หรือตัวผู้ประกอบการนั้นมีความรู้ความเข้าในแผนธุรกิจที่จัดทำขึ้น เนื่องจากในปัจจุบัน ที่ผู้ประกอบการมีการว่าจ้างที่ปรึกษา หรือผู้เชี่ยวชาญในการจัดทำแผนธุรกิจให้แก่ตนเอง ซึ่งอาจเขียนรายละเอียดต่างๆของ แผนธุรกิจ จนดีเกินกว่าความเป็นจริง หรือไม่เหมือนกับการวางแผนของผู้ประกอบการ หรือแตกต่างจากการดำเนินงานจริงของธุรกิจ โดยผู้พิจารณา แผนซึ่งมักเป็นเจ้าหน้าที่ของธนาคาร หรือสถาบันการเงิน จะได้ใช้ประเมินความสามารถ ในการวางแผน และการบริหารจัดการของ ผู้ประกอบการ ได้อย่างถูกต้อง

เพื่อให้ข้อมูลเพิ่มเติม หรือตอบข้อสงสัยเกี่ยวกับธุรกิจ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้พิจารณาแผนสอบถามผู้นำเสนอเกี่ยวกับข้อมูลบางส่วน ที่อาจมีข้อสงสัย หรือยังไม่มีความชัดเจนเพียงพอ ภายหลังจากการอ่านรายละเอียดในแผนธุรกิจแล้ว ซึ่งส่วนใหญ่แล้ว จะเป็นเรื่องของ ประมาณการ หรือสมมติฐานต่างๆที่ระบุไว้ เช่น ที่มาของรายได้ ยอดขาย ต้นทุน หรืออัตราการเปลี่ยนแปลงต่างๆ รวมถึงเหตุผล สำคัญต่างๆในการกำหนดกลยุทธ์ หรือวิธีการดำเนินการของธุรกิจในแผนธุรกิจ

เพื่อการตัดสินใจให้การสนับสนุน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้ในการตัดสินใจขั้นสุดท้าย หรือตัดสินใจเลือกในการสนับสนุน การตัดสินต่างๆ ซึ่งมักใช้ในการประกวดแข่งขันด้านแผนธุรกิจ เช่น แผนธุรกิจที่มีคะแนนใกล้เคียงกัน การตัดสินผลแพ้ชนะในการแข่งขัน ก็อาจจะขึ้นอยู่กับ ความสามารถในการนำเสนอแผนของผู้จัดทำ ว่าสามารถสื่อสาร สามารถแสดงรายละเอียดของแนวคิดสำคัญของธุรกิจ หรือสามารถแสดง ให้เห็น จุดเด่น หรือข้อแตกต่างของกระบวนการในการวางแผนของธุรกิจอย่างไร รวมทั้งการตัดสินให้คะแนนของการจัดทำแผนธุรกิจ ถ้าเป็นการนำเสนอที่ใช้ในการศึกษา เป็นต้น

การนำเสนอแผนธุรกิจมีองค์ประกอบสำคัญ 4 ส่วนประกอบด้วย

1. เอกสารแผนธุรกิจ (Business plan document)
2. การนำเสนอด้วยภาพ (Visual presentation)
3. การนำเสนอด้วยคำพูด (Verbal Presentation)
4. การตอบข้อซักถาม (Answering from questions)

เอกสารแผนธุรกิจ ถือเป็นองค์ประกอบแรก และอาจถือได้ว่าเป็นองค์ประกอบสำคัญที่สุดของการนำเสนอ เพราะเอกสารแผนธุรกิจ ถือเป็นจุด เริ่มต้นในการนำเสนอ ไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบการนำเสนอแบบเป็นทางการ หรือไม่เป็นทางการก็ตาม แม้ว่าในเบื้องต้น ผู้ประกอบการ อาจจะให้ รายละเอียดแก่ผู้พิจารณาแผน หรือเจ้าหน้าที่ธนาคาร หรือสถาบันการเงิน จากการพูดคุยชี้แจงเกี่ยวกับธุรกิจ โดยไม่มี เอกสารแผนธุรกิจ ประกอบเลยก็ตาม แต่ก็จะเป็นได้เพียงการนำเสนอความคิด หรือรายละเอียดทั่วไปของธุรกิจเท่านั้น ซึ่งผู้พิจารณาแผน หรือเจ้าหน้าที่ ก็จำเป็นต้องร้องขอให้ผู้ประกอบการ หรือผู้นำเสนอไปดำเนินการจัดทำแผนธุรกิจ ซึ่งเป็นลายลักษณ์อักษรมาส่งอีกครั้งหนึ่ง เพราะการพิจารณา แผนธุรกิจนั้นจะยึดถือตามข้อมูล หรือรายละเอียดต่างๆที่ระบุไว้เอกสารแผนธุรกิจ โดยองค์ประกอบอื่นๆในการนำเสนอนั้นเป็นส่วนเสริม เพื่อให้ผู้พิจารณาแผนมีความเข้าใจในรายละเอียดต่างๆ ที่ระบุไว้ในเอกสารแผนธุรกิจมากขึ้น ดังนั้นสำหรับผู้ประกอบการแล้ว จึงควรดำเนินการ จัดทำแผนธุรกิจให้เป็นที่เรียบร้อย หรืออย่างน้อยก็มีรายละเอียดสำคัญ หรือจำเป็น ให้แล้วเสร็จก่อนที่จะไปทำการนำเสนอ เพื่อมิให้เป็นการเสียเวลาทั้งสองฝ่าย อีกทั้งผู้พิจารณาแผน หรือเจ้าหน้าที่ธนาคาร หรือสถาบันการเงิน ก็จะมีความสะดวก ในการพิจารณา ข้อมูลต่างๆ จากการนำเสนอได้อย่างถูกต้อง และเป็นลำดับ แต่ก็ยังมีผู้ประกอบการบางส่วนที่มักดำเนินการไปนำเสนอแผนธุรกิจ กับทางธนาคาร หรือสถาบันการเงินก่อนที่จะจัดทำแผนธุรกิจ เพื่อดูว่าตนเองมีโอกาสมากน้อยเพียงใดในการได้รับการสนับสนุน ซึ่งถ้ามีโอกาสจึง จะไปดำเนินการจัดทำแผนธุรกิจ เพราะไม่ต้องการเสียค่าใช้จ่าย หรือเสียเวลาในการจัดทำแผนธุรกิจ ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิดเป็นอย่างยิ่ง เพราะไม่มีผู้พิจารณาแผน หรือเจ้าหน้าที่ธนาคาร หรือสถาบันการเงินใด ที่สามารถตัดสินใจได้ว่าธุรกิจนั้นดี หรือไม่ จากเพียงคำพูด หรือจากการนำเสนอเพียงอย่างเดียว เพราะต้องพิจารณาจากรายละเอียดต่างๆ โดยเฉพาะความถูกต้อง ตัวเลข ผลคำนวณ ประมาณการต่างๆ ซึ่งต้องเป็นลายลักษณ์อักษร และใช้เวลาในการตรวจสอบพอสมควร ซึ่งในช่วงเวลาจากการนำเสนอนั้นไม่สามารถลงลึก หรือผู้พิจารณา สามารถจดจำในรายละเอียดในระดับดังกล่าวได้ ถึงแม้ว่าจะมีการใช้ Notebook ประกอบการนำเสนอก็ตาม ดังนั้นผู้ประกอบการ ควรตระหนักถึงความสำคัญของเอกสารแผนธุรกิจที่ควรจัดทำให้เรียบร้อย หรือมีข้อมูลเพียงพอสำหรับผู้พิจารณาแผน หรือเจ้าหน้าที่ของธนาคาร หรือสถาบันการเงิน ในการพิจารณาเกี่ยวกับธุรกิจได้อย่างถูกต้อง จากข้อมูลในเอกสารแผนธุรกิจเป็นสำคัญ

การนำเสนอด้วยภาพ จัดเป็นองค์ประกอบที่สองจากเอกสารแผนธุรกิจ โดยการนำเสนอด้วยภาพนี้หมายถึง สิ่งที่ผู้นำเสนอแผนนำเสนอ รายละเอียดต่างๆของธุรกิจ ให้กับผู้พิจารณาแผนธุรกิจ หรือเจ้าหน้าที่ของธนาคาร หรือสถาบันการเงิน เช่น ผลิตภัณฑ์ สินค้า ของธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นรูปถ่าย สินค้าตัวอย่าง สถานประกอบการ กระบวนการในการผลิตสินค้า หรือบริการ กิจกรรมต่างๆของธุรกิจ เป็นต้น ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วก็จะมีภาพดังกล่าวอยู่แล้วในเอกสารแผนธุรกิจ โดยภาพดังกล่าวนี้จะเป็นสิ่งที่ช่วยอธิบาย หรือสร้างความเข้าใจ ให้ผู้พิจารณา แผน เข้าใจในรายละเอียดต่างๆของธุรกิจได้ดียิ่งขึ้นมากกว่าการอธิบาย หรือแปลความหมายจากตัวอักษร โดยเฉพาะเกี่ยวกับ ตัวสินค้า หรือบริการ นอกจากเรื่องของภาพถ่ายดังกล่าวแล้ว การนำเสนอด้วยภาพยังรวมถึงภาพลักษณ์สิ่งที่ปรากฏ หรือรูปแบบใน การนำเสนอ แผนธุรกิจ ระหว่างผู้นำเสนอแผนกับผู้พิจารณาแผนอีกด้วย เช่น บุคลิกของผู้นำเสนอแผน การแต่งกายที่เหมาะสม ท่าทาง หรือการใช้ภาษากาย (Body language) การนำเสนอด้วยการใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์สำหรับการนำเสนอ เช่น PowerPoint การใช้วีดีโอ การสาธิต การทดสอบ เป็นต้น โดยเฉพาะการนำเสนอแผนธุรกิจในปัจจุบัน ที่ผู้ประกอบการมักใช้ Notebook ประกอบการนำเสนอ โดยการใช้ PowerPoint ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบเป็นทางการ หรือไม่ก็ตาม เพราะถือเป็นวิธีการที่แพร่หลายในปัจจุบัน ทั้งที่เป็นการนำเสนอ ของธุรกิจต่อ ธนาคาร หรือสถาบันการเงิน หรือการนำเสนอในการเรียน หรือการศึกษาอบรมในหน่วยงานต่างๆ โดยสำหรับการจัดทำ PowerPoint ที่ใช้ในการนำเสนอแผนธุรกิจ ควรมีแนวทางในการจัดทำดังนี้คือ

- อย่าคัดลอกข้อมูลทั้งหมดของแผนธุรกิจมาจัดทำ Slide ในการนำเสนอ เพราะจะทำให้ Slide มีจำนวนมาก และใช้เวลานานในการนำเสนอ รวมถึงไม่มีความจำเป็นเพราะผู้พิจารณาแผนสามารถอ่านได้จากเอกสารแผนธุรกิจอยู่แล้ว
- อย่าใช้วิธีการอ่าน Slide ที่จัดทำมา แต่ควรใช้การสรุปเฉพาะประเด็นเนื้อหาสำคัญ หรืออาจกล่าวได้ว่า "ไม่ต้องเขียนทุกอย่างที่พูด และไม่ต้องพูดทุกอย่างที่เขียน"
- ใน Slide 1 แผ่น ในส่วนเนื้อหาควรมีประมาณ 5-7 บรรทัด โดยเป็นการสรุปเฉพาะประเด็น (Topic) หรือเนื้อหาสำคัญ ที่จะนำเสนอ หรือกล่าวถึงเท่านั้น
- ผู้นำเสนอควรใช้เวลานำเสนอประมาณ 10-15 นาที โดยมากที่สุดไม่ควรเกิน 20 นาที เพราะผู้พิจารณาจะมีความสนใจ หรือสามารถติดตาม เนื้อหาของแผนธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพในช่วงเวลาดังกล่าวเท่านั้น โดยใช้เวลาส่วนที่เหลือในการตอบข้อซักถามจะเป็นประโยชน์มากกว่า
- จำนวน Slide หลักในการนำเสนอประมาณ 10-15 Slide แต่อาจจัดทำ Slide สำหรับข้อมูลประกอบ หรือข้อมูลสนับสนุนเตรียมไว้ในกรณีตอบข้อซักถาม ซึ่งอาจใช้ Function-Hide slides ในโปรแกรม PowerPoint เพื่อไม่ให้แสดง Slide ในส่วนดังกล่าวไว้ก่อน หรืออาจเตรียมข้อมูลสนับสนุนไว้ในรูปเอกสารก็ได้
- พื้นหลัง (Background) ของ Slide ถ้าเลือกใช้สีเข้ม เช่น น้ำเงิน ดำ น้ำตาล ให้เลือกใช้ตัวอักษร (Text) สีอ่อน เช่น ขาว เหลือง ครีม เป็นต้น โดยในทางกลับกันถ้าพื้นหลัง Slide สีอ่อนให้ใช้ตัวอักษรสีเข้ม และอย่าใช้สีที่ตัดกัน หรือเป็นคู่สีตรงข้ามหลายๆสีใน Slide เดียวกัน และผู้พิจารณาแผนจะเห็น หรืออ่านรายละเอียดได้โดยยาก
- ขนาดของตัวอักษรต้องเห็นได้ชัดเจนในระยะพอสมควร เพราะอาจต้องมีการนำไปฉายผ่าน Projector เพราะอาจมีผู้พิจารณาแผนหลายคน โดยถ้าใช้ Font ภาษาไทย เช่น Font ตระกูลAngsana, Cordia, Browallia ขนาดอักษรหัวเรื่อง (Heading) ควรมีขนาดตั้งแต่ 40-48 point ขนาดอักษรเนื้อหา (Context) ควรมีขนาดตั้งแต่ 28-36 point แต่สำหรับ Font ภาษาอังกฤษ เช่น Font ตระกูล Arial, Times New Roman ควรใช้ขนาดที่เล็กลงมา เนื่องจากในขนาด Point เดียวกัน Font ภาษาอังกฤษจะมีขนาดใหญ่กว่า Font ภาษาไทย เช่น ขนาดอักษรหัวเรื่องถ้าใช้ Font ควรมีขนาดตั้งแต่ 32-36 point ขนาดอักษรเนื้อหา ควรมีขนาดตั้งแต่ 24-30 point แต่ทั้งนี้ให้พิจารณาตามความเหมาะสม และความสวยงาม 5
- การใช้ภาพถ่าย กราฟ แผนภูมิ ตาราง ที่เกี่ยวข้องอย่างเหมาะสม ประกอบ Slide ในการนำเสนอ จะเป็นการช่วยอธิบายให้ผู้พิจารณาเข้าใจ ในรายละเอียดต่างๆ ของธุรกิจได้ดียิ่งขึ้น แต่ต้องไม่มีรายละเอียดมากจนเกินไปในการแปลความหมาย
- หลีกเลี่ยงการใช้ Clipart ที่ไม่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ โดยเฉพาะที่เป็น Clipart ประเภทการ์ตูนภาพเคลื่อนไหว หรือ Animation เนื่องจากจะดึงความสนใจของผู้พิจารณา แผนออกไป และ Clipart ประเภทนี้เหมาะกับการบรรยายในการเรียนการสอน มากกว่าที่จะใช้ในการนำเสนอแผนธุรกิจ
- ถ้ามีผลิตภัณฑ์ หรือสินค้าตัวอย่าง ควรนำมาใช้ประกอบให้ผู้พิจารณาแผนได้เห็น ประกอบการอธิบายจาก Slide ในการนำเสนอด้วย

การนำเสนอด้วยเสียง จัดเป็นองค์ประกอบที่สามต่อจากการนำเสนอด้วยภาพ แต่จะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นพร้อมกัน คือในขณะที่มีการนำเสนอด้วยภาพผู้นำเสนอก็จะนำเสนอด้วยเสียงไปพร้อมๆกัน หรือกล่าวง่ายๆก็คือ การอธิบาย หรือชี้แจงข้อมูลรายละเอียดต่างๆ ของธุรกิจ จาก Slide ที่ใช้ในการนำเสนอ หรือจากข้อมูลในเอกสารแผนธุรกิจนั่นเอง การนำเสนอโดยการอธิบายในขั้นตอนนี้ ดูจะเป็นปัญหาสำคัญสำหรับผู้ประกอบการในการนำเสนอแผนธุรกิจ โดยเฉพาะการนำเสนอในรูปแบบที่เป็นทางการ เพราะผู้ประกอบการส่วนใหญ่จะไม่มีความคุ้นเคยต่อการพูดหน้าสาธารณชน หรือต่อหน้าคนที่ไม่รู้จัก โดยเฉพาะในการพูดถึงรายละเอียดต่างๆของธุรกิจ จึงมักใช้วิธีการอ่านเนื้อหาทั้งหมดจาก Slide ที่จัดทำขึ้น ซึ่งก็มักจะเป็นการคัดลอกข้อมูลทั้งหมดในแผนธุรกิจ มาจัดทำเป็น Side เพื่อการนำเสนอนั่นเอง โดยเชื่อว่าจะสามารถให้รายละเอียดที่ครบถ้วนสมบูรณ์ และถูกต้อง เพราะเป็นข้อมูลทั้งหมดของของแผนธุรกิจ หรือ "พูดทุกอย่างที่เขียน หรือเขียนทุกอย่างที่พูด" ซึ่งวิธีการดังกล่าวจัดได้ว่าไม่ถูกต้องอย่างยิ่ง เพราะจากการใช้วิธีคัดลอกข้อมูล และอ่าน Slide ดังกล่าวนี้ จะทำให้มี Slide จำนวนมาก และผู้นำเสนอก็ต้องใช้เวลานานมากในการนำเสนอกว่าที่จะนำเสนอได้ครบถ้วน และแท้จริงแล้วข้อมูลทั้งหมดในการนำเสนอนี้ ผู้พิจารณาแผนก็สามารถอ่านได้จากเอกสารแผนธุรกิจที่มีอยู่แล้ว ดังนั้นผู้ประกอบการจึงควรตระหนักว่า การนำเสนอ หรืออธิบายรายละเอียดต่างๆของแผนธุรกิจนั้น คือการนำเสนอเรื่องราวของธุรกิจ (Business story) ซึ่งผู้ที่จะรู้ดีที่สุดย่อมเป็นตัวผู้ประกอบการ หรือผู้จัดทำแผนธุรกิจนั่นเอง การเล่าเรื่องของธุรกิจนั้นควรเป็นการบอกถึงประเด็นสำคัญต่างๆ เช่น แนวความคิดของธุรกิจ จุดเด่นของธุรกิจ ความสามารถทางการแข่งขันกับธุรกิจ การวางแผน และการกำหนดกลยุทธ์ในการดำเนินการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ด้านการตลาด การผลิต หรือการบริการ ด้านการเงิน รวมถึงเคล็ดลับ หรือปัจจัยแห่งความสำเร็จของธุรกิจ ซึ่งถือเป็นประเด็นสำคัญที่ผู้พิจารณาแผน ต้องการทราบจากผู้ประกอบการซึ่งเป็นเจ้าของธุรกิจ หรือผู้จัดทำแผน โดยสรุปเฉพาะประเด็น หรือเนื้อหาสำคัญทั้งที่ระบุไว้ในแผนธุรกิจ หรือไม่ระบุไว้ก็ตาม โดยส่วนที่ผู้พิจารณาแผนยังมีข้อสงสัย หรือต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ผู้นำเสนอจะได้ให้รายละเอียด หรือชี้แจงเพิ่มเติมในภายหลัง ซึ่งหลักสำคัญสำหรับการพูด หรือการนำเสนอแผนธุรกิจ ควรมีแนวทางในการดำเนินการดังนี้คือ
- เตรียมเนื้อหา หรือโครงเรื่องในการนำเสนอก่อนล่วงหน้า โดยอาจจัดทำเป็นบท (Script) สำหรับการนำเสนอ
- มีการซ้อมการนำเสนอก่อนล่วงหน้า ทั้งรายละเอียดในเอกสารแผนธุรกิจ การพูด การแสดง และการเปลี่ยน Slide และการอธิบายข้อมูลสำคัญต่างๆ ที่สนับสนุน
- อย่าใช้วิธีการอ่าน Slide แต่ใช้ Slide ในการเป็นตัวช่วยในการอธิบาย เพื่อให้ผู้พิจารณาแผนสามารถติดตามเรื่องที่พูดอธิบายได้เป็นลำดับ
- อธิบายด้วยน้ำเสียงที่ชัดเจน โดยให้คิดว่าเหมือนเล่าเรื่องกับเกี่ยวกับธุรกิจของตนเอง มิใช่การนำเสนอแผนธุรกิจที่เป็นเรื่องราวที่ซับซ้อนยุ่งยาก
- ควบคุมเวลาในการนำเสนอประมาณ 10-15 นาที และมากที่สุดให้ใช้เวลาไม่เกิน 20 นาที

การตอบข้อซักถาม จัดเป็นองค์ประกอบสำคัญสุดท้ายในการนำเสนอแผนธุรกิจ เพราะจะเป็นสิ่งที่บอกว่าผู้ประกอบการ หรือผู้จัดทำ แผนธุรกิจนั้น มีความเข้าใจในสิ่งที่นำเสนอนั้นมากน้อยเพียงใด รวมถึงคำตอบของผู้นำเสนอที่ผู้พิจารณาแผนนั้น อาจเป็นปัจจัยสำคัญ ที่ผู้พิจารณาแผนใช้ตัดสินใจว่าจะให้การสนับสนุนต่อธุรกิจของผู้ประกอบการ หรือไม่ โดยคำถามดังกล่าวก็มักมาจากข้อมูลในเอกสารของแผนธุรกิจนั่นเอง เนื่องจากในแผนธุรกิจอาจให้รายละเอียดที่ไม่เพียงพอ หรือมีความขัดแย้งกันเอง รวมถึงในการนำเสนอก็มิได้มีการกล่าวถึงในเรื่องดังกล่าว ทำให้ผู้พิจารณาแผนต้องมีการซักถาม หรือขอข้อมูลเพิ่มเติมจากผู้นำเสนอ ซึ่งถ้าผู้นำเสนอแผนได้ศึกษารายละเอียดในเอกสารแผนธุรกิจ และจัดเตรียมข้อมูลสนับสนุนทั้งภาพ หรือการอธิบายไว้แล้วล่วงหน้า ก็จะทำให้สามารถตอบข้อซักถาม หรือให้ข้อมูลต่อผู้พิจารณาแผนได้อย่างชัดเจน และเป็นการสร้างความน่าเชื่อถือในความสามารถของผู้ประกอบการ หรือผู้นำเสนอแผนต่อผู้พิจารณาแผนอีกด้วย ซึ่งคำถามส่วนใหญ่แล้วก็จะมาจากรายละเอียดของแผนงานต่างๆ หรือจากกิจกรรมดำเนินการของธุรกิจนั่นเอง โดยตัวอย่างคำถามของผู้พิจารณาแผนจะประกอบด้วยตัวอย่างดังต่อไปนี้

รูปแบบการจัดตั้งธุรกิจเหมาะสม หรือไม่? ธุรกิจประเภทนี้มีข้อดี และข้อเสียอย่างไร? แน่ใจอย่างไรว่าสินค้า หรือบริการจากธุรกิจเป็นที่ต้องการของตลาด? ข้อกำหนด หรือกฎหมายที่เกี่ยวข้องเป็นอย่างไร? สามารถจัดตั้งได้ในวงเงินลงทุนที่กำหนดได้ หรือไม่?

สภาวะตลาด หรืออุตสาหกรรมของธุรกิจเป็นอย่างไร และมีผลกระทบต่อธุรกิจอย่างไร? รายละเอียดของธุรกิจที่เป็นคู่แข่งขัน? ข้อแตกต่างระหว่างสินค้า หรือบริการของคุณกับคู่แข่ง? อัตราการเติบโตของความต้องการของตลาดเป็นอย่างไร?

รายละเอียดทั้งหมดของลูกค้าในธุรกิจเป็นอย่างไร? เหตุผลที่ลูกค้าตัดสินใจซื้อสินค้า หรือใช้บริการของธุรกิจ? ราคาขายสินค้า หรือบริการที่ตั้งไว้เหมาะกับลูกค้า หรือไม่? สถานที่ขายสินค้า หรือให้บริการของคุณสะดวกสำหรับลูกค้า หรือไม่? เหตุผลที่เลือกวิธีการโฆษณาประชาสัมพันธ์?

ขั้นตอนการผลิต หรือการให้บริการในธุรกิจเป็นอย่างไร? เป้าหมายของการผลิต หรือการให้บริการเป็นอย่างไร? ต้นทุนการผลิต หรือบริการคำนวณอย่างไร? ต้นทุนขายสินค้าเป็นเท่าใด? แน่ใจ หรือไม่ว่ายอดการผลิต หรือบริการเหมาะสมกับเป้าหมายการตลาดที่ตั้งไว้?

โครงสร้างการบริหารที่กำหนดขึ้นเหมาะกับธุรกิจของคุณ หรือไม่? เป้าหมายต่างๆของธุรกิจในอนาคตเป็นเช่นใด? จำนวนพนักงานในธุรกิจเหมาะสม หรือไม่? ค่าใช้จ่ายต่างในการบริหารจัดการเป็นเท่าใด? เป้าหมายในระยะสั้น ระยะกลาง และระยาวของธุรกิจ จะเป็นจริงได้ หรือไม่? ปัจจัยที่คิดว่าจะทำให้ธุรกิจประสบความสำเร็จ หรือแข่งขันได้มาจากไหน?

ประมาณการต่างๆเกี่ยวกับธุรกิจในอนาคตเป็นไปได้จริง หรือไม่? รายละเอียดเกี่ยวกับรายรับ-รายจ่ายของธุรกิจเป็นอย่างไร? ตัวเลขต่างๆที่ปรากฏในบดุล งบกำไรขาดทุน และงบกระแสเงินสดมาจากอะไร? ผลกำไรของธุรกิจ อยู่ในเกณฑ์อัตราผลตอบแทนที่ดี หรือไม่? จะดำเนินการอย่างไร ถ้าธุรกิจไม่ได้กำไรตามเป้าหมาย?

จะเห็นได้ว่าคำถามต่างๆส่วนใหญ่นี้ ถ้าผู้ประกอบการ และผู้นำเสนอได้มีการจัดเตรียมศึกษามาก่อนล่วงหน้า ก็จะสามารถตอบคำถามเหล่านี้ ได้ไม่ยากนัก รวมถึงถ้ามีการศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับธุรกิจ เช่น จุดแข็ง หรือจุดอ่อนของธุรกิจ สิ่งที่ทำให้ธุรกิจล้มเหลว การหาข้อมูลสนับสนุน โดยเฉพาะด้านตัวเลข สถิติ ที่อ้างอิงได้อย่างน่าเชื่อถือ ก็จะเป็นสิ่งสนับสนุนต่อการนำเสนอแผนธุรกิจเป็นอย่างดี โดยคำถามต่างๆเหล่านี้ มักจะไม่ใช่การถามคำถามเพื่อได้รับคำตอบโดยตรง ประเภท ใช่ หรือไม่ใช่ (Yes or No) แต่จะเป็นคำถามในแง่ของ ถ้า...แล้วจะเกิดอะไรขึ้นกับธุรกิจ (What if…Business will..) และมักจะเป็นในทางไม่ดี หรือมีผลร้ายต่อธุรกิจเป็นส่วนใหญ่ เพราะถ้าผู้ประกอบการ หรือผู้นำเสนอสามารถตอบคำถาม หรือแสดงให้เห็นได้ว่าธุรกิจยังสามารถดำเนินการ หรืออยู่รอดได้ แม้ว่าจะเป็นสถานการณ์เลวร้ายที่สุด (Worst case scenario) ก็จะหมายถึงประสิทธิภาพในการวางแผนของธุรกิจนั่นเอง

จากที่ได้เคยกล่าวมาแล้วว่าการนำเสนอแผนธุรกิจในข้อเท็จจริงแล้ว ก็คือการเล่า หรือการนำเสนอเรื่องราวของธุรกิจ (Tell a story of business) ซึ่งการนำเสนอจะดีเพียงใด ก็ขึ้นอยู่กับว่าผู้นำเสนอแผนมีศิลปะ หรือความสามารถในการถ่ายทอดเรื่องราว ให้ผู้พิจารณา แผนมีความเข้าใจในกระบวนการของการวางแผนธุรกิจมาน้อยเพียงใด ซึ่งบางครั้งเป็นปัญหาสำคัญอย่างหนึ่ง สำหรับผู้นำเสนอ ที่ยังไม่มีประสบการณ์ว่า จะมีลำดับการนำเสนอแผนธุรกิจของตนเองอย่างไร จึงจะเหมาะสม การเรียงลำดับจากสิ่งที่เขียน หรือตามหัวข้อ ของแผนธุรกิจจะเป็นการเหมาะสม หรือไม่ รวมถึงประเด็นต่างๆที่ผู้พิจารณาแผนต้องการทราบคืออะไร ดังนั้นผู้เขียนจึง ขอกล่าวถึง ลำดับเนื้อหาต่างๆ ที่ผู้นำเสนอควรใช้ในการนำเสนอแผนธุรกิจ เป็นขั้นตอนตามลำดับที่เหมาะสม และมีข้อมูลครบถ้วน สำหรับการใช้ใน การนำเสนอแผนธุรกิจ และจำนวนการจัดทำ Slide และใช้เวลาที่เหมาะสม โดยประกอบด้วย 10 หัวข้อ ดังต่อไปนี้

1. ข้อมูลพื้นฐาน หรือรายละเอียดทั่วไปของธุรกิจ – (จำนวน 1 Slide)
โดยเป็นการกล่าวถึงถึงชื่อโครงการ / บริษัท / ห้างหุ้นส่วน / กิจการ กล่าวถึงที่ตั้งของธุรกิจ กล่าวถึงชื่อผู้นำเสนอว่าเป็นใคร มีตำแหน่งใดในกิจการ
2. แนวความคิดในการดำเนินธุรกิจ – (จำนวน 1 Slide)
โดยเป็นการกล่าวถึงเหตุผลในการเลือกดำเนินธุรกิจ เหตุผลในการเลือกผลิตภัณฑ์ สินค้า หรือบริการ ซึ่งเป็นสิ่งที่ธุรกิจในการแก้ปัญหาของลูกค้า หรือการสอดคล้องกับสภาวะความต้องการของตลาด
3. ผลิตภัณฑ์ สินค้า หรือบริการของธุรกิจ – (จำนวน 1-2 Slide)
โดยเป็นการกล่าวถึงรายละเอียดของผลิตภัณฑ์ สินค้า หรือบริการ เช่น แบบ ขนาด การใช้ประโยชน์ สี คอร์ส เป็นต้น ราคาขายของผลิตภัณฑ์ หรือสินค้า ราคาค่าบริการ สถานที่จำหน่าย หรือสถานที่ให้บริการผลิตภัณฑ์ สินค้า หรือบริการ รูปแบบการโฆษณา ประชาสัมพันธ์ ผลิตภัณฑ์ สินค้า หรือบริการ ในส่วนนี้ถ้ามีสินค้าตัวอย่างควรมีการอธิบาย หรือแสดงวิธีการใช้งานให้ผู้พิจารณาแผนได้สัมผัส หรือได้ทราบโดยละเอียด
4. สภาวะตลาด – (จำนวน 1 Slide)
โดยเป็นการกล่าวถึงสภาพทั่วไปของตลาด หรืออุตสาหกรรมว่าเป็นเช่นใด สภาวะการแข่งขันในธุรกิจรุนแรง หรือไม่ กล่าวถึงข้อมูลของคู่แข่งขัน เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ สินค้า หรือบริการ โดยถ้ามีตัวอย่างภาพถ่ายผลิตภัณฑ์ สินค้า หรือบริการ ควรนำเสนอประกอบ แต่อาจไม่จำเป็นต้องนำมาให้ผู้พิจารณาแผน ถ้าไม่มั่นใจว่ามีข้อแตกต่างระหว่างผลิตภัณฑ์ สินค้า หรือบริการ ของธุรกิจ เมื่อเปรียบเทียบกับของคู่แข่งขัน
5. ความสามารถทางการแข่งขัน – (จำนวน 1 Slide)
โดยเป็นการกล่าวถึงวิธีการที่ธุรกิจเลือกในการแข่งขันกับผลิตภัณฑ์ สินค้า หรือบริการ ของคู่แข่ง หรือธุรกิจอื่นในตลาด โดยการเปรียบเทียบตาม 4Ps คือ ด้านผลิตภัณฑ์ ด้านราคา ด้านช่องทางจัดจำหน่าย หรือด้านการส่งเสริมการตลาด เช่น คุณสมบัติ หรือรูปแบบผลิตภัณฑ์ สินค้า หรือบริการ ราคาขาย หรือราคาค่าบริการที่ถูกกว่า การใช้ช่องทางจัดจำหน่ายที่ครอบคลุม และมีประสิทธิภาพมากกว่า การใช้วิธีการส่งเสริมการตลาดที่เหมาะสมกับลูกค้ามากกว่า โดยควรเน้นในส่วนที่เป็นจุดเด่นสำคัญที่ผลิตภัณฑ์ สินค้า หรือบริการ เหนือกว่าผลิตภัณฑ์ สินค้า หรือบริการอื่น หรือเป็นเหตุผลหลักที่ลูกค้าใช้ตัดสินใจในการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ สินค้า หรือบริการ ของธุรกิจ
6. ลูกค้าเป้าหมาย – (จำนวน 1 Slide)
โดยเป็นการกล่าวถึงลักษณะของลูกค้าเป้าหมายของธุรกิจที่กำหนด โดยควรระบุรายละเอียดให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เช่น เพศ อายุ รายได้ จำนวน รายได้ การศึกษา พฤติกรรม เหตุผลในการตัดสินใจซื้อผลิตภัณฑ์ สินค้า หรือบริการ เป็นต้น
7. กลยุทธ์ทางการตลาด – (จำนวน 1-2 Slide)
โดยเป็นการกล่าวถึงวิธีการ และเหตุผลในการกำหนดในการสร้างรูปแบบ ผลิตภัณฑ์ สินค้า หรือบริการ ว่าเพราะเหตุใดจึงสามารถแก้ปัญหา และสามารถสร้างความพึงพอใจของลูกคาให้เกิดขึ้นได้ วิธีการ และเหตุผลในการตั้งราคาขาย ผลิตภัณฑ์ สินค้า หรือบริการ ที่เป็นต้นทุนของลูกค้าว่าเพราะเหตุใจลูกค้าจึงยอมจ่ายเงินเพื่อซื้อผลิตภัณฑ์ สินค้า หรือบริการของธุรกิจในราคาขายที่ตั้ง วิธีการ และเหตุผลในการเลือกช่องทางจัดจำหน่าย ผลิตภัณฑ์ สินค้า หรือบริการ ที่เป็นการสร้างความสะดวกต่อลูกค้า และวิธีการ และเหตุผลในการเลือกวิธีการส่งเสริมการตลาด ผลิตภัณฑ์ สินค้า หรือบริการ ที่เหมาะสมกับการเข้าถึงลูกค้าเป้าหมายที่กำหนดไว้
8. แผนการผลิต หรือการบริการ (จำนวน 1-2 Slide)
โดยเป็นการกล่าวถึงรายละเอียดสถานที่ตั้งโรงงาน หรือสถานที่ให้บริการ เช่น รูปแบบ ขนาด พื้นที่ จำนวนเครื่องจักร อุปกรณ์ ในการผลิตถ้าเป็นธุรกิจการผลิต หรือเป็นการจัดผังบรรยากาศ การตกแต่ง การจัด Lay-out ถ้าเป็นธุรกิจบริการ กล่าวถึงประมาณการเกี่ยวกับยอดการผลิตผลิตภัณฑ์ สินค้า หรือเป้าหมายการให้บริการว่ามีความสัมพันธ์กับเป้าหมาย หรือกลยุทธ์ทางการตลาดที่กำหนดไว้อย่างไร รวมถึงรายละเอียดขั้นตอนเกี่ยวกับกระบวนการในการผลิตผลิตภัณฑ์ สินค้า หรือเป้าหมายการให้บริการ โดยสังเขป
9. การบริหารจัดการ (จำนวน 1-2 Slide)
โดยเป็นการกล่าวถึงรายละเอียดโครงสร้างการบริหารจัดการ หรือการแสดงให้เห็นถึง Organization Chart ที่แสดงสายงานบังคับบัญชา จำนวนพนักงานในธุรกิจ นโยบาย หรือแผนการในอนาคตของธุรกิจ วิสัยทัศน์ พันธกิจ เป้าหมายระยะสั้น ระยะกลาง ระยะยาว และปัจจัยแห่งความสำเร็จ ซึ่งมาจากการวางแผน และการดำเนินการที่ได้กล่าวถึงมาก่อนหน้านี้ทั้งหมด
10. สรุปผลทางการเงิน (จำนวน 1-2 Slide)
โดยเป็นการกล่าวถึงประมาณการเกี่ยวตัวเลขยอดขาย หรือต้นทุน สรุปผลกำไรของธุรกิจ ผลจากการวิเคราะห์ทางการเงิน เช่น ระยะเวลาคืนทุน จุดคุ้มทุน NPV IRR เป็นต้น ซึ่งมีความสัมพันธ์ หรือมีที่มาจากการวางแผน และการดำเนินการของธุรกิจ ซึ่งในการกล่าวถึงตัวเลขต่างๆนี้ ไม่จำเป็นต้องกล่าวถึง หรือแสดงตัวเลขโดยละเอียด เป็นเพียงการกล่าวถึงตัวเลขแบบง่ายๆ เช่น หลักล้าน หลักแสน หลักหมื่นก็เพียงพอ เพื่อให้ผู้พิจารณาแผนเข้าใจได้โดยง่าย และอาจจะไม่ต้องกล่าวลึกไปถึงรายละเอียดในระดับจุดทศนิยมถ้าเป็นเรื่องของ ร้อยละ หรือเปอร์เซนต์

ซึ่งเนื้อหาทั้งหมดจะใช้เวลาประมาณ 1-2 นาทีต่อหัวข้อ แล้วแต่จะมีเนื้อหา หรือรายละเอียดในหัวข้อนั้นมากน้อยเพียงใด รวมถึงระดับ ความเร็ว ของการพูด หรือการอธิบายของผู้นำเสนอ ซึ่งโดยเฉลี่ยแล้วถ้าเรียงลำดับตามหัวข้อดังกล่าว และมีการซักซ้อมการนำเสนอ และตรียมพร้อมมาเป็นอย่างดี จะใช้เวลาประมาณ 10-15 นาทีเท่านั้น โดยเนื้อหาการนำเสนอก็จะมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงต่อเนื่องกันโดยตลอด และง่ายต่อการทำความเข้าใจของผู้พิจารณาแผน ซึ่งแท้จริงแล้วลำดับหัวข้อดังกล่าวทั้งหมดก็คือรายละเอียดทั้งหมด ที่ควรมีอยู่ใน บทสรุปผู้บริหาร (Executive summary) ของแผนธุรกิจนั่นเอง และการนำเสนอนั้นไม่จำเป็น ต้องกล่าวรายละเอียด ทุกอย่างที่ระบุไว้ในแผนธุรกิจ โดยกล่าวเฉพาะประเด็นสำคัญ ที่ผู้พิจารณาใช้ประเมินประสิทธิภาพ ของการวางแผนของธุรกิจเท่านั้น

สุดท้ายนี้หวังว่ารายละเอียดทั้งหมดของการนำเสนอแผนธุรกิจนี้ จะเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการ ผู้จัดทำแผนธุรกิจ นักเรียน นักศึกษา ในการนำเสนอแผนธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งในเรื่องของรูปแบบการนำเสนอ การใช้เวลา รวมถึงเข้าใจ และตระหนักถึงความสำคัญของการนำเสนอแผนธุรกิจว่ามีความสำคัญไม่น้อยกว่าการเขียน หรือการจัดทำแผนธุรกิจ และเป็นปัจจัยหนึ่งต่อโอกาสในความสำเร็จในการขอรับการสนับสนุนของธุรกิจอีกด้วย


Source : รัชกฤช คล่องพยาบาล ที่ปรึกษา ส่วนบริการปรึกษาการเงินและการร่วมลงทุน
ฝ่ายประสานและบริการ SMEs สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.)